‘พร้อมเพย์’ดีเดย์15ก.ค. จุดเปลี่ยนวิถีชีวิตคนไทย รับ-โอนเงินผ่านเบอร์มือถือ-บัตรประชาชน

22 มิ.ย. 2559 | 10:00 น.
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย (TBA) และธนาคารสมาชิกเปิดตัว "พร้อมเพย์" (PromptPay) หรือรู้จักในชื่อ "Any ID"(เมื่อ 14มิ.ย.59)โดยทุกธนาคารจะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนอย่างเป็นทางการภายในวันที่ 15 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ นับเป็นจุดสตาร์ส "พร้อมเพย์" ที่สะท้อนถึงความคืบหน้าเฟสแรก ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.เมื่อ 22 ธ.ค.58) ซึ่งประกอบด้วย 1. การใช้บัตร/รหัสอะไรก็ได้ในการชำระเงิน(AnyID) 2. กระจายจุดหรือเครื่องรับชำระเงิน(EDC) 3. เชื่อมโยงข้อมูลการใช้จ่ายกับกรมสรรพากร 4. เชื่อมโยงระบบสวัสดิการภาครัฐ และ 5.ให้สิทธิประโยชน์ แรงจูงใจเพื่อการประชาสัมพันธ์

[caption id="attachment_64263" align="aligncenter" width="700"] วิธีลงทะเบียนและตัวอย่างการผูกบัญชี พร้อมเพย์ วิธีลงทะเบียนและตัวอย่างการผูกบัญชี พร้อมเพย์[/caption]

ธปท.หนุนคนไทยโอนเงินสะดวก

นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ภายใต้แผนยุทธ์ศาสตร์อีเพย์เมนต์ของภาครัฐ ทั้งธปท.และสถาบันการเงินได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน 2 โครงการ คือ โครงการ Any-ID และ EDC ภายหลังดำเนินแผนงานมาเป็นเวลา 6 เดือน ตอนนี้ระบบธนาคารมีความพร้อมและกำหนดให้ประชาชนลงทะเบียนบริการโอนเงินและรับเงินแบบใหม่อย่างเป็นทางการ 15 กรกฎาคมเป็นต้นไป

ทั้งนี้ "พร้อมเพย์" เป็นช่องทางการโอนเงินระหว่างบุคคลและภาคธุรกิจผ่านเลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่ผูกกับบัญชีธนาคาร ซึ่งแทนการระบุเลขบัญชีเงินฝากของผู้รับ โดยผู้ที่สนใจสามารถเลือกผูกบัญชีเงินฝากกับธนาคารที่ต้องการใช้เป็นบัญชีในการรับเงิน โดย 1บัญชีธนาคารที่นำมาลงทะเบียนนั้นจะมีหมายเลขหรือไอดี เพื่อการผูกบัญชีได้สูงสุด 4 เบอร์(หมายเลข) ได้แก่ เลขประจำตัวประชาชน 1 เบอร์ และหมายเลขโทรศัพท์มือถืออีกไม่เกิน 3 เบอร์โดยแจ้งความประสงค์ลงทะเบียนผ่านช่องทางธนาคารที่แต่ละแห่งเตรียมไว้ เช่น สาขาธนาคาร อินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง โมบายแบงกิ้ง หรือเอทีเอ็ม เป็นต้น แต่การเปลี่ยนแปลง/ยกเลิกการผูกบัญชีจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่ธนาคารแต่ละแห่งกำหนด

อีกทั้งธปท. สมาคมธนาคารไทยจะเซ็นสัญญาความร่วมมือกับกสทช.เรื่องข้อมูลความปลอดภัยของข้อมูลเบอร์โทรศัพท์โดยจะมีถังระบบกลางที่บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ จำกัด (ITMX) จัดทำขึ้น และบริษัทโวคาลิงก์ จากประเทศอังกฤษ โดยที่เข้ามาช่วยผูกระบบอีเพย์เมนต์ให้ในครั้งนี้ จึงมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง

"พร้อมเพย์จะช่วยลดพฤติกรรมการใช้เงินสดลดต้นทุนแบงก์ลง ส่วนประชาชนก็ได้ประโยชน์จากการโอนเงิน-รับเงินที่สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นในอัตราค่าธรรมเนียมที่ถูกลง ดังนั้น การทำธุรกรรมการเงินในระยะต่อไปจะต้องสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนโครงสร้างเศรษฐกิจดิจิตอลด้วย"

