ประชาชนส่วนใหญ่ระบุ คสช. ค่อนข้างประสบความสำเร็จในการปฏิรูปองค์กรตำรวจ

19 มิ.ย. 2559 | 07:34 น.
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การปฏิรูปองค์กรตำรวจในยุค คสช.” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 13 – 14 มิถุนายน 2559 จากประชาชนทั่วประเทศ  กระจายทุกระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการปฏิรูปองค์กรตำรวจในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูล ตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความน่าจะเป็นแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified  Random  Sampling) โดยแบ่งภูมิภาคออกเป็น 5 ภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภาคสุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4

จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อระดับความสำเร็จในการปฏิรูปองค์กรตำรวจในยุค คสช. ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 32.40 ระบุว่า ยุค คสช. ค่อนข้างประสบความสำเร็จในการปฏิรูปองค์กรตำรวจ รองลงมา ร้อยละ 23.60 ระบุว่า ยุค คสช. ไม่ประสบความสำเร็จเลยในการปฏิรูปองค์กรตำรวจ ร้อยละ 20.64 ระบุว่า ยุค คสช. ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการปฏิรูปองค์กรตำรวจ ร้อยละ 15.44 ระบุว่า ยุค คสช. ประสบความสำเร็จสูงในการปฏิรูปองค์กรตำรวจ ร้อยละ 0.48 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ประสบความสำเร็จในบางเรื่องบางเรื่องก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ต้องดูเป็นเรื่อง ๆไป และร้อยละ 7.44 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อระยะเวลาที่ควรปฏิรูปองค์กรตำรวจให้แล้วเสร็จ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.88 ระบุว่า ควรปฏิรูปองค์กรตำรวจให้เสร็จในยุค คสช. รองลงมา ร้อยละ 16.56 ระบุว่า การปฏิรูปองค์กรตำรวจเป็นเรื่องเพ้อฝัน ไม่มีรัฐบาลไหนที่จะทำได้จริง ร้อยละ 14.24 ระบุว่า ควรรอให้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ดำเนินการ ร้อยละ 4.80 ระบุว่า การปฏิรูปองค์กรตำรวจเป็นเรื่องไม่จำเป็นเร่งด่วน จะทำเมื่อไรก็ได้ ร้อยละ 0.32 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการแก้ไข และควรแก้ไขต่อเนื่องกันไปทุกรัฐบาล และร้อยละ 3.20 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อปัญหาขององค์กรตำรวจที่สำคัญ ซึ่งควรได้รับการแก้ไขมากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.20 ระบุว่า ปัญหาพฤติกรรมการประพฤติมิชอบ รองลงมา ร้อยละ 30.56 ระบุว่า ปัญหาประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ร้อยละ 22.88 ระบุว่า ปัญหาประสิทธิภาพของระบบการทำงาน ร้อยละ 13.04 ระบุว่า ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ร้อยละ 10.16 ระบุว่า ปัญหาการถูกฝ่ายการเมืองแทรกแซง ร้อยละ 8.96 ระบุว่า ปัญหาโครงสร้างองค์กรตำรวจ ร้อยละ 4.24 ระบุว่า ปัญหาการรวมศูนย์อำนาจ และปัญหาเงินเดือน ค่าจ้างและสวัสดิการของตำรวจ ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 3.60 ระบุว่า ปัญหาขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ร้อยละ 1.92 ระบุว่า ปัญหาภาระงาน ร้อยละ 0.08 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ปัญหาการถูกฝ่ายทหารแทรกแซง การบังคับใช้กฎหมาย การมีระเบียบวินัย และการเคารพกฎกติกาบ้านเมือง และร้อยละ 8.24 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ขณะที่ร้อยละ 4.80 ระบุว่า องค์กรตำรวจไม่มีปัญหาใด ๆ ที่ต้องปฏิรูป

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.72 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.44 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.16 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.52 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.16 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 55.28 เป็นเพศชาย และร้อยละ 44.72 เป็นเพศหญิง ตัวอย่าง ร้อยละ 8.96 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ร้อยละ 21.12 มีอายุ      26 – 35 ปี ร้อยละ 21.68 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 31.52 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 14.72 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 2.00 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่าง ร้อยละ 94.64 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 2.40 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.80 นับถือศาสนาคริสต์ คริสต์/ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 2.16 ไม่ระบุศาสนา

ตัวอย่างร้อยละ 24.16 สถานภาพโสด ร้อยละ 70.48 สมรสแล้ว ร้อยละ 2.88 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 2.48 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 25.60 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 28.80 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า     ร้อยละ 8.40 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 29.12 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.20 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 2.88 ไม่ระบุการศึกษา

ตัวอย่างร้อยละ 14.16 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.68 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 21.44 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 13.28 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 16.80 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 14.24 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 3.76 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.08 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 2.56 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 14.88 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 19.28 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 30.08 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 13.60 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 7.20 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 8.40 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 6.56 ไม่ระบุรายได้