ก.แรงงานแนะ‘ปลูกฝังนิสัยความรับผิดชอบ’ สร้างเด็กในวัยเรียนสู่วัยทำงาน

25 พ.ค. 2559 | 09:57 น.
ก.แรงงาน หารือสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) แนะ!! การทำงานต้องเริ่มต้นจากการศึกษา ทั้งภาควิชาการ ทักษะ ภาษา เน้น ‘การปลูกฝังนิสัยความรับผิดชอบ’ พร้อมสร้างเด็กสู่วัยแรงงานที่ตอบโจทก์ความต้องการของสังคมในอนาคต

หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในการหารือกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ที่ขอเข้าพบเพื่อรับคำแนะนำในการพัฒนาแผนงานสร้างเสริมคุณภาพการเรียนรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในเขตพัฒนาเศรษฐกิจเศรษฐกิจพิเศษ 4 จังหวัด (ตราด ตาก สระแก้ว และหนองคาย) ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกรอบการดำเนินงานไว้ ณ ห้องประชุมปลัดกระทรวงแรงงาน ชั้น 5 ว่า การทำงานต้องเริ่มต้นที่การศึกษา การปูพื้นฐานของเด็กตั้งแต่ระดับการศึกษาถือเป็นสิ่งสำคัญ ต้องได้ทั้งองค์ความรู้วิชาการ ทักษะ ภาษา สิ่งสำคัญต้องปลูกฝังนิสัยความรับผิดชอบ ต้องสร้างเด็กที่ตอบโจทก์ความต้องการของสังคมในอนาคต เพราะนายจ้างต้องการเด็กที่คิดเป็น มีระเบียบวินัย มีทักษะที่จำเป็นที่จะต้องรู้ในสาขาอาชีพนั้นๆ  ที่ผ่านมากระทรวงแรงงาน มีโครงการนำร่องเพื่อปลูกฝังเด็กในวัยเรียนก่อนที่จะเข้าสู่การประกอบอาชีพ  อย่างไรก็ตาม หากมองไปถึงอนาคต เรื่อง 4.0 รากฐานสำคัญปูพื้นมาจากระบบการศึกษา ในการที่จะต้องเพิ่มความรู้ต่างๆ เพื่อมาต่อเชื่อม ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะเพิ่มเติมเรื่องของทักษะ โดยการจัดโครงการที่จะพัฒนาองค์ความรู้ การจัดการ และการเพิ่มทักษะอื่นๆ

“การทำงานต้องเริ่มต้นจากการศึกษา ฉะนั้นการปูพื้นฐานของเด็กตั้งแต่ระดับการศึกษาถือเป็นสิ่งสำคัญ ต้องทำให้เด็กได้องค์ความรู้ ทั้งภาควิชาการ ทักษะ ภาษา แต่สิ่งสำคัญต้องปลูกฝังนิสัยความรับผิดชอบ ต้องสร้างเด็กที่ตอบโจทก์ความต้องการของสังคมในอนาคต เพราะนายจ้างต้องการเด็กที่คิดเป็น มีระเบียบวินัย มีทักษะที่จำเป็นที่จะต้องรู้ในสาขาอาชีพนั้นๆ” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว

สำหรับการหารือกับทาง สสค. นั้น ทาง สสค. ได้แจ้งถึงกลุ่มเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานของ สสค.  รวมถึงกลุ่มเป้าหมายที่จะทำร่วมกันต่อยอดจากระทรวงศึกษาธิการและต่อยอดมาถึงกระทรวงแรงงาน เบื้องต้นแบ่งกลุ่มเป้าหมายไว้ 3 กลุ่ม กลุ่มแรก เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ซึ่งอยู่ในระบบการศึกษา โดยกระทรวงแรงงานมองว่า สสค. จะต้องทำร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการอย่างเดียว ซึ่งกระทรวงแรงงานได้เสนอแนะว่าเด็กกลุ่มนี้ยังคงเข้าสู่ตลาดแรงงานไม่ได้ เพราะยังอยู่ในระบบการศึกษา กลุ่มที่ 2 อายุ 15 ปีขึ้นไปที่จบการศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3) แล้ว ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ตรงกัน กระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้มีการฝึกอาชีพเพื่อเตรียมสู่การทำงานไว้ตลอด กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่จะเพิ่มสัดส่วนเยาวชนที่สำเร็จวุฒิการศึกษาสายอาชีพให้มากขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้สัดส่วนกำลังคนที่สำเร็จอาชีวศึกษาและสายสามัญจากเฉลี่ย 34 : 66 ในปัจจุบัน เป็น 50:50 ในพื้นที่ 4 จังหวัด โดยเป็นกลุ่มที่จะมีการต่อยอดของกลุ่มอาชีวศึกษาที่จบประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ด้วยการฝึกอบรมหลักสูตรที่ใช้ทรัพยากรของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในส่วนที่ใช้มาตรฐานฝีมือแรงงานวัดทักษะก่อนเด็กเข้าสู่ตลาดแรงงานเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของตลาดแรงงานในอนาคต