ดีลเลอร์มิตซูบิชิมะกันเฮรับนิสสัน มั่นใจดีลนี้ winwin ทั้ง 2 ฝ่ายคาร์ลอสเล็งบุกอาเซียน

25 พ.ค. 2559 | 06:00 น.
ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษา สมาพันธ์ดีลเลอร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกาของบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปฯ (MMC) ให้ความเห็นเกี่ยวกับข่าวการทาบทามซื้อหุ้นบริษัท MMC 34% โดยบริษัท นิสสัน มอเตอร์ฯ ด้วยมูลค่าถึง 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือกว่า 7.7 หมื่นล้านบาท) เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เขามองเห็นชีวิตใหม่ที่สดใสสำหรับแบรนด์มิตซูบิชิในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันมีดีลเลอร์อยู่ 361 ราย

“ใครที่เคยพูดว่ามิตซูบิชิ จะไปไม่รอดในตลาดสหรัฐฯ คงต้องกลับไปแก้ข่าวเสียใหม่” นายไรอัน กรีมอร์ ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายมิตซูบิชิในเมืองนอร์แมน รัฐอิลลินอยส์ และเป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษา สมาพันธ์ดีลเลอร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกาของบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปฯ กล่าว พร้อมให้ความเห็นว่า สถานการณ์ของมิตซูบิชิในตลาดสหรัฐฯไม่ค่อยดีนักแม้ในช่วงก่อนที่จะมีข่าวฉาวเกี่ยวกับการโกงค่าทดสอบอัตราการบริโภคน้ำมันของรถ จนหลายฝ่ายมองว่าสุดท้ายแล้วมิตซูบิชิอาจต้องถอนตัวเองออกจากตลาดเนื่องจากตัวสินค้าก็ขาดความสดใหม่ ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ทำให้หวนคิดถึงกรณีของบริษัท อีซูซุ มอเตอร์สฯ และซูซุกิ มอเตอร์ ที่ประสบชะตากรรมคล้ายๆกันและถอนตัวออกจากตลาดสหรัฐฯไปแล้วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

“การลงทุนของฝั่งนิสสันอาจจะทำให้มิตซูบิชิ มีรถยนต์รุ่นใหม่ๆที่ไฉไลออกมา และนั่นก็จะสร้างแรงกระตุ้นให้กับยอดขายซึ่งเป็นสิ่งที่ดีลเลอร์รอคอยมานาน” กรีมอร์กล่าว พร้อมอธิบายว่า คู่แข่งรายใหญ่อย่างโตโยต้านั้นขยันออกรถรุ่นใหม่ๆมาให้ลูกค้า เขาจึงหวังว่ามิตซูบิชิ จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ “ถ้าบริษัทมีรถใหม่มาให้เรา 3 รุ่น เราอาจจะทำยอดจองได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า” ข่าวระบุว่า ในปี 2558 มิตซูบิชิทำยอดขายในตลาดสหรัฐฯได้น้อยกว่าในปี 2557 ถึง 26% (ปี 2557 ทำยอดขายได้รวม 128,993 คัน) ส่วนแบ่งตลาดก็มีแค่น้อยนิดคือเพียง 0.6 % ขณะที่คู่แข่งที่เป็นบริษัทญี่ปุ่นเช่นกันสามารถทำกำไรและมีผลประกอบการที่ดีกว่า ซึ่งนั่นก็มีส่วนทำให้บริษัทหันไปให้ความสำคัญกับการขยายธุรกิจในตลาดอย่างไทยและรัสเซียในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

“เป็นเรื่องดีที่นิสสันมีแผนจะรักษาแบรนด์ของมิตซูบิชิเอาไว้และจะให้ความสนับสนุนเพื่อให้มิตซูบิชิเติบโตก้าวหน้าต่อไป” การประกาศท่าทีของนิสสัน ทำให้ดีลเลอร์บางรายคลายความวิตกที่ว่า เมื่อนิสสันเข้ามาแล้วอาจจะไม่ให้ความสำคัญกับแบรนด์มิตซูบิชิ หรืออาจจะยกเลิกสัญญากับบรรดาดีลเลอร์ของมิตซูบิชิในสหรัฐฯ

ด้านดีลเลอร์ของนิสสันในตลาดเอเชีย ก็มองว่า การจับมือของนิสสัน-มิตซูบิชิ ในครั้งนี้ น่าจะทำให้นิสสันได้ประโยชน์จากเครือข่ายของมิตซูบิชิในการบุกเจาะตลาดประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย เพราะก่อนหน้านี้ นิสสันได้บุกลงทุนในหลายประเทศของภูมิภาคนี้รวมทั้งอินโดนีเซีย มีการเปิดตัวรุ่นใหม่ๆ และเพิ่มเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายในตลาดใหญ่แห่งนี้

นอกจากนี้ในปี 2555 นิสสันยังได้ปัดฝุ่นนำแบรนด์ “ดัทสัน” (Datsun) กลับมาทำตลาดใหม่ในฐานะรถยนต์ราคาประหยัดหลังจากที่หายไปจากตลาดถึง 3 ทศวรรษ กระนั้นส่วนแบ่งตลาดของนิสสันในอินโดนีเซียก็ยังมีเพียง 2.5% ซึ่งตามหลังห่างๆจากมิตซูบิชิที่มีอยู่มากกว่าถึง 11% ดังนั้นการได้ครอบครองมิตซูบิชิ จึงเท่ากับเป็นการติดเครื่องเทอร์โบชาร์จให้กับนิสสันในการบุกภูมิภาคเอเชียและน่าจะเป็นหนึ่งในแรงจูงใจสำคัญที่อยู่เบื้องหลังดีลนี้

“ในอาเซียน มิตซูบิชิสามารถทำมาร์จินกำไรมากกว่า 7% ในปี 2558 ขณะที่เรา (นิสสัน) ทำมาร์จินติดลบ” คาร์ลอส กอส์น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของนิสสัน มอเตอร์ กล่าวกับสื่อเมื่อวันประกาศยืนยันการลงนามในข้อตกลงเบื้องต้นกับมิตซูบิชิเมื่อต้นสัปดาห์นี้ “จุดที่เป็นความแข็งแกร่งของมิตซูบิชิ คือจุดอ่อนของเรา ในอาเซียนมิตซูบิชิจะส่งเสริมเราได้อย่างมาก” ซีอีโอของนิสสันระบุ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,159 วันที่ 22 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559