ฟันธง! นํ้ามันดิบ ปีนี้ไต่ไม่ถึง 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ

07 มิ.ย. 2559 | 09:30 น.
ต้นปี 2559 สถานการณ์ราคานํ้ามันดิบค่อนข้างตํ่า โดยราคานํ้ามันดิบลงไปสู่ระดับราคาตํ่าที่สุดในรอบ 12 ปี ไต่ระดับอยู่ที่ประมาณ 26-27 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ในช่วงเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 หลังจากนั้นราคานํ้ามันดิบก็ค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้นมาต่อเนื่อง เกิดอะไรขึ้นกับราคานํ้ามัน และแนวโน้มราคานํ้ามันหลังเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปจะไปในทิศทางไหน มนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน มีคำตอบ!โดยให้สัมภาษณ์ผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงความเคลื่อนไหวดังกล่าว

หลายตัวแปรกระตุกราคาขึ้น

มนูญ วิเคราะห์ภาพราคาน้ำมันที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ทำให้ราคาค่อยๆขยับสูงขึ้น ไล่ตั้งแต่ที่สหรัฐอเมริกาเริ่มลดการผลิตน้ำมันดิบลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพราะราคาน้ำมันดิบที่ต่ำกว่า40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้การผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดานหรือเชลล์ออยล์ ไม่คุ้มทุนและบริษัทน้ำมันขนาดเล็กในสหรัฐก็ต้องปิดตัวเองลงไป อีกทั้งไม่ได้รับการอุดหนุนทางด้านการเงิน ดังนั้นการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐลดลงไปจากระดับเดิมซึ่งเคยผลิตได้ถึง 9.5-9.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก็ลดลงมาอยู่ในระดับ 8.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงไปประมาณ 7-8 แสนบาร์เรลต่อวัน เหล่านี้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบค่อยๆกระเตื้องขึ้นมา

ประกอบกับพอเข้าสู่เดือนพฤษภาคม2559ที่ผ่านมาก็เจอปัญหาการหยุดชะงักขาดตอนเกี่ยวกับการผลิตน้ำมันดิบ ที่ไม่ได้มีการคาดคิดมาก่อน ทั้งจากกรณีที่แคนาดาเกิดไฟป่า ทำให้ต้องมีการอพยพคนงานออกมาจากเหมืองน้ำมันในแคนาดา ต้องหยุดผลิตน้ำมันไปประมาณ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งที่เป็นพื้นที่หลักในการผลิตน้ำมันของแคนาดา เป็นพื้นที่ที่ส่งมายังสหรัฐอเมริกาผ่านทางท่อน้ำมัน พอหยุดผลิตก็กระทบต่อการส่งน้ำมันไปยังสหรัฐอเมริกาค่อนข้างมาก จากที่แคนาดาผลิตน้ำมันได้ราว 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน

นอกจากนี้ไนจีเรียก็เกิดการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านการผลิตน้ำมันจนกระทั่งทำให้บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ 2 แห่งคือ รอยัลดัชท์ เชลล์ กับ เอ็กซอนโมบิล ต้องประกาศภาวะสุดวิสัยในการที่ไม่สามารถส่งมอบน้ำมันให้กับลูกค้าได้ ตรงนี้ก็ทำให้ปริมาณน้ำมันขาดหายไป ทำให้ไนจีเรียส่งออกน้ำมันน้อยที่สุดในรอบ22 ปี รวมไปถึงกรณีที่ลิเบีย ยังมีการสู้รบกันภายในประเทศ ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันจากลิเบียขาดหายไปด้วย แม้มีความพยายามที่จะเจรจากัน ล่าสุดแม้จะทำความตกลงกันได้ แต่ว่าปริมาณน้ำมันก็ยังไม่ได้เพิ่มมากนัก ขณะที่เวเนซุเอลา ที่มีปัญหาเรื่องหนี้สิน จนบริษัทน้ำมันแห่งชาติต้องลดการผลิตน้ำมันลง และมีการขาดแคลนกระแสไฟฟ้าอย่างมาก ทำให้โรงกลั่น กลั่นน้ำมันได้น้อยลง
จากปัญหาต่างๆเหล่านี้ ทำให้ปริมาณน้ำมันดิบขาดหายไปจากตลาดโลกเกือบ 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่ในโลกมีปริมาณการจัดหาน้ำมันรวมกันอยู่ที่ 93-94 ล้านบาร์เรลต่อวัน

