กฟผ.เปิดโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 2 

01 มิ.ย. 2559 | 06:27 น.
วันนี้ (1 มิ.ย.2559) นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประธานในพิธีเปิดโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ   ชุดที่ 2   โดยมีนายนิสิต  จันทร์สมวงศ์   ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี   พร้อมด้วยนายโจ มาสเทรนเจโล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แก๊ซ พาวเวอร์ ซิสเต็ม จีอี พาวเวอร์  และนายยูจิ  วาตานาเบะ   ผู้อำนวยการสำนักงานใหญ่ประเทศญี่ปุ่น    ฝ่ายก่อสร้างโรงไฟฟ้าและระบบส่ง   บริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ผู้แทนบริษัทคู่สัญญา  ผู้บริหาร กฟผ. หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก ณ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี

นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์  ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า   โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 2    เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2573 (PDP 2010) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ให้ กฟผ.  ดำเนินงานโครงการเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2555   เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าค่าพยากรณ์   โดยได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างในเดือนมกราคม 2556  และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์  เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559

สำหรับโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 2   ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 60 ไร่ ติดกับสำนักงานใหญ่ กฟผ. และโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1  ในพื้นที่ตำบลบางกรวย อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี  มีขนาดกำลังผลิตประมาณ  850 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าประเภทพลังความร้อนร่วมกังหันก๊าซแบบแกนเพลาเดียว (Single Shaft Combined Cycle) ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องกังหันก๊าซ เครื่องกังหันไอน้ำ และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โดยใช้ก๊าซธรรมชาติผสมจากสองแหล่งเป็นเชื้อเพลิง  คือก๊าซธรรมชาติจากแหล่งสหภาพเมียนมาร์ (ฝั่งตะวันตก)   และแหล่งอ่าวไทย (ฝั่งตะวันออก)   รวมทั้งก๊าซ LNG ในอนาคต  มีการติดตั้งระบบเผาไหม้ที่มีประสิทธิภาพสามารถลดก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน เป็นเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง  ลดการใช้เชื้อเพลิงได้มาก   สามารถลดปริมาณการระบายมลสารที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงได้ดีกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

“โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 2 เป็นโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าใหม่ล่าสุด ที่สามารถใช้ก๊าซธรรมชาติ ทั้งจากแหล่งสหภาพเมียนมาร์   และแหล่งอ่าวไทยในการผลิตไฟฟ้า  ทำให้การบริหารจัดการเชื้อเพลิงในกรณีแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งใดแหล่งหนึ่งไม่สามารถจ่ายก๊าซได้ ให้มีความคล่องตัว และเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น  ลดความสูญเสียของระบบไฟฟ้า เนื่องจากอยู่ใกล้ศูนย์กลางการใช้ไฟฟ้า  สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอและมั่นคง ตลอดจนเป็นโรงไฟฟ้าที่ให้ความใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน   อย่างต่อเนื่องตลอดมา”

ปัจจุบัน  โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ประกอบด้วย 2 ชุด คือ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 ขนาดกำลังผลิต   ประมาณ 700 เมกะวัตต์   และโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 2 กำลังผลิตประมาณ 850 เมกะวัตต์   จึงเป็นโรงไฟฟ้าใจกลางเมือง ที่มีศักยภาพรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศได้อย่างมั่นคง