ออสเตรเลียชวนไทยเสนอโครงการ Blue Economy Challenge รับทุนพัฒนานวัตกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้า

17 มิ.ย. 2559 | 15:00 น.
ในการประชุมสภารัฐมนตรีสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Rim Association-IORA) ครั้งที่ 15 เมื่อปลายปีที่ผ่านมา นางจูลี่ บิชอป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าของออสเตรเลีย ได้ประกาศโครงการประกวดนวัตกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อความยั่งยืน "Blue Economy Challenge: Reengineering Aquaculture for Sustainability" เพื่อจุดประกายให้ประเทศสมาชิก IORA ซึ่งรวมถึงไทย ได้คิดใหม่เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม IORA เป็นการรวมตัวของประเทศรอบมหาสมุทรอินเดีย 20 ประเทศ ในทวีปออสเตรเลีย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ที่เน้นความร่วมมือด้านประมง ความปลอดภัยและความมั่นคงทางทะเล และเศรษฐกิจภาคทะเล (Blue Economy)

หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า Blue Economy มานานแล้ว ทว่า เราอาจยังไม่เห็นกลุ่มประเทศใด
ร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อพัฒนา Blue Economy ให้เป็นรูปธรรม IORA ได้เล็งเห็นโอกาสดังกล่าว โดยเห็นว่า Blue Economy เป็นภาคเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูงจากการใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรอินเดียที่อุดมไปด้วยทรัพยากรทางทะเล แม้กระทั่งประเทศเป้าหมายที่ภาคเอกชนไทยออกเรือไปจับปลา ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่อยู่ในมหาสมุทรอินเดียและเป็นสมาชิก IORA อาทิ อินเดีย บังกลาเทศ มาดากัสการ์ เยเมน โอมาน โมซัมบิก มอริเชียส โซมาเลีย และอิหร่าน นอกจากนี้ 2 ใน 3 ของเรือขนส่งน้ำมันทั่วโลกก็เดินเรือผ่านมหาสมุทรอินเดีย และเรือขนส่งสินค้า 1 ใน 3 ของเรือขนส่งสินค้าทั่วโลกก็เดินเรือผ่านมหาสมุทรนี้

นอกเหนือจากการทำประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการขนส่งสินค้าทางเรือแล้ว Blue Economy ยังครอบคลุมทุกสาขาการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากทะเล หรือ มหาสมุทร ไปจนถึงการสำรวจแร่ใต้ทะเลและไฮโดรคาร์บอน พลังงานหมุนเวียนจากทะเล (อาทิ พลังงานคลื่น และพลังงานลม) การท่องเที่ยว ฯลฯ ด้วย

ในขณะที่การใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากทะเลทวีความสำคัญมากขึ้น ประเทศสมาชิก IORA ก็ย่อมต้องคำนึงถึงความยั่งยืนด้วย จึงเป็นที่มาของโครงการ "Blue Economy Challenge: Reengineering Aquaculture for Sustainability" ซึ่งริเริ่มโดยออสเตรเลียในฐานะประเทศที่มีบทบาทสำคัญใน IORA ในเรื่อง Blue Economy ด้วยเล็งเห็นว่า ในขณะที่การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกำลังเติบโตและมีความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวัน โดยครึ่งหนึ่งของสินค้าประมงที่เราบริโภคกันอยู่ก็มาจากการเพาะเลี้ยง แต่วิธีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในปัจจุบันไม่ได้นำไปสู่การเพาะเลี้ยงได้อย่างยั่งยืน แต่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ และเกิด การรุกรานของสัตว์น้ำต่างถิ่น นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ยังขาดการเข้าถึงเทคโนโลยีและเงินทุนด้วย

ออสเตรเลียจึงสนับสนุนเงินทุน 2.1 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือประมาณ 54.7 ล้านบาท สำหรับโครงการนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ นักนวัตกรรม นักออกแบบ และนักวิจัยจากประเทศสมาชิก IORA สามารถส่งข้อเสนอโครงการนวัตกรรมในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบใหม่เข้าประกวดชิงรางวัล โดยโครงการดังกล่าวจะต้องช่วยสร้างความมั่นคงด้านอาหาร สารอาหาร การดำรงชีพ และการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดย สามารถเลือก 1 จาก 3 หัวข้อ ตามความสนใจและความถนัด ดังนี้

