แนวโน้มเฟดขึ้นดอกเบี้ยช้าลง นักวิเคราะห์เล็งเดือนก.ย.

23 มิ.ย. 2559 | 00:00 น.
เฟดยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย. พร้อมส่งสัญญาณว่าอัตราการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นช้าลงในช่วง 2 ปีข้างหน้า หลังมีความไม่ชัดเจนทั้งปัจจัยเศรษฐกิจภายในและภายนอก

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0.25-0.5% เช่นเดิมในการประชุมวันที่ 14-15 มิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยจากระดับ 0-0.25% ที่คงไว้ตั้งแต่ปลายปี 2551 เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคมปีก่อน แม้ว่าในแถลงการณ์ของเฟดจะไม่ปิดโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคม แต่ปัจจัยเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะตัวเลขจ้างงานที่น่าผิดหวัง ทำให้นักวิเคราะห์มองว่ามีโอกาสน้อยที่การขึ้นดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นในเดือนหน้า

ด้านนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด กล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคมไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ โดยถ้าการจ้างงานมีความแข็งแกร่งในเดือนมิถุนายนและมีการปรับเพิ่มตัวเลขจ้างงานในเดือนพฤษภาคม มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ไมเคิล แก็ปเพน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สหรัฐฯ จากบาร์เคลยส์ มองว่าเฟดจะปรับดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนกันยายน ภายใต้เงื่อนไขว่าการจ้างงานเฉลี่ยระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมอยู่ที่ 150,000-175,000 ตำแหน่ง

นอกจากนี้ นางเยลเลนยังระบุว่า การทำประชามติของอังกฤษเพื่อตัดสินว่าจะออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือไม่ในวันที่ 23 มิถุนายน เป็นหนึ่งในปัจจัยที่เฟดนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการประชุมครั้งนี้ "การออกจากอียูอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการเงินของสหรัฐฯ" นางเยลเลนกล่าว

เจ้าหน้าที่ทางการของเฟดส่งสัญญาณว่ามีความมั่นใจต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะยาวลดน้อยลง โดยการคาดการณ์ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า มีคณะกรรมการนโยบายของเฟด 6 จาก 17 คนที่เวลานี้เชื่อว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวในปี 2559 เพิ่มขึ้นจากเพียง 1 คนในการประชุมเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่ส่วนใหญ่ยังคาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ 2 ครั้งในปีนี้

เฟดยังคาดการณ์ว่าดอกเบี้ยนโยบายจะเพิ่มขึ้นเป็น 0.9% ในปลายปีนี้ ไม่เปลี่ยนแปลงจากการคาดการณ์เมื่อเดือนมีนาคม อย่างไรก็ดี มีการลดคาดการณ์การปรับดอกเบี้ยในปี 2560 และ 2561 เหลือเพียง 3 ครั้งต่อปี ลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 4 ครั้งต่อปี ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.4% ในปลายปี 2561 และ 3% ในระยะยาว ลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 3% และ 3.3% ตามลำดับ

ในแถลงการณ์ เฟดแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ในตลาดแรงงานที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งแม้ว่าอัตราว่างงานจะลดลง แต่การจ้างงานกลับลดลงตามไปด้วย ในขณะเดียวกันเฟดกล่าวว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคมีความแข็งแกร่งขึ้น เช่นเดียวกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ ส่วนผลกระทบจากการส่งออกที่อ่อนแอมีลดน้อยลง แต่การลงทุนของภาคธุรกิจยังคงอ่อนแอ

เฟดคาดการณ์ว่าอัตราว่างงานจะคงที่ในระดับ 4.7% ไปจนถึงสิ้นปีนี้ ก่อนจะลดลงเหลือ 4.6% ในปลายปี 2560 ขณะที่คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถูกปรับลดลงเล็กน้อย เหลือ 2% ในปี 2559 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 2.2% และจาก 2.1% เหลือ 2% ในปี 2560

ในขณะที่นักวิเคราะห์บางรายมองว่า การขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคมมีความเป็นไปได้ ถ้ารายงานตัวเลขการจ้างงานในเดือนมิถุนายนฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง และอังกฤษมีมติอยู่ในอียูต่อไป แต่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ รวมถึงตลาดเงินทุนเชื่อว่าการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนหน้ามีความเป็นไปได้ต่ำ และมีโอกาสสูงกว่าที่จะเกิดขึ้นในเดือนกันยายน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,167 วันที่ 19 - 22 มิถุนายน พ.ศ. 2559