ทุกฝ่ายพร้อมแจงร่างรัฐธรรมนูญ กรรมการร่างลุยอบรมวิทยากรสร้างความเข้าใจ

02 มิ.ย. 2559 | 01:00 น.
ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา "คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ" (กรธ.) พร้อมด้วย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ลงพื้นที่ประเดิมเวทีแรก เรียกน้ำย่อยใน 2 จังหวัด ฉะเชิงเทรา ต่อด้วย นครนายก เพื่อชี้แจงขั้นตอนร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) ที่เตรียมลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมนี้

[caption id="attachment_58345" align="aligncenter" width="354"] อุดม รัฐอมฤต อุดม รัฐอมฤต[/caption]

ทั้งนี้ นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. ระบุถึงความคืบหน้าการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้แต่ละจังหวัดทยอยจัดอบรมเผยแพร่สาระของร่างรัฐธรรมนูญให้กับวิทยากรอาสาสมัครเผยแพร่ประชาธิปไตยระดับอำเภอ หรือ ครู ข. แล้ว ซึ่ง กรธ.ได้ส่งตัวแทนไปร่วมลงพื้นที่สังเกตการณ์การอบรมในบางจังหวัดด้วย คาดว่า การอบรมน่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 5-6 มิถุนายนนี้ จากนั้น กรธ.จะประเมินผล ก่อนลงพื้นที่ไปอบรมวิทยากรฯระดับหมู่บ้าน (ครู ค.) ต่อ ขณะเดียวกัน กรธ.จะเร่งทำความเข้าใจร่างรัฐ ธรรมนูญ และเน้นการสื่อสารผ่านบทเพลงเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงร่างรัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้นด้วย"

ทั้งนี้ ตามปฏิทินของ กรธ. ระบุว่า ในช่วงวันที่ 22 พฤษภาคม-7 มิถุนายน 2559 เป็นการติดตามการอบรมครู ข หรือ วิทยากรชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วงประชามติในระดับอำเภอ ซึ่งได้ดำเนินการอบรมใน 9 กลุ่มจังหวัดเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา ขณะที่ก่อนหน้านี้ กรธ.ได้จัดอบรมโดยตรงให้กับ ครู ก. หรือวิทยากรในระดับจังหวัด ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

และในวันที่ 3 มิถุนายนนี้ กรธ.จะเชิญผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และผู้อำนวยการเขต 50 เขต ร่วมรับฟังคำชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร จากนั้นวันที่ 22-23 มิถุนายน กรธ.จะชี้แจงต่อผู้แทนกรรมการชุมชนของกรุงเทพมหานครที่มหาวิทยาราชภัฏพระนคร

ด้านนายบุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุถึงความคืบหน้าการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารที่เกี่ยวข้องนั้น เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ ซึ่งเมื่อจัดพิมพ์เสร็จแล้ว บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จะเริ่มทยอยจัดส่งไปยังหน่วยงานต่างๆ โดยคาดว่า จะดำเนินการเสร็จสิ้นภายในวันที่ 22 มิถุนายนนี้

ส่วนการเตรียมวิทยากรเพื่อทำหน้าที่อธิบายกระบวนการขั้นตอนการออกเสียงประชามติและรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิออกเสียงนั้น ช่วงนี้ กกต.กำลังดำเนินการอบรมวิทยากรต่างๆ ซึ่งในวันที่ 15 มิถุนายนนี้ กกต.จะแต่งตั้งกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตออกเสียง 63 จังหวัด ซึ่งเป็นจังหวัดที่ไม่มี กกต.จังหวัด จังหวัดละ 5 คน ส่วนอีก 14 จังหวัดที่เหลือนั้น กกต.จะแต่งตั้งให้ กกต.จังหวัดเป็นกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตออกเสียงเพื่อดำเนินการ

ปชช. เฉียด40% ยังไม่ตัดสินใจ

ขณะที่ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพลล์" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง "ผลสำรวจครั้งที่ 3 : การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559" สำรวจระหว่างวันที่ 23-24 พฤษภาคม 2559 รวม 1,500 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการตัดสินใจลงประชามติร่างรธน.2559 และความคิดเห็นต่อข้อเสนอให้ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สรรหา ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี มีสิทธิร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ปรากฏผลดังนี้

การตัดสินใจของประชาชนเกี่ยวกับการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรธน. พบว่า ประชาชน 39.53% ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ รองลงมา 32.07% ระบุว่า ไปลงมติรับร่างรธน. 19.73% ระบุว่า ไปใช้สิทธิ์ แต่ไม่มีมติไปทางใดทางหนึ่งอย่างชัดเจน และ 8.67 % ระบุว่า ไปลงมติไม่รับร่างรธน.

ส่วนคำถามที่ว่า การตัดสินใจของประชาชนเกี่ยวกับข้อเสนอการให้ ส.ว.สรรหา ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีมีสิทธิร่วมกับ ส.ส. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 38.47 ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ อีก 29.20 % ระบุว่า ไปลงมติเห็นด้วย 21.93 % ระบุว่า ไปลงมติไม่เห็นด้วย และ 10.40 % ระบุว่า ไปใช้สิทธิ์ แต่ไม่มีมติไปทางใดทางหนึ่งอย่างชัดเจน

ครู ค. ปูพรมแจงร่าง รธน. ก.ค.นี้

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนที่ กรธ. จัดอบรมฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อลงพื้นที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเชื่อว่า หลังจากที่มีการอบรม ครู ก. ครู ข. และครู ค. เป็นที่เรียบร้อยตามที่ กรธ.ได้กำหนดไว้ คาดว่า ครู ค.จะสามารถลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป

พร้อมกันนี้ได้สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับประเด็นคำถามพ่วงประชามติที่หลายฝ่ายมองว่า เป็นตัวแปรสำคัญที่จะส่งผลต่อการคว่ำประชามติได้หรือไม่ว่า เรื่องประเด็นคำถามคงแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว โดยหลังจากนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคง ต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนให้เกิดความชัดเจน ให้ประชาชนเห็นว่า เป็นคนละเรื่องกัน

"ต้องแยกส่วนกันเป็น 2 เรื่อง คือ ลงมติ รับ หรือ ไม่รับ ร่างรธน. และ รับ หรือ ไม่รับ ประเด็นคำถามพ่วง ซึ่งทั้งสองเรื่องแยกออกจากกัน ซึ่งต้องชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจว่า อาจลงมติ รับร่าง รธน. หรือ ไม่รับคำถามพ่วง หรือรับทั้งร่างรธน. และรับคำถามพ่วง" นายคำนูณ กล่าวทิ้งท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,162 วันที่ 2 - 4 มิถุนายน พ.ศ. 2559