การประปาภูมิภาคพ้นวิกฤติแล้ว เสริมแกร่งสร้างแหล่งน้ำดิบ

30 พ.ค. 2559 | 01:30 น.
การประปาส่วนภูมิภาค(กปภ.) เป็นอีกหน่วยงานที่ต้องร่วมรับมือวิกฤติภัยแล้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจการจัดหาน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภค ที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก วันนี้ "จิรชัย มูลทองโร่ย" ประธานกรรมการ กปภ. ให้สัมภาษณ์พิเศษ "ฐานเศรษฐกิจ" ยืนยันพ้นวิกฤติแล้ว และจากบทเรียนที่ผ่านมาจะทำให้กปภ.เข้มแข็งยิ่งขึ้น ในการทำหน้าที่จัดหาน้ำสะอาดบริการประชาชนต่อไปในอนาคต ดังมีรายละเอียด

ผลการรับมือภัยแล้งของกปภ.

ในปี 2559 กปภ.ได้ประเมินสาขาที่มีทั้งสิ้น 234 สาขา อยู่ในข่ายจะประสบปัญหาภัยแล้ง 51 สาขาใน 32 จังหวัด จากปัญหาขาดน้ำดิบมาผลิตน้ำประปา จึงเร่ง 1. ถ้าแหล่งน้ำดิบอยู่ไกลเราก็ต้องต่อท่อเพื่อนำน้ำดิบมาผลิต 2.เพิ่มกำลังการผลิต 3.เจาะบ่อบาดาล และอื่น ๆ โดยเตรียมงบ 2.096 พันล้านบาท ทำ 68 โครงการเพื่อรับมือ อาจดูว่ามากแต่เราเห็นว่าเป็นการลงทุนเพื่อแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก

เราเริ่มกันตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2559 และทำมาตลอด โดยใน 68 โครงการที่วางไว้ มีถอนตัวยกเลิก 15 โครงการ เช่น การเจาะบ่อบาดาล เมื่อพบว่ามีน้ำพอแล้วก็ไม่ต้องเจาะ ที่ เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการตามสัญญา โดยในจำนวนนี้มีที่เสร็จแล้ว 7 โครงการ

ทั้งนี้ เราเร่งรัดให้ทันเดือนเมษายน-พฤษภาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเร่งรัดการต่อท่อน้ำดิบ การผลิตน้ำประปา ซึ่งก็ได้ผลตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ เช่น เร่งรัดการผลิตน้ำประปาที่ไพศาลี ที่เร่งให้เสร็จก่อนเดือนเมษายน วันที่ 12 เมษายนก่อนสงกรานต์ก็จ่ายน้ำได้ ที่ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรรณบุรี มีปัญหา เราก็ผลิตน้ำจากศรีประจันต์ วางท่อ 22 กิโลเมตรมาได้เรียบร้อยแล้วจ่ายน้ำได้แล้ว เป็นต้น

การแก้ปัญหาภัยแล้งปีนี้ต่างจากที่ผ่าน ๆ มา คือ ในเรื่องการบูรณาการ มีทั้งความร่วมมือระหว่างหน่วยงานชัดเจน เช่น กรมชลประทาน เอาพื้นที่เสี่ยง 51 สาขาของเราที่แจ้งไป เอาไปปรับแล้วประกบกับของกรมชลประทานเลยว่า ใน 51 สาขานี้พร้อมสนับสนุนน้ำให้เราได้แค่ไหนเพียงใด ทางกรมป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ก็คอยดูว่าพื้นที่ไหนแล้งขาดแคลน ก็พร้อมเอาน้ำไปสนับสนุนให้ กรมท้องถิ่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เข้ามาช่วยกันดูแลหมด ผมถือว่าปีนี้เป็นปีไฮไลต์การบูรณาการหน่วยงาน ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากมาย

หรือในวิชาชีพเดียวกัน คือกับการประปานครหลวง(กปน.) บางสาขาของเราเจอปัญหาน้ำเค็ม เช่นที่บางคล้า ฉะเชิงเทรา จนถึงปราจีนบุรี เป็นเขตติดต่อทางกปน.ก็ส่งน้ำมาช่วย หรือลูกค้าเราที่ดอนเจดีย์ ที่เพชรบุรี ร้องขอมา กปน.ก็ออกไปช่วย เรามีความร่วมมือกัน

