ชี้ดอกเบี้ยถูกลดต้นทุนบิ๊กโปรเจ็กต์ สำนักงานบริหารหนี้แนะชิงจังหวะเร่งกู้ลงทุน/ยันหนี้สาธารณะไม่เกิน 45%

28 พ.ค. 2559 | 08:00 น.
สบน.มั่นใจ อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันหนุนกู้ต้นทุนต่ำขณะที่บางหน่วยงานเริ่มหันมาปรับแผนกู้ พร้อมจับตาเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย อาจมีผลต่อเงินทุนไหลออก แจงดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันยังเอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ยันเดินหน้ากู้ตามแผนลงทุนบิ๊กโปรเจ็กต์ ยันหนี้สาธารณะไม่เกิน45%

[caption id="attachment_56457" align="aligncenter" width="371"] สุวิชญ โรจนวานิช สุวิชญ โรจนวานิช[/caption]

นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้หารือกับประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ไทยจะกู้เงินจากเอดีบี วงเงินประมาณ 300-500 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1-1.7 หมื่นล้านบาท สำหรับการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เช่น โครงการรถไฟฟ้าและถนน นอกจากการขอรับความช่วยเหลือทางวิชาการเรื่องการพัฒนาโครงสร้างระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (อี-เพย์เมนต์) ความร่วมมือลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) โดยภาครัฐต้องการให้เอกชนมีส่วนร่วมดำเนินการโดยเฉพาะในด้านคมนาคมขนส่ง

ด้านนางสุณี เอกสมทราเมษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน ในฐานะรองโฆษก สบน. กล่าวว่า จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะยืนในอัตรา 1.5% ต่อเนื่อง ถือเป็นอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมต่อการกระตุ้นในสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เนื่องจากมองว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดทั้งในและต่างประเทศแนวโน้มยังอยู่ระดับต่ำ จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะสามารถกู้เงินทั้งจากต่างประเทศที่มีการเสนอให้ไทยกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าปกติ แต่ขณะนี้ยังไม่กำหนดสัดส่วนการกู้ระหว่างในประเทศและต่างประเทศ แต่จะพิจารณาตามความเหมาะสมของอัตราดอกเบี้ย ณ ขณะนั้นมากกว่า

"สบน. ถือว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ไทยสามารถลดต้นทุนจากการกู้เงินได้ดีมากกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา หากปี 2559 ตามแผนการกู้เงินเพื่อนำมาลงทุนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ 1-2 แสนล้านบาทแล้ว ยืนยันว่าจะไม่ส่งผลต่อสถานะของหนี้สาธารณะของไทยที่จะไม่ขยับขึ้นไปถึง 50% หรือเกินกว่าเพดานที่กำหนดโดยคาดว่าภายในสิ้นปีนี้หนี้สาธารณะของไทยจะอยู่ในระดับไม่เกิน 45 จากปัจจุบันอยู่ที่ 44.03%"นางสุณีกล่าวและว่า

อย่างไรก็ดี สบน.ได้จับตาสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยในตลาดโดยเฉพาะหากกรณีที่สหรัฐอเมริกาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจส่งผลทำให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออก และอาจส่งผลต่อการบริหารจัดการหนี้

ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน ในฐานะรองโฆษก สบน.กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีหลายหน่วยงานที่ส่งแผนเพื่อยื่นเรื่องสำหรับการลงทุนจากเดิมมีการทำแผนกู้สำหรับการลงทุนในช่วงปี 2559 แต่ภายหลังพัฒนาการมีการเปลี่ยนไป หน่วยงานต่างๆเหล่านี้ได้มีการปรับแผนโดยเน้นใช้เงินภายในหน่วยงานของตัวเองนำมาลงทุนมากขึ้น รวมถึงมีการลดสัดส่วนการกู้ให้ลดลงเช่น การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (egat) เป็นต้น ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่อนาคตมีแนวโน้มที่หนี้สาธารณะของไทยจะไม่ขยายตัวเพิ่มขึ้น

สำหรับหนี้สาธารณะคงค้าง ณ 31 มีนาคม 2559 ว่ามีจำนวน 6.01ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 44.03% ของ GDP แบ่งเป็นหนี้ของรัฐบาล จำนวน 4.43 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นสุทธิ 1.63 หมื่นล้านบาทเศษ หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน จำนวน 1.03 ล้านล้านบาท ลดลงสุทธิ 4,571.53 ล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) จำนวน 5.25 แสนล้านบาท ลดลงสุทธิ 2,999.26 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ จำนวน 1.65 หมื่นล้านบาท ลดลงสุทธิ 898.73 ล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า หนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นสุทธิ 7,862.69 ล้านบาท

ขณะที่หนี้ของรัฐบาล จำนวน 4.43 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นสุทธิ 1.63หมื่นล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจากการกู้เงินเพื่อการลงทุนจากแหล่งเงินกู้ในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 5,759.52 ล้านบาท ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 การกู้เงินเพื่อให้กู้ต่อ จำนวน 5,586.43 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จำนวน 950.44 ล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีเขียว และสายสีม่วง การรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 4,635.99 ล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง และโครงการปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัย 8 สายทาง

ส่วนที่ 2 การกู้เงินบาททดแทนการกู้เงินตราต่างประเทศ จำนวน 172 ล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL) และ ส่วนที่ 3 การเบิกจ่ายเงินกู้สำหรับโครงการก่อสร้างทางสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ของกรมทางหลวง จำนวน 1.09 ล้านบาท

ทั้งนี้ การกู้เงินล่วงหน้า เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศ จำนวน 2 หมื่นล้านบาท เพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่ออกภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจ กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 ที่จะครบกำหนดในวันที่ 9 มิถุนายน 2559 ส่วนการชำระหนี้เงินต้น และดอกเบี้ย จากหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง จำนวน 9,564.85 ล้านบาท แบ่งเป็น การชำระคืนหนี้เงินต้นที่รัฐบาลให้กู้ต่อแก่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จำนวน 730 ล้านบาท การชำระดอกเบี้ย จำนวน 8,834.85 ล้านบาท

ขณะที่ การชำระหนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยใช้เงินจากบัญชีสะสม เพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นชำระเงินต้น จำนวน 8,300 ล้านบาท และชำระดอกเบี้ย จำนวน 3,778.84 ล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,160 วันที่ 26 - 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2559