TBA ใจป้ำฟรีค่าธรรมเนียมโอน

ด้านนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) กล่าวว่า โครงการนี้สมาคมฯ และบริษัท ITMX ได้ดำเนินการ 3 เรื่อง คือ 1.การลงทุนด้านการชำระเงินตามมาตรฐานสากล

2.การกำหนดเพดานอัตราค่าธรรมเนียมการใช้บริการ "พร้อมเพย์" ให้เอื้อต่อการใช้ของประชาชน โดยโครงสร้างค่าธรรมเนียมการโอนเงินรูปแบบใหม่นี้จะถูกลง ดังนี้ วงเงินไม่เกิน 5,000 บาทต่อรายการ ฟรีค่าธรรมเนียมทุกรายการ วงเงินมากกว่า 5,000-3หมื่นบาท คิดค่าธรรมเนียมไม่เกิน 2 บาทต่อรายการ วงเงินมากกว่า 3หมื่น-1แสนบาท คิดค่าธรรมเนียมไม่เกิน 5 บาทต่อรายการ และวงเงินมากกว่า 1แสนบาทขึ้นไป คิดค่าธรรมเนียมไม่เกิน 10 บาทต่อรายการ นอกจากโครงสร้างค่าธรรมเนียมที่ถูกลงเพื่อเป็นการจูงใจแล้ว ในระยะต่อไปสมาคมฯ จะพิจารณาการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมการใช้เงินสดในปี 2562 เพื่อผลักดันให้คนลดใช้เงินสดลง รวมถึงจะขยายบริการไปยังการจ่ายบิลค่าบริการต่างๆ ต่อไปในอนาคต

3.การร่วมมือกันระหว่างสมาชิกในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้ามาลงทะเบียนใช้บริการ "พร้อมเพย์" ให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ลูกค้าธนาคารพาณิชย์ในไทย 15 แห่ง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 4 แห่ง มีความพร้อมให้ประชาชนเข้ามาลงทะเบียนใช้บริการผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคารในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้เช่นกัน เพียงประชาชนเตรียมสารหลักฐานสมุดบัญชีธนาคาร บัตรประชาชน และเลขโทรศัพท์มือถือเพื่อผูกบัญชีที่ต้องการ และระบบจะเริ่มบริการโอนเงินได้ภายใน 31 ตุลาคมนี้ ส่วนบริการอื่นๆ ในรูปแบบเดิมก็ยังคงมีต่อไป โดยโครงสร้างค่าธรรมเนียมจะถูกเรียกเก็บในอัตราเดิมไว้ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง

"โครงสร้างค่าธรรมเนียมใหม่สำหรับพร้อมเพย์จะเป็นอัตราค่าธรรมเนียมที่ถูกมาก และตัดข้อขำกัดของการโอนข้ามเขตข้ามธนาคารไปด้วย และลูกค้าก็สามารถกำหนดเพดานวงเงินการโอนและการทำธุรกรรมรายการเพื่อสนับสนุนระบบการชำระเงินของไทยให้เดินหน้า และเพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงเราอาจจะพิจารณาเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเงินสด เพื่ออยากให้ประชาชนร่วมมือเข้ามาใช้บริการพร้อมเพย์"

ประสานเสียงลดคอร์สบริหารเงินสด

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เชื่อว่าทุกธนาคารส่วนใหญ่มีความพร้อมในการเปิดรับลงทะเบียนวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ก่อนเปิดเป็นทางการ ซึ่งบมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเปิดรับลงทะเบียนในทุกช่องทาง โดยเป้าหมายต้องการให้ฐานลูกค้าที่มีอยู่ประมาณ 4 ล้านบัญชี ทยอยมาผูกบัญชีให้มากที่สุด สิ่งสำคัญในช่วงแรกต้องสื่อสารทำความเข้าใจการโอนเงินรูปแบบใหม่นี้ไปยังกลุ่มลูกค้าและประชาชนให้มากที่สุด เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่ประชาชนอาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจ

