สนข.เร่งแผนพัฒนาและจัดการจราจรภายในศูนย์คมนาคมพหลโยธินบนพื้นที่ 2,325 ไร่

06 มิ.ย. 2559 | 09:36 น.
วันนี้ (6 มิถุนายน 2559) ณ ห้องกมลทิพย์ 2 และ 3 โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ นายชัยวัฒน์  ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาออกแบบรายละเอียดศูนย์คมนาคมพหลโยธินและการพัฒนาต้นแบบการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางคมนาคม เพื่อนำเสนอร่างผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ผลการวิเคราะห์ด้านจราจร การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน และการพัฒนาเชิงพาณิชย์ พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษากลุ่มภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มธนาคาร กลุ่มนักลงทุน สมาคมการค้า เข้าร่วมสัมมนาประมาณ 200 คน

นายชัยวัฒน์  กล่าวว่า ตามที่กระทรวงคมนาคมมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ดำเนินการศึกษาออกแบบรายละเอียดเบื้องต้นการพัฒนาระบบเชื่อมต่อการเดินทางบริเวณศูนย์คมนาคมพหลโยธินเพื่อรองรับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนตามแผนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 10 สายทาง โดยมีผลการศึกษาการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธินในพื้นที่ 2,325 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่สถานีกลางบางซื่อ พื้นที่สวนสาธารณะ พื้นที่พัฒนาโครงการ กม. 11 และพื้นที่ย่านตึกแดง ซึ่งได้ออกแบบเบื้องต้นสำหรับการพัฒนาการเชื่อมต่อการเดินทางในพื้นที่โครงการทั้งทางเดินเท้า และการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง เพื่ออำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทางในพื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธินกับพื้นที่ต่างๆ โดยรอบ

ในการสัมมนาครั้งนี้ได้นำเสนอความคืบหน้าผลการศึกษาโครงการ ประกอบด้วย 1. แนวทางการพัฒนาพื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน ต้นแบบการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางคมนาคม โดยนำหลักการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางคมนาคม (Transit Oriented Development :TOD)  มาใช้ทั้งในบริเวณพื้นที่ 2,325 ไร่และพื้นที่โซน D ประมาณ 80 ไร่  ซึ่งจากผลการศึกษาได้กำหนดแนวคิดการพัฒนา คือ “ศูนย์กลางมหานครแห่งใหม่ระดับ ASEAN” เพื่อส่งเสริมให้สถานีขนส่งมวลชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ส่งเสริมการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ (Non – Motorized Transport) และลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล โดยที่ปรึกษาได้เสนอให้เพิ่มเส้นทางการเดินเท้าเพื่อเชื่อมต่อระหว่างจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางจากระบบขนส่งมวลชนหลัก และครอบคลุมบริเวณย่านที่สำคัญ ตลอดจนปรับรูปแบบการใช้ถนนหลักที่มีอยู่เดิมได้แก่ ถนนกำแพงเพชร 2, 3 และ 4 โดยลดช่องจราจรของรถยนต์ส่วนบุคคล ปรับเปลี่ยนเป็นช่องทางรถโดยสารด่วนพิเศษ BRT ของระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง และทางจักรยาน

2. ผลการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาแนวแกนทางเดินเชื่อมต่อหลักซึ่งเอกชนผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิ์การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เนื้อที่ประมาณ 80 ไร่ บนแปลงที่ดินต้นแบบการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางคมนาคม (แปลง D) ซึ่งได้กำหนดรูปแบบการพัฒนาทางเดินเชื่อมต่อระหว่างสถานีหลัก ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินจตุจักรและกำแพงเพชร จนถึงสถานีย่อย บขส.หมอชิต 2  มีลิฟท์ บันไดเลื่อนตลอดจนระบบปรับอากาศ และระบบป้องกันอัคคีภัยที่เหมาะสม โดยแนวแกนทางเดินเชื่อมต่อระหว่างสถานีกลางบางซื่อ ไปยังสถานีรถไฟฟ้าหมอชิต และสถานีรถไฟใต้ดินจตุจักรเป็นทางเดินยกระดับโดยออกแบบเป็นทางเดินเปิดโล่ง ประมาณ 1 กิโลเมตร และเป็นทางเดินแบบปรับอากาศ ระยะทางประมาณ 300 เมตร และพื้นที่ใต้ทางเดินยกระดับได้ออกแบบให้ใช้เป็นทางเดินเท้าและทางจักรยานเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ โดยสามารถรองรับผู้ใช้บริการได้ประมาณ 37,000 คน/วัน ในปี 2580

นอกจากนี้ได้ออกแบบทางเดินระดับดิน เชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินกำแพงเพชรจนถึงสถานีย่อย บขส.หมอชิต 2 สามารถรองรับผู้ใช้บริการได้ ประมาณ 5,000 คน/วัน ในปี 2580  3.ผลการศึกษาความเหมาะสม การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง (BRT)  มีเส้นทางให้บริการประมาณ 10 กิโลเมตรทั้งสองทิศทาง มีจุดขึ้นลง 16 สถานี และเชื่อมโยงกับระบบขนส่งหลัก มีจุดเริ่มต้นที่สถานีกลางบางซื่อ วิ่งข้ามพวงรางด้วยทางวิ่งยกระดับบริเวณถนนกำแพงเพชร 6 เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนกำแพงเพชร 2 และเลี้ยวซ้ายเข้าถนนกำแพงเพชร 4 จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนกำแพงเพชร 3 แล้วจึงเลี้ยวเข้าพื้นที่ กม. 11 เพื่อกลับเข้าสู่ ถนนกำแพงเพชร 2 และวนกลับสถานีกลางบางซื่อ และมีศูนย์ซ่อมบำรุงบนเนื้อที่กว่า 7 ไร่ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ  1 แสนคนต่อวัน

การพัฒนาตามผลการศึกษาดังกล่าวจะส่งเสริมให้ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน มีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งด้วยระบบราง ของสถานีกลางบางซื่อในอนาคต ซึ่งเป็นศูนย์รวมบริการทั้งรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รถไฟฟ้าชานเมือง รถไฟทางไกล รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน ตลอดจนรถไฟความเร็วสูง การบูรณาการเชื่อมโยงการเดินทางจะช่วยต่อยอดให้การพัฒนาและลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์มีศักยภาพที่แข็งแกร่งเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ศูนย์คมนาคมพหลโยธินก้าวสู่ การเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ สนข. จะจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 3 เพื่อนำเสนอผลสรุปการศึกษาโครงการฯ ในเดือนกรกฎาคม โดยผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดโครงการฯ ได้ที่ www.phahonyothincenter.com