การรถไฟยึดกรอบปี59 เมกะโปรเจ็กต์ต้องเซ็นสัญญา-ก่อสร้าง

24 พ.ค. 2559 | 10:00 น.
ตามที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จัดยุทธ์ศาสตร์กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการลงทุนขนาดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งนั้น ระบบรางจัดเป็นโครงการที่มีสัดส่วนการลงทุนก้อนใหญ่ โดยเฉพาะการรถไฟแห่งประเทศไทยมีบทบาทอย่างมาก ตรงที่มีการลงทุนโครงการใหม่ๆพาดผ่านทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูงที่เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างไทย-จีน และไทย-ญี่ปุ่น คิดแล้วมูลค่าการลงทุนของการรถไฟฯตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน ปี 2559 รวมกันกว่า 3.6 แสนล้านบาท "ฐานเศรษฐกิจ"สัมภาษณ์พิเศษ วุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ถึงความคืบหน้าภารกิจสนองนโยบายรัฐบาล

เร่งรถไฟทางคู่ 4+1 เป็นไปตามแผนรัฐบาล

ตามแผน ร.ฟ.ท.ต้องดำเนินการโครงการให้สำเร็จลุล่วงตามกรอบระยะเวลาคือภายในปี 2559 ประกอบด้วยโครงการรถไฟทางคู่ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน และโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟไทย-จีน และรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ต้องพยายามขับเคลื่อนให้เป็นไปตามแผนที่รัฐบาลอยากเห็น เพราะมีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ

โดยการรถไฟฯมีโครงการรถไฟทางคู่เร่งด่วนอยู่ทั้งสิ้น 6 เส้นทาง ดำเนินการไปแล้ว 2 เส้นทางคือ ช่วงคลองสิบเก้า-แก่งคอย และช่วงจิระ-ขอนแก่น ส่วนที่อยู่ระหว่างการดำเนินการอีก 4 เส้นทาง ซึ่งจะต้องหาผู้รับจ้าง (เซ็นสัญญา) และลงมือก่อสร้างให้ได้ในปี 2559 ได้แก่ ช่วงมาบกะเบา-จิระ, ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร, นครปฐม-หัวหิน และ ลพบุรี-ปากน้ำโพ กับอีกหนึ่งเส้นทาง หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งอาศัยมาตรา 44 ให้ดำเนินการในระหว่างการรอผลรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) เพื่อให้ได้ตัวผู้รับจ้าง แต่จะลงนามในสัญญาต่อเมื่อโครงการได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม

ดันโครงการเข้าคณะกรรมการคุณธรรม

เมื่อโครงการของการรถไฟมีจำนวนค่อนข้างมาก และแต่ละโครงการก็เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าการลงทุนค่อนข้างสูง ก็จะมีคำถามในสังคมเกี่ยวกับความโปร่งใส สำหรับผู้ที่ได้รับการว่าจ้างก็ไม่มีปัญหา แต่ผู้ที่ไม่ได้ก็อาจจะบอกว่าไม่โปร่งใส ดังนั้น คณะกรรมการ ร.ฟ.ท. และการรถไฟฯ มีความเห็นร่วมกันว่า 5 โครงการรถไฟทางคู่ที่จะต้องเร่งดำเนินให้แล้วเสร็จในปี 2559 จะนำเข้าสู่ระบบโครงการคุณธรรม เพื่อลดข้อครหาว่า การรถไฟฯ ทำเอง รู้กันเอง เพราะโครงสร้างของโครงการคุณธรรมนอกจาก ผมที่เป็นประธานแล้ว ยังมีภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมพอสมควร เช่น ภาคประชาชน ด้านองค์กรด้านคอร์รัปชั่นเข้ามาร่วมในโครงการนี้

