โอดภาษีที่ดินฉุดรายได้วูบ 90%รอดที่เกษตร-บ้านต่างจังหวัดเกิน 50ล้านหายาก

20 มิ.ย. 2559 | 10:00 น.
ภาษีที่ดินใหม่ฉุดจัดเก็บรายได้ท้องถิ่นทั่วประเทศกว่า 7,000 แห่งลดฮวบเทศบาลขอนแก่นเผยบ้านตจว.เกิน 50 ล้านหายาก มท.ระบุ กว่า 90% หลุดกราวรูดอบต.เล็กจุกจากเดิมที่หัวไร่ปลายนา-ปลูกพืชไร่เก็บไม่เว้น ส่วนที่รกร้าง ซิกแซ็กแบ่งแปลงโอนให้ทายาทปลูกพืชติดต่อกัน 3 ปี-ทยอยขาย ขณะที่บ้านเช่าอพาร์ตเมนต์โรงแรมผลักภาระให้ผู้บริโภค ยันก.ม.เปิดช่องใช้มาตรา 28(1) ไฟเขียวอปท.ออกข้อบัญญัติ เรียกเก็บได้ หากเห็นว่าไม่เป็นธรรมแต่ต้องไม่เกินเพดานที่กำหนด
ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) ชุดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นชอบในหลักการร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพ.ศ...เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อใช้แทนภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนั้น

[caption id="attachment_63295" align="aligncenter" width="700"] ข้อดี-เสียภาษีที่ดินใหม่เทียบภาษีกำกับท้องถิ่น ข้อดี-เสียภาษีที่ดินใหม่เทียบภาษีกำกับท้องถิ่น[/caption]

แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ จะต้องผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา และต้องผ่านความเห็นชอบจากการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งสามารถถูกตีกลับเพื่อแก้ไขได้ตลอด หากเห็นว่าไม่เหมาะสม อาทิ ที่ดินเกษตรกรรม และบ้านอยู่อาศัยมูลค่าต่ำกว่า 50 ล้านบาท ที่ได้รับยกเว้นเมื่อเทียบกับภาษีบำรุงท้องที่ จะจัดเก็บทุกแปลงที่เป็นที่เกษตรกรรม เช่นกรณีปลูกพืชไร่ ที่หัวไร่ปลายนา ไร่ละ 5 บาท ขณะที่ ที่รกร้างเสียภาษี 10 บาทต่อไร่ แม้ราคากลางจะต่ำ เนื่องจาก ฐานราคาประเมินกลางจะยึดปี2521-2524 เกือบ40ปีเพราะเกรงว่าประชาชนจะได้รับผลกระทบ แต่ท้องถิ่นก็มีรายได้จากส่วนนี้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับกฎหมายที่ดินฯเชื่อว่ากว่า 90% จะหลุดการจัดเก็บจากภาษีตัวใหม่ เพราะต่างจังหวัดพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรมแต่ละแปลงเกิน50ล้านบาท ยอมรับว่าไม่น่าจะมีเลยรวมทั้ง บ้านอยู่อาศัยเกิน 50ล้านบาทยิ่งหายาก โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล กว่า7,000 แห่งทั่วประเทศจะมีรายได้ที่ลดลงแน่นอน ยิ่งอบต.เล็กๆจะมีผลกระทบมาก อย่างไรก็ดีร่างกฎหมายภาษีที่ดินฯ เปิดช่องให้ใช้มาตรา28(1) หากท้องถิ่นเห็นว่า ไม่เหมาะสมก็สามารถออกข้อบัญญัติเรียกเก็บภาษีกับที่ดินเกษตรกรรมและบ้านราคาไม่เกิน50ล้านบาทได้ แต่อัตราต้องไม่เกินเพดานที่กำหนด

สำหรับที่รกร้างมองว่าทุนใหญ่น่าจะมีทางออกในการเลี่ยงภาษี เช่น ทำประโยชน์ติดต่อกัน 3 ปีโดยการล้อมรั้วปลูกพืชผลทางการเกษตร หากมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ก็ได้รับยกเว้นหรือใช้วิธีให้เกษตรกรเช่าปลูกพืชหรือใช้วิธีปลูกบ้านบนที่ดินและปลูกพืชเกษตร 3ใน4 ของพื้นที่และมูลค่าไม่เกิน50 ล้านบาท ก็ไม่ต้องเสียภาษี หรือพัฒนาโครงการขายแบ่งแปลงกระจายการถือครอง หรือโอนให้ทายาททำประโยชน์ เป็นต้น

