ธนาคารแห่งประเทศไทยชี้เปลี่ยนชิปการ์ดต้องมีค่าธรรมเนียม

25 พ.ค. 2559 | 00:00 น.
แบงก์ชาติแจงทุกธนาคารจอออกบัตรใหม่ "ชิปการ์ด"โดยบัตรเดิมยังใช้ได้ถึง 31ธ.ค.59 แนะผู้ถือบัตรสอบถามเงื่อนไขก่อนใช้บริการหรือเทียบค่าธรรมเนียมผ่านเว็บไซต์/พร้อมชี้ความเสี่ยงชวดเงิน กรณี "ร้านค้าและสถานประกอบการ"ที่เลือกวิธีรับชำระเงินจากตัวแทนต่างประเทศที่ไม่อยู่ภายใต้กำกับทางการไทย

ตามที่มีข้อความเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับการออกบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตแบบชิปนั้น นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม2559 เป็นต้นไป ทุกธนาคารจะออกบัตรใหม่ในรูปแบบชิปการ์ด (Chip Card) ซึ่งมีความปลอดภัยมากกว่าบัตรแถบแม่เหล็กที่มีอยู่เดิม(Magnetic Card)ซึ่งยังใช้ทำธุรกรรมตามปกติไปจนถึง 31 ธันวาคม 2562 ซึ่งธนาคารพาณิชย์จะทยอยเปลี่ยนเป็น Chip Card เมื่อบัตรเดิมหมดอายุ โดยผู้ถือบัตรสามารถแจ้งความประสงค์ขอเปลี่ยนบัตรกับธนาคารผู้ออกบัตร โดยมีค่าธรรมเนียมตามอัตราและเงื่อนไขที่แต่ละแห่งกำหนด

ทั้งนี้ บางแห่งอาจยกเว้นค่าใช้จ่ายเปลี่ยนบัตร ให้เป็นการชั่วคราว แต่ช่วงแรกอาจมีเอทีเอ็มบางตู้ยังไม่พร้อมรองรับการใช้บัตรชิปต่างธนาคารจึงอาจไม่ได้รับความสะดวกบ้างดังนั้นผู้ใช้บริการควรสอบถามรายละเอียดเงื่อนไขได้โดยตรงก่อนตัดสินใจเลือกใช้บริการ หรือเรียกดูค่าธรรมเนียมเปรียบเทียบ ได้ที่ www.bot.or.th หรือที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท.โทร. 1213

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้ปรากฎมีตัวแทนให้บริการรับชำระเงินของผู้ให้บริการต่างประเทศที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่อยู่ภายใต้กำกับดูแลของทางการไทยมาให้บริการแก่ร้านค้าและสถานประกอบการในหลายจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว วัตถุประสงค์เพื่อรองรับการชำระค่าสินค้าและบริการของนักท่องเที่ยวต่างประเทศโดยลูกค้าไม่ต้องจ่ายเงินโดยตรงกับร้านค้าและสถานประกอบการในไทยนั้น ธปท.ได้แนะนำร้านค้าและสถานประกอบการเรื่องความเสี่ยงของร้านค้าและสถานประกอบการที่เลือกวิธีการรับชำระเงินจากผู้ให้บริการที่ไม่ได้รับอนุญาต

โดยระบุว่าการเลือกวิธีรับชำระเงินจากตัวแทนของผู้ให้บริการต่างประเทศที่ไม่ได้รับอนุญาตอาจมีความเสี่ยงในการไม่ได้รับชำระเงิน และสถานะทางกฎหมายของตัวแทนผู้ให้บริการ โดยเฉพาะกรณีที่เกิดข้อพิพาทระหว่างกัน เพราะไม่ได้รับความคุ้มครองจากทางการไทย ซึ่งสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์พ.ศ.2551ภายใต้การกำกับดูแลของทางการไทยได้จากเว็บไซต์ของธปท. https://www.bot.or.th/Thai/PaymentSystems/OversightOfEmoney/ListOfEmoney/Pages/eMoneyProvider.aspx หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ตามหมายเลขโทรศัพท์และ E-mail: [email protected]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,159 วันที่ 22 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559