(1) คิดใหม่เพื่ออาหารสัตว์น้ำที่ดีกว่า (Rethinking Feed for Aquaculture) ซึ่งจะเน้นให้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการหาอาหารสัตว์ที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมาทดแทนอาหารสัตว์แบบเดิม เนื่องจากทุกวันนี้ ปลาที่จับได้จากธรรมชาติได้ใช้เป็นส่วนประกอบหลักของอาหารสัตว์ ซึ่งนับวันราคาปลาดังกล่าวก็สูงขึ้นเรื่อยๆ จากความต้องการของตลาด ในขณะที่ค่าอาหารสัตว์คิดเป็นต้นทุนถึงร้อยละ 40-70 ของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยผู้เข้าประกวดจะต้องเสนอทางเลือกอาหารสัตว์ที่ยังมีสารอาหารสูงอย่างปลาธรรมชาติ แต่ในขณะเดียวกันก็ช่วยประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายและลดภาระที่มีต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ อาทิ การคิดค้นสาหร่าย หรือ แหล่งอาหารสัตว์อื่น ๆ

(2) พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารทะเลใหม่ ๆ (Developing New Ocean Products) หัวข้อนี้ มาจากเหตุผลที่ว่า ในวงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทุกวันนี้ สินค้าส่วนใหญ่มีอยู่ไม่กี่รายการ อาทิ กุ้ง และปลาทะเลบางชนิด ซึ่งในบางครั้ง สินค้าที่ได้จากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกลับมีคุณค่าทางอาหารที่น้อยกว่าปลาที่จับได้ตามธรรมชาติ ในขณะเดียวกัน สาหร่ายจากการเพาะเลี้ยงแม้มีคุณค่าทางอาหารสูง แต่ก็ไม่ถูกปากผู้บริโภคหมู่มาก จึงเป็นความท้าทายที่จะให้เสนอโครงการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีคุณค่าทางอาหาร ช่วยสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

ซึ่งนวัตกรรมนี้จะต้องก่อให้เกิดความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นที่ยอมรับในผู้บริโภคด้วย ซึ่งในเรื่องนี้ ประเทศไทยเองมีศักยภาพไม่น้อย เพราะนอกจากการเพาะเลี้ยงแล้ว ไทยเองยังมีความสามารถในการแปรรูปสินค้าประมง จนองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization: FAO) ได้กล่าวถึงไทยในรายงานฉบับล่าสุดว่า เป็นประเทศที่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านแปรรูปสินค้าประมง

(3) สร้างสรรค์พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้ยั่งยืน (Sustainable Design for Aquaculture) หัวข้อนี้ เป็นการเฟ้นหาผู้ที่สามารถออกแบบพื้นที่ใหม่ ๆ และวิธีการใหม่ ๆ ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อลดผลกระทบต่อชายฝั่งทะเล ซึ่งแนวคิดการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในเมืองก็อาจเป็นทางเลือกหนึ่ง อาทิ การเลี้ยงหอยและปลาหมึกที่เรือท้องแบนที่ใช้ขนส่งสินค้า การเลี้ยงแบบ "Farm in a box" หรือแม้แต่การเพาะเลี้ยงในพื้นที่นอกชายฝั่ง

โดยผู้ได้รับรางวัลจะได้รับทุนเพื่อนำข้อเสนอโครงการดังกล่าวไปทดลองจริงในพื้นที่ในมหาสมุทรอินเดียได้เป็นเวลา 1 ปีเต็ม โดยขั้นตอนของการคัดเลือกภายหลังปิดรับใบสมัครในวันที่ 30 มิถุนายน ศกนี้ คณะกรรมผู้เชี่ยวชาญจะคัดเลือกและจะประกาศผลผู้เข้ารอบ 20 คน ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2559 และให้ผู้ได้รับการคัดเลือก 20 คน ได้นำเสนอนวัตกรรมแก่คณะกรรมการผ่านทาง Skype และจะประกาศผลการตัดสินรางวัลในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมปีนี้ นวัตกรรมที่ได้รับรางวัลจะถูกนำไปจัดแสดงให้นักลงทุน และกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ชมด้วย ผู้ที่อยู่ในแวดวงนี้และมีไอเดียหรือนวัตกรรม พร้อมด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยยกระดับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของโลกใบนี้ให้ยั่งยืน นี่คือโอกาสสำคัญ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครออนไลน์ได้ที่ http://theblueeconomychallenge.com/
พบกับอัพเดตความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่ ThaiBiz ตั้งใจติดตามาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.ThaiBiz.net หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติมสามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,166 วันที่ 16 - 18 มิถุนายน พ.ศ. 2559