อาเบะเลื่อนขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ห่วงดีมานด์ภายในถูกกระทบ

08 มิ.ย. 2559 | 15:00 น.
การตัดสินใจชะลอการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มของนายชินโซะ อาเบะ นำมาซึ่งคำถามตามมาถึงแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นนับต่อจากนี้ อีกทั้งประสิทธิภาพของนโยบายเศรษฐกิจ "อาเบะโนมิกส์"

นายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เปิดเผยในสัปดาห์นี้ว่า จะเลื่อนการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม จาก 8% ในปัจจุบันขึ้นเป็น 10% ออกไปเป็นเดือนตุลาคม 2562 จากเดิมที่มีกำหนดปรับขึ้นในเดือนเมษายน 2560 แม้การตัดสินใจของนายอาเบะในครั้งนี้จะเป็นไปตามความความหมายของนักเศรษฐศาสตร์ แต่นับว่าขัดกับคำกล่าวที่นายอาเบะเคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ว่าการปรับขึ้นภาษีจะถูกเลื่อนออกไปกรณีที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจรุนแรงเท่านั้น

นายอาเบะกล่าวว่า ที่ตัดสินใจเลื่อนการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มออกไปนั้น เนื่องจากกังวลว่าความต้องการภายในประเทศจะได้รับผลกระทบ "จีนและประเทศอื่นๆ ยังมีปัญหาเศรษฐกิจภายใน และการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อาจจะต้องใช้เวลา ภายใต้บริบทดังกล่าวจึงมีความกังวลเกี่ยวกับความต้องการทั่วโลกที่ชะลอตัวลงในระยะยาว ผมจึงคิดว่าควรชะลอการขึ้นภาษีออกไปนานเท่าที่เป็นไปได้"

การปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อเดือนเมษายนปี 2557 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการบริโภคภายในประเทศ และเป็นเหตุให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งนับว่าสร้างความเสียหายต่อความพยายามของนายอาเบะในการกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ชะลอตัวมาเป็นเวลานานหลายปี โดยมีการผลักดันนโยบายต่างๆ ที่รู้จักกันในนาม "อาเบะโนมิกส์" การจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจของนายอาเบะยังคงเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย โดยแม้ว่าจะมีการนำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ มาใช้เป็นเวลา 3 ปีแล้ว แต่รายได้และเงินเฟ้อยังไม่เติบโตขึ้นได้ตามที่นายอาเบะได้ให้คำมั่นไว้

นายอาเบะกล่าวปกป้องนโยบายเศรษฐกิจของตน โดยกล่าวว่าแม้นโยบายต่างๆ จะอยู่ในระหว่างการดำเนินการ แต่มีบางส่วน เช่น อัตราการว่างงาน และความถี่ของการล้มละลายของบริษัท มีพัฒนาการในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างมาก พร้อมกับระบุว่าความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในประเทศจีน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

"ในสถานการณ์เลวร้ายที่สุด มีความเสี่ยงที่เราจะกลับเข้าสู่ภาวะเงินฝืดที่ยาวนาน เราต้องดำเนินการเพื่อป้องกันความเสี่ยงเหล่านั้น" นายอาเบะกล่าว

ขณะเดียวกัน การเลื่อนการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มยังก่อให้เกิดคำถามตามมาเกี่ยวกับความสามารถของรัฐบาลในการควบคุมหนี้สาธารณะที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึงระดับเกือบ 250% ของขนาดเศรษฐกิจ โดยนายอาเบะยืนยันว่าจะทำงบประมาณให้เกินดุลให้ได้ภายในปีงบประมาณ 2563 ตามแผนเดิม แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะใช้วิธีการใดเพื่อทำให้ได้ตามเป้าหมาย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,163 วันที่ 5 - 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559