นอกจากนี้ เรามีกระบวนการบริหารจัดการรับมือภัยแล้ง 3 เรื่อง เพื่อให้สต๊อกน้ำใช้ได้ยาวที่สุด คือวางไว้ให้ถึงเดือนมิถุนายน เพราะหลังจากนั้นคาดฝนจะตก แต่ขณะนี้ก็โชคดีเริ่มตกแล้ว โดยทำ 3 อย่าง คือ

1. ลดแรงดันน้ำในบางช่วงเวลาที่คนใช้น้อย จากที่ดำเนินการ 20 สาขา ก็เหลือ 11 สาขา 2. จ่ายน้ำเป็นบางเวลา ซึ่งตอนนี้ที่ยังต้องทำอยู่เหลือ 14 สาขา การแบ่งจ่ายอาจแบ่งเป็นตามเวลา เช่น งดช่วงดึก ๆ หรือแบ่งเป็นโซนเอ โซนบี สลับกันไป และ 3. น้ำเค็มบุกรุก จากเดิมมี 6-7 แห่ง ตอนนี้เหลือ 4 แห่ง คือ บางคล้า ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา บางปะกง ถึงวันนี้สถานการณ์ดีขึ้นเยอะแล้ว เราคลายกังวล เชื่อว่าพ้นวิกฤติแล้ว เพราะฝนมาเร็วกว่าปกติ เช่น ที่สวนผึ้ง ลำภาชีก่อนนี้น้ำแห้งตอนนี้เริ่มไหลมาแล้ว ผมบอกระวังน้ำท่วมแล้วกัน เร่งรัดให้ผันน้ำเข้าเก็บในแหล่งน้ำดิบแล้วจากการบริหารจัดการอย่างเข้มข้น ที่ผ่านมากปภ.เราไม่มีวันไหนเลยที่หยุดจ่ายน้ำ

สร้างความเข้มแข็งระยะยาว

แต่ลำดับต่อไปกปภ.ต้องแสวงหาแหล่งน้ำของตนเองมากขึ้น จากเดิมที่อาศัยแหล่งน้ำดิบจากคนอื่น โดยส่วนใหญ่คือ กรมชลประทาน ซึ่งก็ยังคงต้องเป็นแหล่งหลักต่อไป แต่เราเองต้องไปเตรียมหาสำรองไว้เพิ่มเติม ต้องหาแหล่งน้ำของเราเองให้มากขึ้น ประสบการณ์จากทั้งน้ำท่วมและภัยแล้งเป็นบทเรียนให้ต้องปรับตัว

1. แหล่งน้ำในพื้นที่ จะเป็นห้วย หนอง คลอง บึง จะเป็นของใคร กปภ.เราก็จะไปเจรจา ขอเข้าไปบำรุงรักษาบูรณะดูแลให้ และจะขอใช้ในภาวะที่จำเป็น ต้องขอใช้ บางพื้นที่บอกมีแม่น้ำแล้วยังไม่วางใจ ได้ให้สาขาออกสำรวจพื้นที่ตั้งแต่ปีที่แล้ว และให้ทำต่อ

2. โดยการไปขอซื้อที่ดินมาดำเนินการกักเก็บ เช่นที่เกาะพะงัน ซึ่งปีที่แล้วมีปัญหาน้ำขาดแคลนแต่ปีนี้ไม่มีปัญหา เพราะเรามีระบบผลิตน้ำอาร์โอ ผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ซึ่งเราสามารถผลิตได้ก็ไม่เดือดร้อน แต่อาจไม่พอและมีปัญหาระยะยาว บนเกาะพะงันมีขุมเหมือง 5-6 ขุมอยู่ตรงกลาง ก็มีแผนว่าจะขอซื้อที่ดินขุมเหมืองที่ว่า 18 ไร่ ถ้าได้ปัญหาจบเลย มีน้ำอยู่ 3 แสนลูกบาศก์เมตร

แผนลงทุนต่อไปต้องขอสนับสนุนจากรัฐเพิ่มเติม

แผนลงทุนของกปภ.ในช่วงปี 2560-2564 รัฐบาลมีนโยบายให้ขยายเขตผู้ใช้บริการประปา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ท่องเที่ยว ที่สร้างรายได้เข้าประเทศ โดยแหล่งท่องเที่ยวบนบกส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภูเขาที่คนนิยมไปช่วงฤดูหนาว ตรงนั้นระบบประปายังไม่สมบูรณ์ อาจมีระบบประปาภูเขา หรือประปาหมู่บ้าน กปภ.จะประสานกับพื้นที่ ว่าต้องการให้กปภ.เข้าไปสนับสนุนช่วยเหลือ เพื่อให้คำแนะแนะเชิงวิชาการกระบวนการผลิต หรือถ้าประสงค์จะให้กปภ.รับโอนมาบริหารจัดการเป็นของกปภ.เองเลย
ส่วนพื้นที่ท่องเที่ยวทางทะเล ตามเกาะแก่งที่เป็นเสน่ห์เมืองไทยนั้น บางเกาะกปภ.มีบริการน้ำประปาแล้ว เช่น เกาะสมุย โดยผลิตจากแหล่งน้ำบนเกาะ และระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ที่เราซื้อจากเอกชนมาในราคาลูกบาศก์เมตรละ 68 บาท แต่มาจำหน่ายในราคาเพียง 12 บาท

