ตัวเลขเศรษฐกิจและการส่งออกของจีนผ่อนคลายแรงกดดันในระยะสั้น.... แต่ยังไม่ยืนยันในสัญญาณการฟื้นตัว

19 พ.ค. 2559 | 11:15 น.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์เรื่อง“ตัวเลขเศรษฐกิจและการส่งออกของจีนผ่อนคลายแรงกดดันในระยะสั้น.... แต่ยังไม่ยืนยันในสัญญาณการฟื้นตัว”

ประเด็นสำคัญ

•การส่งออกจีนในเดือนเมษายน 2559 ยังคงหดตัวต่อร้อยละ 1.8 (YoY) โดยแม้แรงกดดันต่อภาคส่งออกจีนดูคลายตัวลง และคาดว่าจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีจากแผนการกระตุ้นของภาครัฐ แต่โดยภาพรวม คาดว่าการส่งออกจีนในปี 2559 ยังคงอยู่ในแนวโน้มหดตัวจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ยังคงอ่อนแอ

•การส่งออกไทยไปจีนไม่ได้รับอานิสงส์จากแรงกดดันที่ลดลงของภาคการส่งออกจีนนัก โดยตัวเลขการส่งออกไทยไปจีนในเดือนมีนาคมยังคงหดตัวร้อยละ 5.39 อย่างไรก็ดี คาดว่าจะมีการเร่งขยายตัวในช่วงที่เหลือของปี จากผลของราคาในตลาดโภคภัณฑ์ที่น่าจะปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการส่งออกทั้งปี 2559 อาจยังคงหดตัวในกรอบร้อยละ 2.0 ถึง 0

ตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีนมีพัฒนาการดีขึ้นเล็กน้อย แต่อาจเป็นเพียงปัจจัยระยะสั้น

จากการติดตามตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจรายเดือนของจีนที่ทยอยออกมาพบว่า เศรษฐกิจจีนยังอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่เปราะบางและยังให้ภาพการฟื้นตัวที่ไม่ชัดเจน โดยการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรสะสมตั้งแต่เดือน ม.ค.-เม.ย. 2559 ยังคงมีโมเมนตัมที่ขยายตัวเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 10.5 (YTD, YoY) จากจุดต่ำสุดเมื่อสิ้นปี 2558 ที่ผ่านมา และดัชนี PMI ภาคการผลิตสามารถยืนเหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในเดือน เม.ษ. ทำให้โมเมนตัมการฟื้นตัวของการส่งออกย้อนกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง

การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกและความผันผวนของตลาดเงินในช่วงปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อการส่งออกของจีน ซี่งสะท้อนให้เห็นจากการส่งออกของจีนในปีที่ผ่านมาที่หดตัวร้อยละ 2.6 ทั้งนี้ เริ่มต้นปี 2559 ตัวเลขการส่งออกจีนยังคงมีทิศทางหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยยอดการส่งออกของจีนในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์หดตัวร้อยละ 11.2 (YoY) และ 25.4 (YoY) ตามลำดับ ขณะที่ ยอดการส่งออกจีนในเดือนมีนาคมกลับกระเตื้องขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน โดยขยายตัวร้อยละ 11.5 แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวดูดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การเติบโตในเดือนมีนาคมนี้ยังไม่ชี้ชัดถึงการฟื้นตัวในภาคการส่งออกของจีนอย่างชัดเจน เนื่องจากการพลิกของตัวเลขดังกล่าวมาจากการเทียบกับฐานในเดือนมีนาคมของปี 2558 ที่มูลค่าการส่งออกอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงอานิสงค์ส่วนหนึ่งจากผลของฤดูกาลที่กิจกรรมการส่งออกมักจะปรับตัวสูงขึ้นในเดือนหลังเทศกาลตรุษจีนที่มีช่วงวันหยุดยาว ซึ่งเป็นปัจจัยให้มีการกระเตื้องขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น สอดคล้องกับตัวเลขการส่งออกล่าสุดในเดือนเมษายนที่ยังคงหดตัวร้อยละ 1.8 (YoY) โดยภาพรวมตัวเลขดังกล่าวยังไม่มีพัฒนาการขึ้นมากนัก โดยปัจจัยสำคัญมาจากอุปสงส์ในตลาดสำคัญอย่างสหรัฐฯ ที่ยังคงซบเซา ซึ่งยอดการส่งออกของจีนไปสหรัฐฯในเดือนเมษายนหดตัวลงร้อยละ 9.3

