กกร.ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่ 3.0-3.5%

07 มิ.ย. 2559 | 09:40 น.
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  รายงานสรุปการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เดือนมิถุนายน 2559 วันอังคารที่ 7 มิถุนายน 2559 ว่า  ที่ประชุม กกร. มีความเห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวมในเดือนเมษายน 2559 ยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็น  ค่อยไป โดยมีแรงส่งหลักมาจากปัจจัยเดิม คือ ภาคบริการหรือการท่องเที่ยว และการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีความกังวลต่อตัวเลขการส่งออกที่กลับมาหดตัวอีกครั้ง และส่งผลให้การขยายตัวของ  การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้ การบริโภคในประเทศ แม้จะเริ่มมีสัญญาณที่ดีบ้างที่ยอดขายรถยนต์พลิกกลับมาเป็นบวกได้ แต่ก็ยังคงถูกกดดันจากรายได้เกษตรกรที่ยังอ่อนแอและการระมัดระวังการใช้จ่ายของครัวเรือน ด้านการลงทุนภาคเอกชนก็ยังคงไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน สะท้อนได้จากความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ยังคงปรับลดลงจากเดือนก่อน

สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปี 2559 คาดว่าน่าจะใกล้เคียงกับในไตรมาสแรก อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนและอาเซียน ซึ่งจะมีผลต่อการฟื้นตัวของการส่งออก รวมทั้งการลงประชามติของสหราชอาณาจักรเรื่องการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ตลอดจนท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อันจะมีผลต่อความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนและรายได้ของผู้ส่งออก หลังจากที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคมออกมาต่ากว่าคาดอย่างมาก ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ฯ ดิ่งลง และตลาดลดการคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย  Fed Funds ลง

กกร.ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทย ในปี 2559 ที่ 3.0-3.5% แต่จะติดตามสถานการณ์การส่งออก  และความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ เพื่อประเมินกรอบตัวเลขคาดการณ์ทั้งจีดีพีและการส่งออกอีกครั้งในอนาคต

กกร. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง กับผลการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขัน ประจำปี 2559 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 61 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่ง สถาบัน IMD (International Institute for Management Development) ประเมิน ความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 28 สูงขึ้น 2 อันดับ จากเดิมอยู่ในอันดับที่ 30 เมื่อปี 2558 โดยไทยเป็นประเทศเดียวที่มีอันดับดีขึ้น เมื่อเทียบ 5 ประเทศอาเซียนซึ่งอยู่ในการจัดอันดับนี้ ขณะที่ประเทศอื่นมีอันดับลดลง

- สิงคโปร์ อยู่ในอันดับที่ 4 (ลดลง 1 อันดับ จากเดิมอยู่อันดับที่ 3)

- มาเลเซีย อยู่ในอันดับที่ 19 (ลดลง 5 อันดับ จากเดิมอยู่อันดับที่ 14)

- ฟิลิปปินส์ อยู่ในอันดับที่ 42 (ลดลง 1 อันดับ จากเดิมอยู่อันดับ 41)

- อินโดนิเซีย อยู่ในอันดับที่ 48 (ลดลง 6 อันดับ จากเดิมอยู่อันดับ 42)

กกร. สนับสนุนการจัดประชุมหารือเรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการภาครัฐ (EoDB) กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในวันที่ 13 มิถุนายน 2559 โดย นรม. เป็นประธานการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้า 11 เรื่อง ได้แก่ การเริ่มต้นธุรกิจ การขออนุญาตก่อสร้างและผังเมือง การขอใช้ไฟฟ้า การจดทะเบียนทรัพย์สิน การได้รับสินเชื่อ การคุ้มครองผู้ลงทุนรายย่อย การชำระภาษี การค้าระหว่างประเทศ การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง  การแก้ไขปัญหาล้มละลาย และอื่นๆ (เช่น อย. EIA ท่องเที่ยว และ work permit  เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมรับฟังกว่า 500 คน

ศาลฎีกาได้ตัดสินคดีภาษีอากรกรณีที่บริษัทได้รับส่งเสริมการลงทุนหลายโครงการว่าวิธีการคำนวณภาษี ของกรมสรรพากรที่ให้เอาผลกำไรขาดทุน ของทุกโครงการในปีภาษีเดียวกันมารวมกัน (net บัตร) เป็นวิธีที่ถูกต้อง แต่ผู้ประกอบการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนส่วนใหญ่คำนวณภาษีตามความเห็นของ BOI ซึ่งได้มีการหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว แต่ไม่ตรงกับความเห็นของกรมสรรพากร  ปัญหาความเห็นที่แตกต่างกันระหว่าง BOI กับกรมสรรพากร ทำให้ผู้ลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเกิดความไม่เชื่อมั่นในนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล รัฐบาลควรเร่งแก้ปัญหานี้โดยเร็ว

นอกจากนี้ กกร. จัดทำข้อเสนอ “นโยบายคนเข้าเมืองเพื่อเตรียมความพร้อมประเทศไทย ก้าวสู่ “Thailand 4.0” เนื่องจากการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายและอุตสาหกรรม New S-Curve นั้น ต้องการผู้เชี่ยวชาญ Young Talent และ การทา R & D เป็นต้น จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทย ต้องมีนโยบายคนเข้าเมือง ที่มีระบบที่ชัดเจนและสะดวก เพื่อสร้างแรงจูงใจ และเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน เช่น การใช้ระบบ “วีซ่าการทำงาน”  เพื่อประกอบกับใบอนุญาตทำงาน และกำหนดให้วีซ่าทำงานแบ่งเป็นประเภท ตามทักษะฝีมือ ได้แก่ แรงงานทักษะต่ำ แรงงานทักษะปานกลาง แรงงานทักษะสูง และผู้ที่ได้รับการเชื้อเชิญ และจะได้นำเสนอในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) ต่อไป

เนื่องจากกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ เป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย และมีความสำคัญมากต่อภาคธุรกิจ เพราะเป็นกฎหมายที่จะช่วยให้ SME ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก มีโอกาสสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นและ สะดวกยิ่งขึ้น โดยกฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป ในเรื่องนี้ กกร. เห็นความจำเป็นที่จะให้มีการดำเนินโครงการประชาสัมพันธ์และให้ความรู้กับสมาชิก กกร. และภาคธุรกิจทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจโดยจะได้มีการจัดตั้งคณะทำงานดำเนินการดังกล่าว ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป