รัฐ-เอกชนกับ ‘ท้องถิ่น’ ‘PPP…การพัฒนาสาธารณูปโภคหลัก’

28 พ.ค. 2559 | 09:00 น.
การกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีที่สุดของประเทศอย่างหนึ่ง คือ การสร้างระบบสาธารณูปโภค (Infrastructure) พื้นฐานในขณะที่ประเทศกำลังจะพัฒนา หรือกำลังก้าวกระโดด สาธารณูปโภคต้องดีและต้องยกระดับให้เป็น Modern ของ Infrastructures

ประเทศไทยก็กำลังทำเช่นนั้น ทุกรัฐบาลหันมาให้ความสนใจใน "การลงทุนภาครัฐด้วยสาธารณูปโภค" โดยเฉพาะในยุค คสช.ทั้งกระตุ้น ทั้งเร่งรัดการลงทุนสาธารณูปโภคที่สำคัญ คือ ระบบรางทั่วประเทศ ทั้งในกรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล ขนส่งทั้งคนและสินค้า โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) อีกทั้งยังมีทางน้ำ ทางอากาศ และการเชื่อมต่อระหว่างระบบ ทั้งต้องการลงทุนด้านการจัดระบบน้ำ ใช้ทั้งการเกษตร อุปโภค บริโภค ก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร ปีนี้แล้งมากทั้งๆที่เรามีฝนตกทุกปี เก็บน้ำไม่เป็นระบบ กระจายน้ำไม่เป็น เป้าหมายระยะสั้นรัฐก็จะลงทุนประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท ไม่ถึง 5 ปีจะจัดทำระบบทั้งหมดสร้างเป็นฐานสาธารณูปโภคหลักให้เศรษฐกิจได้ มีมาตรฐานการก้าวกระโดดสู่อนาคต

[caption id="attachment_56965" align="aligncenter" width="500"] ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน[/caption]

แต่รัฐจะมีเงินจากภาษีมาก่อสร้างได้พอเพียงหรือ???? รัฐต้องใช้เงินในการสร้างพัฒนาสังคม คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ความเป็นอยู่ของคนจน ผู้ด้อยโอกาส

วิธีการทั่วโลกที่จะเพิ่มขนาดการลงทุนให้พอเพียง คือ "การนำเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน" ซึ่งเรียกกันว่า พีพีพี(Public Private Participation : PPP) หรือจะให้สัมปทาน(Public Concession) ในอดีตเราให้แต่สัมปทาน เช่น เหมืองแร่ สัมปทานตัดไม้ ในด้านสาธารณูปโภคก็มีเช่น รถไฟฟ้าบีทีเอส ระบบขนส่งมวลชนในเมืองใหญ่ ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี แต่ที่กำลังฉาวโฉ่คือการให้สัมปทานเครือข่ายสื่อสารและระบบอาณัติสัญญาณสื่อสารความถี่ต่างๆขณะนี้ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่จะเกิดช่องว่างคอร์รัปชันได้

ในด้านสาธารณูปโภคและการพัฒนาพื้นที่เมืองเจ้าของหน่วยงาน เช่น กรมธนารักษ์(ดูการใช้ที่ดินของชาติ) ท้องถิ่น เช่น กรุงเทพมหานคร หรือสมบัติรัฐ เช่น รถไฟ กรมป่าไม้ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การทำสนามบินก็ให้เช่าโครงการต่อเอกชน เป็น Concession ยาวสุดคือ 30 ปี (ควรจะยืดเป็น 60-99 ปี) เหมือนนานาชาติ และเออีซี(AEC) ได้แล้ว และกรณีระดมการลงทุน PPP ระดับหน่วยงาน เช่น ร.ฟ.ท. และรฟม.ในขณะนี้

PPP คืออะไร ก็คือการ "เชิญชวนเอกชนมาร่วมลงทุนกับรัฐ" พัฒนาสาธารณูปโภคของประเทศ มิใช่ให้แต่สัมปทานเช่นในอดีต ข้อดีก็คือ 1.รัฐไม่ต้องลงทุนเองทั้งหมด(เงินภาษีจะได้เอาไปใช้ด้านอื่นที่เป็นประโยชน์อย่าเอาไปเป็นช่องการฉ้อฉล) 2.ได้นำเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจากภาคเอกชนมาใช้ 3.จะได้สามารถจัดหาบุคลากรที่มีความสามารถและคุณภาพที่ดีมาใช้ 4.เป็นการกระจายการกระตุ้นเศรษฐกิจการลงทุนออกไปทุกท้องถิ่น มิใช่เฉพาะในเมืองใหญ่ 5.การหาทุนก็สามารถหาได้โดยตรงให้มีความคล่องตัว

