‘คูปองวิทย์เพื่อ OTOP’ สุดฮิต กระทรวงวิทย์โชว์ 6 เดือนแห่สมัครกว่า 1,000 ราย

24 มิ.ย. 2559 | 12:00 น.
กระทรวงวิทย์ ประกาศความสำเร็จโครงการ"คูปองวิทย์เพื่อ OTOP" ระบุ 6 เดือนมีผู้สนใจเข้าร่วมสมัครโครงการกว่า 1,000 ราย อนุมัติคูปองไปแล้ว 222 ราย เผยนายกรัฐมนตรีกำชับให้สนับสนุนต่อยอดในปีหน้า

[caption id="attachment_65061" align="aligncenter" width="354"] ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวง
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี[/caption]

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยถึงความสำเร็จในการดำเนินโครงการ "คูปองวิทย์เพื่อ OTOP" ว่า ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมามีผู้สนใจเข้าร่วมสมัครโครงการกว่า 1,000 ราย และได้ทำการอนุมัติไปแล้ว 222 ราย จากเป้าหมาย 200 ราย ในช่วงต้นปี 2559 ตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯดำเนินการยกระดับ OTOP ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) โดยเน้นไปที่ผู้ประกอบการ 3 ประเภท คือ 1.ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการโอท็อปที่เพิ่งเริ่มต้น (OTOP StartUp) 2.ผู้ประกอบการโอท็อปที่ขึ้นทะเบียนแล้วและต้องการยกระดับดาว (Existing) และ 3.ประกอบการโอท็อปที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนและต้องการเพิ่มศักยภาพในการ ส่งออก (Growth)

ทั้งนี้ ณ เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงซึ่งได้ดำเนินงานบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานในสังกัด อาทิ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) เป็นต้น โดยได้ลงพื้นที่ใน 10 จังหวัดผลปรากฏว่า มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ 997 ราย ไม่ผ่านคุณสมบัติ 29 ราย เหลือเป้าหมาย 968 ราย โดย 222 ราย ได้รับคูปองฯ และ 14 ราย ได้รับคำปรึกษาในการแก้ไขปัญหาจนสำเร็จรวม 236 ราย จากเป้าหมาย 200 รายในปี 2559 ส่วนที่เหลือ 732 รายที่สมัครเข้าร่วมโครงการอยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาโครงการดำเนินงานปี 2560

ดร.พิเชฐ เผยว่า กระทรวงได้ใช้งบประมาณเป็นเงิน 39.67 ล้านบาท เป็นงบกระทรวง 27.32 ล้านบาท (คิดเป็น 68.87%) และผู้ประกอบการสมทบ 12.35 ล้านบาท (คิดเป็น 31.13%) แบ่งเป็นผู้ประกอบการกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มมากที่สุดจำนวน 157 ราย (ร้อยละ 71) รองลงมาคือ กลุ่มสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหารจำนวน 28 ราย กลุ่มของใช้ ของตกแต่ง และของที่ระลึกจำนวน 28 ราย กลุ่มผ้าและเครื่องแต่งกายจำนวน 9 ราย โดยการเอา วทน.ไปให้การสนับสนุนในหลากหลายรูปแบบ อาทิ ยกระดับวัตถุดิบ ออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และออกแบบกระบวนการผลิต เป็นต้น ทั้งนี้คาดว่าจะก่อให้เกิดรายได้เฉลี่ย 5 ล้านบาทต่อรายในการประกอบธุรกิจ OTOP และจะทำให้มีมูลค่าการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในระดับฐานรากประมาณ 1,175 ล้านบาทต่อปี"

สำหรับแผนงานในปี 2560 ฯพณฯนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดูแลเรื่องการต่อยอดสนับสนุนผู้ประกอบการหลังจากได้รับงานบริการจากคูปองวิทย์เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ผู้ประกอบการสามารถยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง โดยเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆทางด้านการสนับสนุนเงินทุนต่อยอด การจัดจำหน่ายสินค้า การส่งเสริมการส่งออกสินค้าไปขายยังตลาดต่างประเทศ พร้อมเน้นการทำงานประชารัฐเป็นหลัก

"ช่วงเวลาที่เหลือนี้ กระทรวงมีแผนผลักดันการดำเนินงานตามนโยบายประชารัฐ โดยจะเชิญเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมสนับสนุนการดำเนินงาน ได้แก่ ความร่วมมือในการคัดเลือกผู้ประกอบการ รวมถึงการสนับสนุนทางการเงินเพื่อการต่อยอดขยายธุรกิจ การสนับสนุนด้านการพัฒนามาตรฐาน การสนับสนุนทางการตลาด และ E-Commerce นอกจากนี้ยังจะเดินหน้าสร้างความตระหนักผ่านกิจกรรมการเผยแพร่เทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีในงาน SMART SME Expo งาน Industrial Expo งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และงาน TISTR and Friends ตามลำดับ" ดร.พิเชฐกล่าวในที่สุด

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,168 วันที่ 23 - 25 มิถุนายน พ.ศ. 2559