ธนสิทธิ์ เธียรกาญจนวงศ์ เมื่อเป็นบริษัทมหาชน ต้องตื่นตัว ทำงานเต็มที่ อนาคตต้องชัด

28 พ.ค. 2559 | 02:00 น.
ตั้งแต่อดีตที่คนไทยรู้จักกับกล้องไปไหนๆก็ต้องถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกเตือนใจ ทั้งบุคคลอันเป็นที่รักและสถานที่ที่ประทับใจ บางคนคลั่งไคล้ถึงกับต้องสะสมกล้องเป็นงานอดิเรก แม้ว่ายุคนี้โทรศัพท์ก็นำมาใช้ถ่ายภาพแทนกล้องได้ แต่สำหรับคนรักกล้องแล้วต้องบอกว่าอารมณ์มันต่างกัน ความนิยมจุดนี้นี่เองทำให้ธุรกิจกล้องและอุปกรณ์ยังสามารถเติบโตได้.... “ธนสิทธิ์ เธียรกาญจนวงศ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิ๊ก คาเมร่า คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) (BIG) นับเป็นทายาทรุ่นที่ 2 เป็นลูกชายคนโตของ “ชาญ เธียรกาญจนวงศ์” ผู้ที่มีประสบการณ์ในธุรกิจกล้องถ่ายภาพและอุปกรณ์ร่วม 30 ปี เริ่มจากการทำธุรกิจค้าส่งอุปกรณ์ถ่ายภาพที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ

ด้วยวิสัยทัศน์ ในการมองเห็นการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกอุปกรณ์ถ่ายภาพ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต “ชาญ” ผู้พ่อจึงได้ก่อตั้งบริษัท บิ๊ก คาเมร่า จํากัด ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 1 ล้านบาท เมื่อ 15 ปีที่แล้ว และเริ่มขยายธุรกิจค้าปลีกอุปกรณ์ถ่ายภาพ เข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ หรือโมเดิร์นเทรด โดยมีห้างคาร์ฟูร์สาขาสุวินทวงศ์ เป็นสาขาแรกของ BIG Camera ขณะที่ปัจจุบันมีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ 240 สาขา และถือเป็นผู้นำด้านโซลูชันการถ่ายภาพอันดับ 1 ของประเทศไทย

ปี 2557 ชื่อบิ๊ก คาเมร่า ผงาดอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขณะที่ปัจจุบัน( ณ 19 พ.ค.59 ) หุ้นบิ๊ก คาเมร่า มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือมาร์เก็ตแคปถึง 1.2 หมื่นล้านบาท โดย “ธนสิทธิ์”ได้รับไม้ต่อจากบิดาในการถือหางเสือ บิ๊ก คาเมร่า ด้วยวัย 34 ปี มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน

“คุณพ่อให้ไดเร็กชันว่า 3-5 ปี เราจะโตไปอย่างไร จริง ๆแล้วคุณพ่อไม่อยากให้บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะเราอยู่ได้ด้วยตัวเอง คุณพ่อมองว่าจะเข้าหรือไม่เข้าก็ไม่เป็นไร แต่เราปรับระบบองค์กรภายในไว้เรียบร้อย สุดท้ายจึงใช้วิธีเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯทางอ้อม หรือแบ็กดอร์ ลิสติ้ง”

“ธนสิทธิ์” เล่าความทรงจำให้ฟังว่า ตอนทำธุรกิจค้าส่ง เขาและน้อง ๆ ช่วยกันแพ็กของ และตอนนี้มีน้องชายมาช่วยงานด้านการตลาด และสมัยก่อนคนไม่กล้าเข้าร้านขายกล้องและอุปกรณ์ถ่ายภาพ ในอดีตร้านบิ๊ก คาเมร่า จะเป็นตู้ใหญ่ๆ เน้นหน้าร้าน

“ตอนนั้นผมยังเป็นนักเรียนใส่ขาสั้นอยู่เลย คุณพ่อก็จะสอนเรื่องการทำงาน ทำให้ซึมซับมาเรื่อยๆ”

อย่างไรก็ตาม เส้นทางค้าปลีกกล้องถ่ายภาพและอุปกรณ์ ของบิ๊ก คาเมร่า เริ่มเมื่อปี 2540 ที่ต้องเจอมรสุมลูกใหญ่ คือ เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง “ธนสิทธิ์” เล่าว่า บริษัทเจอลูกค้าเบี้ยวหนี้ และจากบทเรียนที่ได้ คือ ทำให้เข็ดเรื่องการใช้เงินเกินตัว ส่งผลให้ตอนนี้บริษัทไม่มีหนี้สินเลย

“พอธุรกิจเราใหญ่ขึ้น แข็งแรงขึ้น เราได้เงินกู้เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนจากแบงก์ 100 ล้านบาท เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว โดยมีจำนวนสาขา 100 สาขา มียอดขาย 1 พันล้านบาท ในขณะนั้น”