เนื่องจากการรถไฟมีกรอบการดำเนินงานอยู่ ดังนั้น หากมีโครงการใดที่มีประชาชนตั้งข้อสงสัยว่าจะไม่โปร่งใส ก็คงจะต้องประชุมมากกว่าปกติจนกว่าจะจบ โดยจะยึดถือกรอบว่าภายในเดือนธันวาคม 2559 ทุกอย่างจะต้องดำเนินการได้หมด

"ผมคาดหวังว่าทุกโครงการจะสามารถคิกออฟได้ในเดือนธันวาคมนี้ เพราะขณะนี้เรามีเวลา 7 เดือนสำหรับการดำเนินการ ผมฝันว่าในเดือนพฤศจิกายนนี้ต้องมีการลงนามในสัญญาต่างๆบ้างแล้ว"

เมื่อนำร่อง 5 โครงการ ทำได้ เกิดการยอมรับ โครงการใหม่อื่นๆที่จะออกตามมา จะทำแบบเดียวกัน หากการทำงานมีมาตรฐานเดียวกันเชื่อว่าน่าจะทำให้สามารถลดข้อครหาลงไปได้บ้าง

หวังเสริมแกร่งโลจิสติกส์ระบบราง

วันนี้เป็นความตั้งใจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ที่จะขับเคลื่อนด้านโลจิสติกส์ และการรถไฟก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เช่นกัน โดย 60% เป็นเรื่องการขนส่ง และ 40% เป็นการให้บริการโดยสาร ดังนั้น โครงการรถไฟทางคู่ ถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ของการรถไฟ หลังจากหยุดนิ่งมาค่อนข้างนาน การเปลี่ยนแปลงไม่ได้มีเฉพาะรถไฟทางคู่ มีการวางแผนคู่ขนานกันไปว่าเมื่อทางคู่เสร็จแล้ว พัฒนาระบบอาณัติสัญญาณเป็นระบบอัตโนมัติเรียบร้อยแล้ว จะเพิ่มขบวนรถมากกว่าเดิม หากแล้วเสร็จจะเสริมตู้สินค้าใหม่ 308 ตู้ ในปลายปีนี้ และตู้โดยสารรุ่นใหม่อีก 115 ตู้ จะเริ่มทยอยเข้ามาในเดือนกรกฎาคมนี้จำนวนหนึ่ง จากนั้นวันที่ 11 ส.ค.2559 เปิดวิ่งเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการสร้างรายของการรถไฟ จากที่ขณะนี้ภาคการขนส่งของการรถไฟทำได้แค่ 3% ของภาพรวมระบบโลจิสติกส์ ในปีต่อไปอาจจะเพิ่มอีกเท่าตัวเป็น 6%

แผนล้างหนี้การรถไฟ

ส่วนภาพรวมของหนี้การรถไฟฯ ที่มองกันมีประมาณ 1 แสนกว่าล้านบาท แบ่งเป็นหนี้แอร์พอร์ตลิงค์กว่า 3 หมื่นล้านบาท และเป็นหนี้ที่รัฐบาลต้องรับภาระอีกกว่า 7 หมื่นล้านบาท ส่วนหนี้ที่เกิดจากการดำเนินการของการรถไฟฯจะมีบางส่วน

ขณะนี้ข้อตกลงที่ดินมักกะสัน เมื่อมีการตัดส่วนที่มีปัญหาออกบางส่วน อย่างเช่น ส่วนตัวโรงเรียน พื้นที่ 30 กว่าไร่ ทำให้จำนวนพื้นที่ลดลง เรื่องนี้ผมได้ประชุมร่วมกับกรมธนารักษ์วางกรอบระยะเวลาการส่งมอบพื้นที่ภายใน 2 ปี ตามที่ระดับนโยบายต้องการ เพื่อให้นักลงทุนที่สนใจได้เกิดความมั่นใจ

