สปสช.-อปท.พัฒนางานอนามัย ร.ร.ท้องถิ่น

20 มิ.ย. 2559 | 05:46 น.
สืบเนื่องจากโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือ HITAP (ไฮแทป) ประเมินการบริการอนามัยโรงเรียนระดับประถมศึกษาในปี 2557-2558 โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ ซึ่งพบปัญหาการเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพและมาตรฐาน นั้น

นพ.กฤช ลี่ทองอิน ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า โรงเรียนเป็นสถานที่สำคัญที่หนึ่งที่เด็กใช้ชีวิตอยู่ประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวัน จึงเป็นสถานที่ดำเนินการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่เด็กนักเรียนได้ จากการศึกษาที่ผ่านมาของ HITAP พบปัญหาเด็กที่ไม่ได้รับบริการตรวจสุขภาพตามมาตรฐาน อาจเป็นเรื่องการจัดบริการ การตรวจร่างกายและการติดตามด้านสุขภาพที่ยังไม่มีมาตรฐาน

สปสช.ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จึงได้ริเริ่มโครงการนำร่องการให้บริการอนามัยโรงเรียนรูปแบบใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาและปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีคุณภาพและสอดคล้องความต้องการด้านสุขภาพของเด็กประถมศึกษาในปัจจุบัน ซึ่งเป็นบริการอนามัยโรงเรียนระดับประถมศึกษาที่กำลังดำเนินการขับเคลื่อนอยู่ขณะนี้ ในรูปแบบของกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น หรือกองทุนสุขภาพตำบล ที่ อบต./เทศบาล ดำเนินการหลัก

“ความร่วมมือจาก อปท.ในการบริหารจัดการเรื่องอนามัยโรงเรียนในสังกัดของ อปท.เอง จะทำให้การดำเนินงานง่ายขึ้น โดย อปท.มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน มีการจัดทำคู่มือมาตรฐานการทำงานสำหรับครูและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในปัญหาสุขภาพที่สำคัญ จัดอบรมครูประจำชั้นทุกคนให้เป็นครูอนามัยโดยทีมแพทย์จากโรงพยาบาลรามาธิบดีและเครือข่าย ซึ่งจะทำให้การบริการอนามัยโรงเรียนมีมาตรฐานการดำเนินงาน ส่งผลให้เด็กนักเรียนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้อย่างแท้จริง”

นพ.กฤช กล่าวต่อว่า ภายหลังโครงการนำร่องนี้เสร็จสิ้น จะมีการประเมินผลในเชิงบริหารจัดการหลังดำเนินโครงการว่า เกิดปัญหาอะไรบ้างและจะมีแนวทางในการแก้ไขอย่างไร นอกจากนี้มีแผนจะขยายการดำเนินงานไปยังโรงเรียนในสังกัดท้องถิ่นเพิ่มเติมอีกในระยะ 3 ปี ให้ครบทุกแห่ง ซึ่งระหว่างนั้นหากท้องถิ่นสนใจที่จะดูแลเด็กนักเรียนที่อยู่ในสังกัดอื่น เช่น โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ท้องถิ่นอาจเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการและเป็นผู้ประเมินผลการดำเนินงานเองทั้งหมด เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันในระดับท้องถิ่นอันจะนำไปสู่ความสำเร็จและสามารถแก้ไขปัญหาการเข้าถึงบริการและคุณภาพข้อมูลสุขภาพของเด็กประถมศึกษาได้อย่างยั่งยืน