จัดหาน้ำมันน้อยกว่าต้องการใช้

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นเดือนที่ปริมาณการจัดหาน้ำมันน้อยกว่าความต้องการใช้เป็นครั้งแรกในรอบ 3ปี ทั้งที่ตามปกติแล้วการจัดหาน้ำมันจะมากกว่าความต้องการใช้มาโดยตลอด จากที่ความต้องการใช้น้ำมันดิบในโลกอยู่ที่ 95 ล้านบาร์เรลต่อวันใกล้เคียงกับปริมาณการจัดหาน้ำมันของโลก เหล่านี้ถือเป็นปัจจัยฉุกเฉินที่เกิดขึ้น

มนูญ กล่าวอีกว่าเมื่อมีเหตุฉุกเฉินแบบไม่คาดหมายเกิดขึ้น อาจทำให้ตัวเลขราคาน้ำมันดิบทั้งปีมีการปรับขึ้นอีกเล็กน้อย ดูจากที่ล่าสุดวาณิชธนกิจใหญ่ๆ เช่น "โกลด์แมน ซากส์" ก็มีการปรับราคาน้ำมันทั้งปี ขึ้นมา จากเดิมอยู่ที่ 39 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ก็ปรับขึ้นมาเป็น45-50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลต่อปี หมายความว่าในช่วงปลายปีนี้ราคาน้ำมันก็น่าจะปรับขึ้น อาจจะอยู่ที่ 52-53 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เพราะช่วงปลายปีจะเป็นจังหวะที่มีความต้องการใช้น้ำมันสูงขึ้นตามฤดูกาล จึงมีความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้นจากราคาเฉลี่ยโดยสูงกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ทั้งนี้ราคา 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลนั้น เป็นราคาแนวต้านทางเทคนิคที่สำคัญ ซึ่งภายในไตรมาส2 นี้ หรือภายในเดือนมิถุนายน 2559นี้ ก็น่าจะได้เห็นราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกขึ้นไปแตะที่ระดับ 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลแล้ว

"ปัญหาการขาดตอน เรื่องของการผลิตน้ำมันที่สหรัฐอเมริกาผลิตได้น้อยลง เหล่านี้ก็มีปัจจัยบวกที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น แต่ก็ยังมีปัจจัยลบที่อาจทำให้ราคาน้ำมันไม่เป็นไปตามที่เราคาดการณ์ไว้ได้เช่นกัน โดยจะเห็นว่าที่ผ่านมานี้จะมีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบเข้ามา"

 ประชุมโอเปกไม่บรรลุข้อตกลง

ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานงานอธิบายต่อว่า ถ้ามาดูว่าจะมีปัจจัยลบอะไรที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบไม่เป็นไปตามที่เราคาดการณ์ไว้ จากที่คาดการณ์ว่าราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบทั้งปีอยู่ที่ 45-50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลต่อปี และราคาช่วงปลายปีนี้จะอยู่ที่กว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล หากราคาที่คาดการณ์เปลี่ยนก็จะมาจากปัจจัยลบดังนี้

1.เรื่องของการประชุมกลุ่มโอเปก ที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกำหนดเพดานการผลิต เนื่องจากก่อนหน้านี้อิหร่านยืนยันมาตลอดว่าจะต้องผลิตน้ำมันดิบเพิ่มมากขึ้น เพื่อที่จะกลับไปสู่ระดับเดิมคือในระดับที่อิหร่านเคยส่งออกไว้เมื่อตอนก่อนถูกคว่ำบาตรคือจะต้องได้ที่ระดับ 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากที่ขณะนี้อิหร่านผลิตอยู่ที่ 2.5-2.6 ล้านบาร์เรลต่อวันเท่านั้น จึงต้องกลับไปสู่ระดับเดิมที่เคยผลิตอยู่ หากเป็นไปตามนี้ก็จะทำให้ราคาน้ำมันดิบถูกลง ขณะที่ซาอุดีอาระเบียก็ยังคงยืนยันว่าถ้าต้องการจะคงระดับการผลิตเอาไว้เท่าเดิมทุกประเทศจะต้องร่วมมือกัน ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันดิบแพงขึ้น ขณะที่อิหร่านก็ประกาศไม่รับข้อเสนอนี้มาแล้วก่อนหน้านี้

" เท่ากับว่าการประชุมโอเปกไม่บรรลุข้อตกลงควบคุมปริมาณการผลิตหรือกำหนดเพดานการผลิตราคาน้ำมันก็อาจจะปรับตัวลดลง"