แต่เมื่อมีการตัดพื้นที่บางส่วนออก จำนวนหนี้ที่จะต้องหักล้างกัน ทาง ร.ฟ.ท.กับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) ต้องมาหารือกันถึงตัวเลขที่แน่ชัด ซึ่งมูลค่าที่ดินมักกะสันเต็มผืนมีมูลค่ากว่า 6หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังมีระยะเวลาการเช่าที่ดินจะเป็นระยะเวลาเท่าใด ขณะนี้ยังไม่นิ่งว่าจะเป็น 99 ปีหรือไม่

เร่งศึกษาแปลงที่ดินสถานีแม่น้ำและก.ม.11

ร.ฟ.ท.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาตามมาตรา 24 เพื่อจะเข้ากับ พ.ร.บ.ร่วมทุน ศึกษาความเหมาะสมพื้นที่หลายแปลง เช่น โครงการสถานีแม่น้ำ โครงการ ก.ม.11 และโครงการบางซื่อ โดยขณะนี้โครงการสถานีกลางบางซื่อ ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ ร.ฟ.ท.เมื่อเดือนเมษายน 2559 และอยู่ในระหว่างการปรับปรุงข้อมูลเพิ่มเติมตามความเห็นของคณะกรรมการ ร.ฟ.ท. ซึ่งแจ้งให้ที่ปรึกษาปรับปรุงและจัดส่งมาให้ภายในสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคมต่อไป และวันอังคารที่ 24 พ.ค.นี้ จะมีผลการศึกษาของที่ปรึกษาแล้วเสร็จ เข้ามาอีก 2 โครงการ คือ โครงการสถานีแม่น้ำ และ โครงการ ก.ม.11

"ขณะนี้การรถไฟฯเริ่มเปิดรับให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในหลายโครงการมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นกรุงเทพฯ-หัวหิน และ กรุงเทพฯ-ระยอง ผลการศึกษาเสร็จเรียบร้อย คณะกรรมการ ร.ฟ.ท.มีความเห็นเพิ่มเติมให้ที่ปรึกษา เราก็จะนำส่งกระทรวงคมนาคม ไป สคร. เพื่อไปสู่การแต่งตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 35 ต่อไป"

โดยโครงการพัฒนาพื้นที่ของการรถไฟฯ ทั้ง 3 แปลงที่กล่าวมา รวมทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูง ถูกบรรจุอยู่ในมาตรการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ หรือ พีพีพี ฟาสต์แทร็ก ทั้งสิ้น

แผนการดำเนินงานหลังปลดหนี้สำเร็จ

สิ่งหนึ่งที่ผมให้ความสำคัญในปัจจุบันคือการบริหารจัดการที่ดิน Non Coreเป็นที่ดินซึ่งไม่ได้ใช้เพื่อการเดินรถ ที่มีอยู่ค่อนข้างมากทั่วประเทศมีประมาณ 3 หมื่นกว่าไร่ จากที่ดินรวมของการรถไฟที่มีกว่า 1 แสนไร่ทั่วประเทศ โดยจัดแบ่งพื้นที่เป็น 3 กลุ่มคือ มีศักยภาพสูง ปานกลาง และต่ำ ที่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ ต้องปล่อยเป็นที่รกร้างว่างเปล่า โดยที่ดินที่มีศักยภาพของการรถไฟฯมีอยู่ในไพรม์ แอเรีย หลายแปลง เช่น ที่ดินมักกะสัน สถานีแม่น้ำ และ ก.ม.11 ตรงนี้จะเป็นทางรอดหนึ่งของการรถไฟฯ ขณะที่รายได้จากการเดินรถนั้นไม่สามารถขึ้นราคาได้ตามต้องการ เนื่องจากกิจการรถไฟเป็นการให้บริการกับผู้มีรายได้น้อย

"ในเรื่องที่ดินการรถไฟนี้ผมได้ประชุมร่วมกับ คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อเร็วๆนี้ ซึ่ง คนร.ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการที่ดิน ให้การรถไฟฯทำแผนเสนอไป โดยให้มีความชัดเจนมากกว่าเดิมภายในระยะ 30 วัน"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,159 วันที่ 22 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559