ส่วนเชิงพาณิชย์ กรณีเช่า อาทิ หอพัก อพาร์ตเมนต์ คอนโดมิเนียม บ้านเช่า โรงแรม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มักจัดเก็บได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ผู้ประกอบการมักหลบเลี่ยง อัตราอยู่ที่ 12.5% เช่น ผู้เช่า 50 ห้องแจ้ง 30 ห้องค่าเช่าต่อเดือน เดือนละ 4,000 บาท แต่ หลบเลี่ยงภาษีด้วยการกระจายบิลค่าใช้จ่าย เป็นค่าเฟอร์นิเจอร์ 2,000 บาท ค่าเครื่องใช้ไฟฟ้า ค่าบริการแม่บ้าน ยาม 1,000 บาท เหลือค่าเช่าห้อง1,000บาท ดังนั้นภาษีจะคำนวณจาก1,000 บาท ทั้งที่ค่าเช่าจริง 4,000 บาท ส่วนภาษีใหม่ จะคิดเป็นตรม. เช่น กว้าง 10 ม.คูณยาว 20 ม. เท่ากับ 200 ตร.ม. ถ้ามูลค่าไม่เกิน 2 ล้านบาท เรียกเก็บ 0.3% ทำให้หลบเลี่ยงยากทางออกคือจะผลักภาระให้ผู้บริโภค เป็นต้น อย่างไรก็ดีทางกระทรวงจะอบรมทำความเข้าใจกับท้องถิ่นทั้ง 7,000 แห่ง เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะประเมินทรัพย์สินหากกฎหมายมีผลบังคับใช้ แต่ทั้งนี้ต้องรอราคาประเมินกลางที่จะออกมา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ

สอดรับกับนายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศบาลนครขอนแก่น เปิดเผยว่า ภาษีที่ดินใหม่ จะกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของท้องถิ่นแน่นอน ซึ่งอาจจะลดลง ทั้งนี้มองว่าที่ดินเกษตรและบ้านมูลค่าเกิน50ล้านบาทแทบจะไม่มีในต่างจังหวัดและทั่วประเทศ ขณะเดียวกันที่ดินแปลงใหญ่รกร้างในขอนแก่นเอง ยอมรับว่ามีน้อยมาก และขณะนี้ส่วนใหญ่จะพัฒนาหมดแล้ว หากจัดเก็บได้จะเป็นส่วนของพาณิชย์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบรายละเอียด อย่างไรก็ดี ยังมีคำถามเรื่อง การตีความที่ดินรกร้าง หากเจ้าของที่ปลูกต้นไม้ 1ต้นถือว่าอยู่ในข่ายทำประโยชน์แล้วหรือไม่ เพราะ เรื่องดังกล่าวสามารถหลบเลี่ยงได้ ซึ่งภาษีบำรุงท้องที่เฉลี่ยจัดเก็บได้ประมาณ 500-800 ล้านบาทต่อปี

ด้านนายนภดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ระบุว่า ราคากลางประเมินที่ดินใหม่ จะปรับเพิ่มหลาย10เท่าตัว เพราะเชื่อว่าราคาที่ออกมาใหม่จะกำหนดใกล้เคียงกับราคาตลาด ซึ่งประชาชนจะเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบบัญชีราคากลางเก่า ปี 2521-2524 ซึ่งกรมธนารักษ์จะออกบัญชีราคากลางเฉพาะการเรียกเก็บภาษีออกมา ไม่ใช้ราคาประเมินที่ใช้เสียค่าโอนบ้าน เช่น ของเดิม ที่ดินติดถนนรัตนาธิเบศร์ราคา ไม่ถึง 1หมื่นบาท ต่อตร.ว. แต่ เวลาผ่านไป 30-40 ปี ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 1-2 แสนบาทต่อตร.ว. เป็นต้น ทางกระทรวงมหาดไทยจะต้องแจ้งท้องถิ่นทั้ง 7,000 แห่งว่าจะดำเนินการอย่างไร หากราคาสูงไป จะผ่อนผันได้หรือไม่ แต่ มุมกลับกันเชื่อว่าเจ้าของที่ดินแปลงใหญ่จะมีวิธีเลี่ยงไว้หมดแล้ว ซึ่งภาษีเก่า รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และท้องถิ่นทั่วประเทศจัดเก็บได้ 2 หมื่นล้านบาทต่อปี ส่วนภาษีใหม่ตั้งเป้าจัดเก็บ กว่า 6 หมื่นล้านบาทต่อปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,167 วันที่ 19 - 22 มิถุนายน พ.ศ. 2559