2.ปัจจัยเรื่องธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน หรือกรกฎาคม นี้ ถ้าเฟดขึ้นดอกเบี้ยก็จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่า จะเป็นผลลบต่อราคาน้ำมัน โดยราคาน้ำมันดิบจะลดลง แต่ถ้าเฟดไม่ขึ้นดอกเบี้ย ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯก็อ่อนค่า ราคาน้ำมันก็จะสูงขึ้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ทั้ง 2 อย่าง ถึงบอกว่า มันเป็นตัวแปรสำคัญทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประชุมกลุ่มโอเปก เรื่องเฟดขึ้นดอกเบี้ยล้วนเป็นตัวแปรที่มีผลต่อราคาน้ำมันทั้งสิ้น แต่ราคาน้ำมันดิบขึ้นอย่างไร ก็ไต่ระดับไม่ถึง 60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลในปีนี้(2559)

ตอบโจทย์ขายปลีกในประเทศยังสูง

สำหรับกรณีที่มักมีการตั้งคำถามทุกครั้งว่าราคาในตลาดโลกขาลง แต่ทำไมราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังสูงนั้น ตามโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันบ้านเรา ที่ประกอบไปด้วย 3 ส่วนคือ 1. ราคาหน้าโรงกลั่น 2.ภาษีต่างๆเช่นภาษีสรรพสามิต ภาษีท้องถิ่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม 3.กำไรของผู้ประกอบการ ถ้าเราไปดู3ส่วนนี้ก็จะพบว่า ส่วนของราคาหน้าโรงกลั่นมันขึ้น-ลงตามราคาตลาดโลก โดยอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ตลาดสิงคโปร์

ดังนั้นจากตรงนี้มันจะขึ้น-ลงตามราคาตลาดโลกตลอดเวลา ถ้าราคาที่สิงคโปร์ขึ้น ราคาหน้าโรงกลั่นก็ขึ้น ถ้าราคาที่สิงคโปร์ลงราคาหน้าโรงกลั่นก็ลง และขึ้น-ลงในอัตราที่เป็นสัดส่วนเดียวกัน ไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันเลย แต่ราคาที่สิงคโปร์เองก็ไม่ได้ขึ้นเท่ากับราคาน้ำมันดิบ เพราะว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปกับราคาน้ำมันดิบไม่จำเป็นต้องขึ้นเท่ากัน ซึ่งเวลานี้บางคนไปเอาราคาน้ำมันดิบเทียบกับราคาหน้าปั๊ม มันเทียบกันไม่ได้ ถ้าเราจะเทียบกับราคาหน้าปั๊มเราต้องเทียบกับราคาหน้าโรงกลั่น เราต้องเทียบกับราคาน้ำมันสำเร็จรูป และถ้าเราจะเทียบให้เห็นชัดเจนว่าราคาตลาดโลกกับราคาในประเทศมันขึ้นลงเป็นสัดส่วนเดียวกันหรือไม่ ต้องเทียบกับราคาหน้าโรงกลั่นกับราคาน้ำมันที่สิงคโปร์ เพราะราคาหน้าโรงกลั่นมันไม่มีภาษี มาบิดเบือน แต่พอมาเอาราคาขายปลีกมาเทียบ ราคาขายปลีกมีสัดส่วนของภาษีกับกองทุนน้ำมันอยู่ด้วย เราจะเอาไปเทียบกันไม่ได้เพราะภาษีกับกองทุนมันไม่ได้ขึ้น-ลงตามราคาน้ำมัน

"สมมติว่าราคาน้ำมันสิงคโปร์ลงมา50% ราคาหน้าโรงกลั่นก็ลง 50% แต่ภาษีกับกองทุนไม่ได้ลงมา 50%ด้วย แล้วเราจะไปบอกให้ราคาขายปลีกต้องลงตาม50% ด้วยไม่ได้ และภาษีก็เป็นสัดส่วนใหญ่ของราคาน้ำมันด้วย เพราะภาษีบวกกองทุนคำนวณแล้วเป็นสัดส่วนประมาณ 30-50% ของโครงสร้างราคา ดังนั้นเวลาที่ราคาเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวก็จะมีผลต่อราคาขายปลีกเยอะมาก ฉะนั้นเวลาที่เราบอกว่าราคาน้ำมันดิบลงมาตั้ง50%ทำไมราคาขายปลีกไม่ลงมาที่50%ด้วยก็เพราะภาษีไม่ได้ลง50%ด้วยนั่นเอง"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,163 วันที่ 5 - 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559