[caption id="attachment_56964" align="aligncenter" width="500"] ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน[/caption]

ส่วนเสียก็มี 1.กฎเกณฑ์ทางราชการ เช่น พ.ร.บ.ร่วมทุนล้าสมัยไปแล้ว (ใช้เวลามาก เพดานการลงทุนก็น้อย เช่น 1,000-5,000 ล้านบาท ใช้เวลาขออนุญาตร่วม 5-10ปี กว่าจะผ่านได้) 2.การบริหารจัดการต้องเป็นรัฐวิสาหกิจที่เป็นเอกชนเต็มตัว มีบริการทันสมัย องค์กรทันสมัย ไม่เป็นราชการ อาจจะบังคับให้มีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยก็ได้ 3.การต่อต้านของประชาชน ผู้เสียประโยชน์ถ้าถูกเวนคืน เช่น การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ทางด่วน แม้เป็นท่าเรือ สนามบิน สวนสาธารณะ

วิธีการก็อาจจะทำอย่างอเมริกา คือ ประเมินราคาที่ดินสิ่งก่อสร้างให้เป็นหุ้นส่วนในองค์กรใหม่นี้ ในอังกฤษเรียกว่า Urban Corporation Development มีกฎหมายเฉพาะเวนคืนได้ แต่ต้องเป็นบรรษัทมหาชน ในอเมริกาเรียกว่า Urban Corporation Investment เอกชนมาร่วมลงทุน ก็มี เช่น นิคมอุตสาหกรรมทั้งหลาย เป็นรูปแบบอเมริกัน และเป็น One Stop Service ให้กับภาคเอกชนด้วย

PPP ที่ดีกว่านั้น คือ "เอกชนร่วมกับท้องถิ่น" เช่นเทศบาลตั้ง "บริษัทหรือบรรษัท" ร่วมกันเข้ามาขอ Concession จากรัฐส่วนกลางพัฒนาให้ตอบสนองความต้องการท้องถิ่น ไทยก็มีเช่น บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือเคทีของกรุงเทพมหานคร (โดยกทม.ถือหุ้นกว่า 90%) ส่วนที่ต่างจังหวัด นำร่องคือที่ขอนแก่น เรียกว่า "ขอนแก่นโมเดล" โดยหอการค้าจังหวัดจับมือกับเทศบาลเมืองขอนแก่นลงทุนทำโครงการรถโมโนเรลของเมืองขอนแก่น เป็นการกระจายการลงทุน รัฐส่วนกลางก็ไม่ต้องแบกภาระไปทั่วประเทศ และเป็นบริษัทที่เป็นนิติบุคคลของตัวเอง "หนี้สาธารณะก็ถูกคิดอีกแบบ มิใช่มาแบกเป็นหนี้สาธารณะของประเทศ"

แล้วเอา PPP ของท้องถิ่นมาขอเช่าสัมปทาน 30-60- 99 ปี ของหน่วยงานของรัฐเป็น "บรรษัทวิสาหกิจ" เช่น กทม.เช่าสวนรถไฟ 30 ปี 400 ล้านบาท จากร.ฟ.ท. เช่นเดียวกับขอนแก่นโมเดลกำลังขอเช่าที่สถานีขอนแก่นจากร.ฟ.ท.ซึ่งสถานีดังกล่าวนี้กำลังจะมีรถไฟหัวจรวดผ่านมาในอีกไม่กี่ปีนี้ เพื่อนำไปพัฒนา โดยจะขอสัมปทานมาทำมินิโมโนเรล 30 กิโลเมตรของจังหวัด รัฐบาลก็กำลังใจกว้างเปิดให้บรรษัทวิสาหกิจเข้ามาสัมปทานเป็น PPP รัฐวิสาหกิจ แต่ก็ต้องมองรัฐบาลเองว่าพร้อมหรือยัง เราคงต้องเฝ้ามองกระตุ้นจากท้องถิ่นและเอกชนที่ร่วมมือกันให้มากกว่าขอนแก่นโมเดลด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,160 วันที่ 26 - 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2559