กปภ.ได้ลงทุนอีกกว่า 2 พันล้านบาท เพิ่มความมั่นคงระบบประปา มีโรงผลิตน้ำที่อ.พุนพิน แล้วเดินท่อส่งน้ำผ่านอ.เมือง อ.กาญจนดิษฐ์ อ.ดอนสัก ไปลงทะเลที่อ่าวท้องเนียน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ส่งน้ำไปขึ้นที่เกาะสมุย จะเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 นี้ เติมน้ำประปาให้ได้อีกชั่วโมงละ 2 พันลูกบาศก์เมตร โดยตามเส้นท่อเราจะทำท่อจ่ายให้บริการน้ำประปาแก่ชุมชนรายทางได้ ก็จะได้ประโยชน์กันทั้ง 6 อำเภอ เราเห็นความขมขื่นที่ผ่านมามีท่อผ่านหน้าบ้านแต่ขอประปาไม่ได้ เพราะเป็นท่อส่งท่อเมน จากนี้ไปได้ใช้ด้วยแน่

เสม็ดโมเดล

ที่สำคัญการประชุมล่าสุด ได้บรรลุความร่วมมือในลักษณะประชารัฐครั้งสำคัญ คือ จังหวัดระยอง องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และกปภ. ได้เห็นชอบในหลักการร่วมกันแล้ว ที่จะร่วมมือลงทุนส่งน้ำประปาทางท่อจากฝั่งไปให้บริการบนเกาะเสม็ด ซึ่งเป็นความต้องการของพื้นที่มานับสิบปีแล้ว

โดยแต่ละฝ่ายให้กลับไปตั้งโครงการในปีงบประมาณ 2560 ของตนเอง กปภ.จะหางบเหลือจ่ายจากโครงการต่าง ๆ มาลงทุนประมาณ 60 ล้านบาท วางท่อจากบ้านเพไปถึงบ่อพักน้ำเขาแหลมหญ้า ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทางอุทยานฯแล้ว ทางอบจ.จะลงทุนกว่า 200 ล้านบาท ทำโรงดันน้ำและวางท่อจากเขาแหลมหญ้าลงทะเลไป 4 กิโลเมตร ไปขึ้นเกาะเสม็ด เพื่อกระจายการให้บริการน้ำบนเกาะ โดยทางจังหวัดได้สนับสนุนการประสานงานและเตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว ถ้าเป็นตามแผน ใช้เวลาก่อสร้างดำเนินการ 3-4 เดือน ปีหน้าบนเกาะเสม็ดได้ใช้น้ำประปาแน่นอน และเชื่อว่าน้ำจะถูกลงจากที่ต้องซื้อน้ำดิบจากเรือคิวละ 120 บาท

"กปภ.ได้ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ในระยองมานับสิบปี ถึงเวลาที่เราต้องตอบแทนคืนให้คนระยองแล้ว โดยร่วมลงทุนวางท่อแล้วขายน้ำให้อบจ. นำส่งใต้ทะเลไปให้บริการบนเกาะเสม็ดต่อไป เพราะมีนักท่องเที่ยวปีละเป็นล้าน"

ความร่วมมือในลักษณะที่ท้องถิ่นมาร่วมลงทุนตามแนวทางประชารัฐนี้ จะเป็นโมเดลที่กปภ.พร้อมขยายไปใช้กับพื้นที่อื่น ๆ โดยเวลานี้หลายจังหวัดแจ้งความจำนงให้กปภ.เข้าไปดำเนินการแล้ว อาทิ เกาะช้าง จ.ตราด ซึ่งกปภ.จะเข้าไปตั้งโรงผลิตน้ำโดยใช้โมบายแพลนต์ให้ก่อนเลย พร้อมกับสำรวจทางเลือกว่าจะหาแหล่งน้ำดิบบนเกาะได้เพียงพอหรือไม่ต่อไป รวมถึงเกาะลันตา จ.กระบี่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,161
วันที่ 29 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559