บอร์ดวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติหนุนสตาร์ตอัพ 4 คณะทำงานย่อยเดินเครื่องวางแนวปฏิบัติ

14 มิ.ย. 2559 | 04:00 น.
บอร์ดส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติขึงขัง "เร่งมาตรการภาษี-ซอฟต์โลน/ค้ำประกัน-หาช่องดึงต่างชาติพัฒนาสตาร์ตอัพ-ปรับเกณฑ์เอ็ม เอ ไอ /พร้อมเตรียมจัดเรตติ้งเทคโนฯให้มีประสิทธิภาพ

นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยถึงผลการประชุมของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ(National Startup Committee)ซึ่งมีนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานคณะกรรมการฯ(ครั้งที่ 2 เมื่อ 7 มิ.ย.59) ที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้าของการดำเนินงานของคณะทำงานเพื่อเสนอแนะนโยบายและมาตรการภาครัฐเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เช่น กรมสรรพากร สศค. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และภาคเอกชน จะร่วมหารือในระดับนโยบาย เพื่อให้ได้ข้อสรุปแนวทางการกำหนดมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้น รวมทั้งเร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนโครงการค้ำประกันสินเชื่อแก่วิสาหกิจเริ่มต้น และพิจารณาประเด็นวงเงินสำหรับโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Policy Loan) ของ ธพว. และ บสย. เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs/New Startup

ขณะเดียวกันยังได้รายงานการวางแนวทางเพื่อผ่อนปรนแก่ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่ทำงานกับวิสาหกิจเริ่มต้นไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) จะศึกษาแนวทางการดำเนินการเพื่อผ่อนปรนและอำนวยความสะดวกแก่ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่ทำงานกับวิสาหกิจเริ่มต้นของไทย รวมทั้งเพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานฝีมือต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรไทยเพื่อประโยชน์ต่อการลงทุนของประเทศ

สำหรับแนวทางการพัฒนาตลาดทุนให้เหมาะสมกับการพัฒนาและการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้นนั้น ทางตลท. จะรับข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนที่ได้รับจากการทำประชาพิจารณ์มาประกอบการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ให้เหมาะสมและสอดรับกับนโยบายสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้นของประเทศ

นอกจากนี้คณะทำงานชุดที่ 4 ยังได้เตรียมการเพื่อวางแนวทางสนับสนุนให้มีการจัดเรตติ้งเทคโนโลยีและการค้ำประกันสินเชื่อเทคโนโลยี (Technology Rating & Technology Guarantee) โดย บสย. และ สวทช. ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สศค. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคารพาณิชย์ และบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) เพื่อขออนุเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องสำหรับการจัดเรตติ้งเทคโนโลยีให้ประสิทธิภาพ แม่นยำ น่าเชื่อถือ และใช้ส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นได้อย่างเต็มศักยภาพ

"ขณะนี้กระทรวงการคลังได้ดำเนินการนำเสนอแผนการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นของประเทศไทย (ปี 2559 - 2564) เพื่อให้คณะรัฐมนตรีได้รับทราบแล้ว ซึ่งปัจจุบันสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอยู่ระหว่างเตรียมนำเรื่องดังกล่าวเพื่อบรรจุเป็นวาระเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป"

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของคณะทำงานเพื่อสร้างความตระหนักและการรับรู้เพื่อส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นนั้นทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯและกรมประชาสัมพันธ์จะดำเนินงานร่วมกับองค์กรพันธมิตรอื่นๆเพื่อจัดงานและจัดประกาวตลอดอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังเชื่อมต่อเครือข่ายกับสมาคมและสมาพันธ์ที่เกี่ยวกับสื่อในการสร้างศูนย์กลางแห่งการประชาสัมพันธ์องค์ความรู้สำหรับสตาร์ตอัพ

อีกทั้งการดำเนินงานของคณะทำงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นทั้งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และหน่วยงานอื่น ๆ ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ตลอดจนที่ปรึกษาด้านกฎหมายและบัญชี ร่วมศึกษาแนวทางปรับปรุงกฎหมายและกฎเกณฑ์ในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการบัญชี ด้านกฎหมายธุรกิจ เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการบูรณาการที่ครบวงจรของโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น ตลท. สนช. สวทน. สวทช. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) สำนักงาน ก.ล.ต. และที่ปรึกษาด้านกฎหมายและบัญชี ยังได้ร่วมศึกษาแนวทางการพัฒนาย่านวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup district) ซึ่งประกอบไปด้วยโครงการที่สำคัญ เช่น โครงการย่านนวัตกรรม (Innovation district) และโครงการ University-based startup district เป็นต้น

ส่วนการดำเนินงานของคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการบ่มเพาะวิสาหกิจเริ่มต้นมุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรด้านไอทีเพื่อนำทรัพยากรที่มีคุณภาพสู่วิสาหกิจเริ่มต้น โดยสมาคมโปรแกรมเมอร์จะเป็นเจ้าภาพในการสนับสนุนการสร้างบุคลากรในธุรกิจไอที และการพัฒนากลไกเสริมให้มีการรับรองความสามารถ และวางแนวทางเพื่อส่งเสริมในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม โดยครอบคลุมถึง 5 คลัสเตอร์ใหม่ที่รัฐบาลต้องการสนับสนุน ซึ่งประกอบไปด้วย อาหาร ดิจิตอล สุขภาพ หุ่นยนต์ และกิจกรรมสร้างสรรค์ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดมาตรฐานสากลและสามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ

อนึ่ง การประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นของประเทศไทยพ.ศ. 2559-2564 ซึ่งดำเนินการโดยคณะทำงานย่อย 4 คณะ ประกอบด้วย 1.คณะทำงานเพื่อสร้างความตระหนักและการรับรู้เพื่อส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นซึ่งมีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบ 2. คณะทำงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (หน่วยงานที่เป็นผู้รับผิดชอบ คือ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) 3.คณะทำงานเพื่อส่งเสริมการบ่มเพาะวิสาหกิจเริ่มต้น (หน่วยงานที่เป็นผู้รับผิดชอบ คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) 4. การดำเนินงานของคณะทำงานเพื่อเสนอแนะนโยบายและมาตรการภาครัฐเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (คณะทำงานชุดที่ 4) (หน่วยงานที่เป็นผู้รับผิดชอบ คือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง)

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,165 วันที่ 12 - 15 มิถุนายน พ.ศ. 2559