กรมวิชาการเกษตร เตือนชาวสวนลิ้นจี่ให้ระวัง 2 โรค

23 มิ.ย. 2559 | 09:20 น.
ในช่วงนี้มีฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง กลางวันร้อน กลางคืนหนาว กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรชาวสวนลิ้นจี่หมั่นสังเกตอาการของโรคใบจุดสนิม (จุดสาหร่าย) และโรคราน้ำค้างเทียม (ผลไหม้สีน้ำตาล) สามารถพบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของลิ้นจี่ สำหรับโรคใบจุดสนิม(จุดสาหร่าย) จะพบแสดงอาการเริ่มแรกมีจุดขุยสีเทาอมเขียวฟูนูนขึ้นมาจากผิวใบเล็กน้อยและกระจายบริเวณใต้ใบ เนื้อเยื่อบริเวณตรงกันบนใบพบจุดสีซีดเหลือง กรณีมีความชื้นสูงลิ้นจี่จะแสดงอาการของโรครุนแรง มักพบจุดใต้ใบขยายใหญ่เปลี่ยนจากสีเหลืองแกมส้มเป็นสีน้ำตาลสนิม บริเวณจุดเนื้อเยื่อใบด้านบนและล่างเป็นแผลซีดแห้งสีน้ำตาลดำ หากพบการระบาดรุนแรงมาก ใบจะแห้ง บิดเบี้ยว ผิดรูป และหลุดร่วง ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

ในส่วนของโรคราน้ำค้างเทียม (ผลไหม้สีน้ำตาล) มักพบอาการเริ่มแรกมีแผลสีน้ำตาลเข้มบนใบ ก้านผล และผิวผล แผลมีรูปร่างและขนาดไม่แน่นอน เนื้อเยื่อใบทั่วใบยอดเป็นแผลไหม้สีน้ำตาล กรณีที่มีฝนตกชุกติดต่อกัน เชื้อราจะสร้างส่วนขยายพันธุ์สีขาวฟูขึ้นคลุมบนแผลทั้งที่ใบและที่ผล ทำให้ผลเน่าลุกลามทั่วทั้งช่อผล หากเริ่มพบการระบาดของโรคในระยะติดผลและผลเริ่มแก่ เกษตรกรควรพ่นด้วยสารเมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเมทาแลกซิล-เอ็ม+แมนโคเซบ 68% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดเมโทมอร์ฟ 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 10-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 5-7 วัน และให้หยุดพ่นก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตลิ้นจี่อย่างน้อย 15 วัน

นอกจากนี้ หากในแปลงปลูกลิ้นจี่เริ่มพบอาการของทั้ง 2 โรค ให้เกษตรกรตัดแต่งกิ่ง ใบ และทรงพุ่มต้นลิ้นจี่ในแปลงปลูกให้โปร่งอยู่เสมอ เพื่อลดปริมาณการสะสมเชื้อสาเหตุของโรคไม่ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยเพาะขยายพันธุ์ข้ามฤดูกาล ลดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการแพร่ขยายพันธุ์ของเชื้อสาเหตุโรค ลดความชื้นใต้ทรงพุ่มไม่ให้มีมากเกินไป มีอากาศถ่ายเทสะดวก แดดส่องถึง และหมั่นสำรวจทำความสะอาดกำจัดวัชพืชโคนต้น เก็บกวาดเศษซากพืชส่วนกิ่ง ใบ ผลที่เป็นโรคใต้ต้นออกจากแปลงไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