ส่วนผลกระทบในเรื่องของโครงสร้างค่าธรรมเนียม เบื้องต้นต้องยอมรับว่ามีผลกระทบกับรายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลงแน่นอน เนื่องจากโครงสร้างค่าธรรมเนียมแบบใหม่จะเห็นว่าวงเงินไม่เกิน 5,000 บาทไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม แต่วงเงินดังกล่าวถือว่าเป็นปริมาณธุรกรรมส่วนใหญ่ของธนาคารซึ่งจากเดิมมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ทำให้รายได้ส่วนนี้จะหายไปทันที อย่างไรก็ตาม หากประชาชนหันมาใช้บริการ "พร้อมเพย์" ในสัดส่วนที่มากขึ้น จะเป็นผลดีต่อค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการเงินสดของธนาคารที่จะปรับลดลงเช่นกัน ซึ่งเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจและประเทศไทยด้วย

ขณะที่นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ บมจ.ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า โดยปกติธนาคารมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเงินสดในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้ค่าธรรมเนียมเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 20% หากลูกค้าและประชาชนหันมาใช้บริการโอนเงินพร้อมเพย์มากขึ้น คาดว่าค่าใช้จ่ายที่ใช้ในด้านเงินสดจะทยอยปรับลดลง โดยจะเริ่มเห็นชัดเจนได้ในปี 2560 ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ลดลงจะมาช่วยชดเชยรายได้ที่หายไปจากการลดค่าธรรมเนียมครั้งนี้ได้

ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล ประธานสายพัฒนาระบบงาน ช่องทางขายและผลิตภัณฑ์ บมจ.ธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันโครงสร้างค่าธรรมเนียมระบบการชำระเงินของไทยค่อนข้างบิดเบี้ยว เพราะในโครงสร้างระบบชำระเงินประมาณ 95% ในเครื่องเอทีเอ็มเป็นธุรกรรมเงินสด ซึ่งให้บริการฟรี และที่เหลืออีก 5% เป็นธุรกรรมโอนเงินที่เก็บค่าธรรมเนียมค่อนข้างถูก เปรียบเหมือนการเอารายได้ส่วนน้อยไปรับภาระค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ เพราะธุรกรรมเงินสดมีค่าใช้จ่ายในด้านการขนส่ง แรงงาน และค่าน้ำมันจากการขนส่ง ดังนั้น หากประชาชนมีทางเลือกที่ดีกว่าจากบริการรูปแบบใหม่ควรหันมาใช้เพื่อช่วยลดต้นทุนของระบบเศรษฐกิจ เพราะในอนาคตอาจจะต้องมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากธุรกรรมเงินสดที่มีต้นทุนแพง

คลังบูรณาฐานข้อมูล-ก่อนจัดรัฐสวัสดิการ

อย่างไรก็ตาม โครงการเฟส4 ซึ่งกระทรวงการคลังได้รับมอบให้ดำเนินโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคมในโครงการอีเพย์เมนต์ภาครัฐนั้น นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ (ครม.รับทราบโครงการเมื่อ 14 มิ.ย.59) กำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิ์ลงทะเบียนมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป สัญชาติไทย เป็นผู้ว่างงานหรือมีรายได้ในแต่ละปีปฎิทินไม่เกิน 1 แสนบาท และเป็นรูปแบบสมัครใจ (Voluntary Basis) ซึ่งจะต้องยินยอมเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ การถือครองทรัพย์สิน เจ้าหนี้และจำนวนหนี้คงค้าง เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับใช้ในการจัดทำสวัสดิการของรัฐ

โดยเปิดให้ลงทะเบียนที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) ระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม-15 สิงหาคม 2559 และปีต่อๆ ไป ให้ลงทะเบียนระหว่างวันที่ 1-30 กันยายนของแต่ละปี ซึ่งธนาคารทั้ง 3 แห่ง จะจัดเก็บเอกสารแล้วส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ไปยังกรมสรรพากรเพื่อตรวจสอบความถูกต้องในภายหลัง (Post Audit) และจะเชื่อมโยงข้อมูลไปยังฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อประมวลข้อมูลผู้มีรายได้น้อยนำไปบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคมและนำไปใช้ในการจัดสวัสดิการสังคมภายใต้โครงการอีเพย์เมนต์ต่อไป ขณะที่ภาครัฐจะมีฐานข้อมูลของผู้มีรายได้น้อยสามารถนำไปกำหนดนโยบายเพื่อช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,167 วันที่ 19 - 22 มิถุนายน พ.ศ. 2559