กรมขนส่งทางบกเดินหน้าแผนแม่บท ขสมก. รถร่วมแนะซื้อกิจการเอกชน

24 มิ.ย. 2559 | 09:00 น.
กรมการขนส่งทางบก สนองแผนฟื้นฟูคนร.เดินหน้าโครงการศึกษาแผนแม่บทพัฒนาระบบรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยกเครื่องโครงสร้างการบริหารจัดการระบบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง เสนอครม.ปลดลอ็ กมติครม.ปี 26 ยกอำนาจให้ขบ.กำกับดูแลและออกใบอนุญาตแทนขสมก.

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นภายใต้โครงการศึกษาแผนแม่บทพัฒนาระบบรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการระบบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทางให้มีคุณภาพสามารถตอบสนองความต้องการและรูปแบบการเดินทางในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้ว่าจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) วงเงิน 10 ล้านบาทดำเนินการศึกษาตามโครงการดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการวางแผนและศึกษาข้อมูลในการดำเนินงานสำหรับจัดทำแผนแม่บทเพื่อการปฏิรูประบบบริหารจัดการเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทาง โดยจะครบระยะเวลาประมาณ 10 เดือน(ตุลาคม 2559)

ดังนั้น เพื่อให้การจัดทำแผนแม่บทดังกล่าวสามารถตอบสนองความต้องการของทุกภาคส่วนได้อย่างแท้จริง จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการและภาคประชาชน โดยจะรวบรวมความคิดเห็นเพื่อนำข้อมูลไปปรับประยุกต์ในการปฏิรูประบบบริหารจัดการเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของทุกฝ่ายมากที่สุด ประเด็นหนึ่งนั้นปัจจุบันรถประจำทางมีการวิ่งทับซ้อนเส้นทางกว่า 50% บางเส้นทางรถเมล์วิ่งระยะยาวถึง 60 กิโลเมตรและใช้เวลาเดินรถ 3-4 ชั่วโมง จึงต้องปฏิรูปเส้นทางใหม่ให้มีประสิทธิภาพ

"คาดว่าแผนแม่บทจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ ก่อนที่จะเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาต่อไป แต่เบื้องต้นนั้นขบ.จะเสนอจะเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ปี 2526 ที่กำหนดให้ขสมก.เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตเดินรถเส้นทางกรุงเทพฯ-ปริมณฑลแต่เพียงผู้เดียว และให้เพื่อขบ.มีอำนาจและกำกับบริหารดูแล คาดว่าจะเสนอได้เดือนกรกฎาคมนี้ โดยหลังจากครม.อนุมัติแล้วรถร่วม ขสมก.จะต้องมาขอใบอนุญาตที่ขบ. ซึ่งหากครม.อนุมัติได้เร็วขบ.ก็จะเริ่มทดลองออกใบอนุญาตประกอบกิจการจากขบ.ในเส้นทางนำร่องที่หมดสัญญาแล้วได้ควบคู่กันไปกับเรื่องที่เสนอแผนแม่บทให้กระทรวงคมนาคมและครม.เห็นชอบ"

ด้านนางภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบรถโดยสารประจำทาง รถร่วมบริการขสมก. กล่าวว่า เห็นด้วยกับการจัดโครงการดังกล่าว เพราะจะเป็นการยกระดับมาตรฐานการดูแลรถร่วมบริการ ขสมก.ให้ดียิ่งขึ้น และเห็นว่า การใช้ระบบสัญญาจ้างกับภาคเอกชนจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะจะทำให้ภาคเอกชนรู้ถึงต้นทุนและกำไรได้อย่างชัดเจน แต่หากไม่ใช้ระบบสัญญาจ้างทางกลุ่มผู้ประกอบการอาจแบกรับต้นทุนไม่ไหว ดังนั้นจึงเสนอให้ภาครัฐบาลเข้าซื้อกิจการของภาคเอกชน เพื่อลดการขาดทุนด้านประกอบการให้ลดลง

"เชื่อว่าการให้รถโดยสารเข้าไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของขบ.จะเป็นทางเลือกที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายมากที่สุด เพราะรถร่วมบริการขสมก.ที่เข้าร่วมในโครงการทุกรายจะมีใบอนุญาตประกอบกิจการเป็นของตัวเองอย่างชัดเจน และได้รับการควบคุมในระเบียบข้อบังคับเดียวกัน ซึ่งหากดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้ก็จะทำให้รถร่วมบริการ ขสมก.ที่มีประมาณ 1 หมื่นคันและครอบคลุมการให้บริการเส้นทางกว่า 70% จะสามารถยกระดับการให้บริการได้สูงขึ้นได้"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,168 วันที่ 23 - 25 มิถุนายน พ.ศ. 2559