เขาเล่าว่า ธุรกิจกล้องถ่ายภาพบูมสุดปี 2555 ตอนนั้นตลาดกล้องถ่ายภาพและอุปกรณ์ มีมูลค่าหมื่นกว่าล้านบาท ขณะที่บิ๊ก คาเมร่า มีส่วนแบ่งตลาด 20 % ต่อมาบิ๊ก คาเมร่า จึงได้ปรับตัวหลังมีตลาดสมาร์ทโฟนเข้ามา โดยปีที่แล้วเซ็กเมนต์นี้มี 20 ล้านเครื่อง บิ๊ก คาเมร่า ขอแบ่งเค้กหรือขอส่วนแบ่งตลาดประมาณ 5 % ของตลาดสมาร์ทโฟน หรือ 1 ล้านเครื่อง ก็ถือว่ามากแล้ว

“ปี 2555 ตลาดสมาร์ทโฟนโตมาก ถัดมาปี 2556 ตลาดกล้องถ่ายภาพปรับตัวลงแรงถึง 40 % แต่บิ๊ก คาเมร่า ยอดขายปรับตัวลงแค่ 7 % เนื่องจากเรามีการเตรียมตัวด้วยการฝึกอบรมพนักงานมาเรื่อย ๆขณะที่ตัวแทนจำหน่ายกล้องถ่ายภาพรายใหญ่ๆหายตัวไป”

พี่ชายคนโตของครอบครัวบิ๊ก คาเมร่า บอกถึงหลักการบริหารงานและบริหารคน ซึ่งปัจจุบันมีพนักงานที่ต้องดูแล 800 ชีวิต จากจำนวนสาขาทั่วประเทศ 240 สาขา โดยหลักบริหารคนจะเน้นการทำงานแบบทีมเวิร์ก มีการเทรนและให้ความรู้แก่พนักงาน มีการทำเวิร์กช็อป ที่สำคัญขาดเสียไม่ได้ คือ การมีสวัสดิการกระตุ้น และบิ๊ก คาเมร่า เป็นบริษัทที่ให้ผลตอบแทนกับพนักงานดีที่สุด

“ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติไม่ใช่ว่าใครคนใดคนหนึ่ง หรือคนเพียงคนเดียวจะแก้ไขอะไรได้ เวลามีปัญหา ครอบครัวของเราจะช่วยกันคิด ช่วงเศรษฐกิจดีก็มีคนเจ๊ง และช่วงวิกฤติก็ยังมีคนรอด ขณะที่องค์กรของบิ๊ก คาเมร่า ค่อนข้างไดนามิก โดยเราไม่ได้มองว่าเราอยู่กับเทคโนโลยี แต่เราอยู่กับไลฟ์สไตล์ของคน ดังนั้นกลยุทธ์ของเราคือ เป็นโซลูชันของการถ่ายภาพทั้งหมด“

จากกลยุทธ์ หลักคิด และปรัชญา การทำธุรกิจของบิ๊ก คาเมร่า ที่มี “ธนสิทธิ์” เป็นผู้กุมหางเสือ มีน้องชายร่วมเรือลำเดียวกัน และที่สำคัญมีบิดาเป็นพี่เลี้ยง ได้สะท้อนออกมาที่ผลการดำเนินงานซึ่งเติบโตต่อเนื่อง โดยไตรมาส 1/2559 มีรายได้รวม1.39 พันล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันปีก่อน 42% มีกำไรสุทธิ 234 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 221% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยได้รับปัจจัยหนุนจากตลาดกล้องถ่ายภาพที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกล้อง Mirrorless ที่ขยายตัวแรงต่อเนื่อง และการยกระดับการขยายสินค้ากล้องถ่ายภาพในระดับไฮเอนด์ ทำให้มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงมากขึ้น

ขณะที่ “ธนสิทธิ์”กล่าวว่าในปีนี้ บริษัทตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งตลาดเป็น 65% จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 55%ส่วนปี 2558 ตลาดกล้องและอุปกรณ์ถ่ายภาพมีมูลค่าการตลาด 6.5 พันล้านบาท และปี 2560 มาร์เก็ตแชร์ไม่น้อยกว่า 70% ภายใต้แผนการตลาดที่ทำในเชิงรุก เพื่อขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้น
ส่วนเป้าหมายก่อนบรรทัดสุดท้ายของงบการเงิน คือ รายได้ เขาบอกว่าตั้งเป้าเติบโตไม่ต่ำกว่า 15% จากปีก่อนที่มีรายได้ 4.7 พันล้านบาท
ปิดบรรทัดสุดท้ายที่เป้าหมายส่วนตัว “ธนสิทธิ์”บอกว่า บิ๊ก คาเมร่า มาจากธุรกิจครอบครัว ถึงตอนนี้เป็นบริษัทมหาชน นั่นก็หมายถึงต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นทุกราย ทำให้ต้องตื่นตัว ต้องทำงานเต็มที่มากขึ้น อนาคตบริษัทก็ต้องชัดเจนมากขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,160 วันที่ 26 - 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2559