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าภาคการส่งออกของจีนในช่วงที่เหลือของปี แม้ว่าอาจจะเติบโตเร่งขึ้นจากไตรมาสแรก จากนโยบายของรัฐที่ยังคงพยายามกระตุ้นการส่งออกโดยการสนับสนุนนโยบายผ่อนคลายการปล่อยสินเชื่อจากธนาคาร การขยายประกันภัยสินเชื่อผู้ส่งออก การคืนภาษีเพิ่มสำหรับบางธุรกิจ แต่มูลค่าการส่งออกโดยรวมของจีนในปี 2559 จะยังคงหดตัวราวร้อยละ 5 ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา จากอุปสงค์ของสินค้าในตลาดโลกยังคงอ่อนแอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตลาดคู่ค้าสำคัญของจีนอย่างสหรัฐฯ ที่ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเศรษฐกิจภายในสหรัฐฯ ยังมีปัจจัยช่วยกระตุ้นการเติบโตจากการอัดฉีดงบประมาณเพิ่มขึ้นจากรัฐบาลและการเร่งตัวในตลาดอสังหาริมทรัพย์ แต่ภาคการส่งออกและภาคการผลิตยังมีทิศทางอ่อนแอ รวมถึงตลาดยุโรปที่ยังมีกิจกรรมการลงทุนในระดับต่ำและปัญหาการว่างงานสูง เช่นเดียวกันกับตลาดญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจยังเติบโตต่ำและเงินเฟ้อต่ำจากการหดตัวในภาคการบริโภคของครัวเรือน สอดคล้องกับการที่ล่าสุดไอเอ็มเอฟได้ปรับประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกลดลงอีกครั้ง โดยให้มุมมองต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกว่าอาจเป็นไปอย่างเชื่องช้า

แม้ว่าภาพรวมการส่งออกของไทยในเดือนมีนาคมจะขยายตัว ร้อยละ 1.3 แต่การส่งออกของไทยไปจีนในเดือนมีนาคมยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.39 โดยกลุ่มสินค้าส่งออกหลักของไทยที่ส่งไปจีนส่วนใหญ่ต่างอยู่ในแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังจีน อาทิ  มันสำปะหลัง ยางพารา เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ ยังคงถูกกดดันจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำในช่วงต้นปี รวมถึงการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟที่มีแนวโน้มหดตัวอย่างต่อเนื่องจากการหดตัวของตลาดพีซีโลกและเทคโนโลยีแบบใหม่ที่เรียกว่าโซลิดสเตทไดร์ฟ (solid-state drive: SSD) ที่กำลังเข้ามาทดแทน สะท้อนว่าสถานการณ์ที่ผ่อนคลายขึ้นในภาคการส่งออกจีนไม่ได้ส่งอานิสงส์ต่อการส่งออกของไทยไปจีนเท่าใดนัก อย่างไรก็ตาม คาดว่าตัวเลขการส่งออกของไทยไปจีนจะมีพัฒนาการดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี แต่ทั้งนี้ ปัจจัยหลักน่าจะมาจากผลทางด้านราคา เนื่องจากคาดว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ สิ่งที่น่าจับตา คือ สินค้าส่งออกดาวเด่นของไทยไปจีน อย่าง แผงวงจรไฟฟ้า ที่ยังมีทิศทางเติบโตได้อย่างต่อเนื่องสวนทางกับแนวโน้มการหดตัวในสินค้าชนิดอื่นๆ สอดรับกับการส่งออกสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของจีน ที่ยังคงมีทิศทางอยู่ในเกณฑ์ดี  โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินมูลค่าการส่งออกจากไทยไปจีนในปี 2559 ว่าจะหดตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0 ถึง 0 ภายใต้สมมติฐานการเร่งขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในครึ่งปีหลังและเศรษฐกิจโลกทยอยฟื้นตัว

ภายใต้สถานการณ์การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนผู้ประกอบการไทยควรมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจของจีนที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการที่กำลังเติบโตมาเป็นตัวจักรสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน ในช่วงปีที่ผ่านมาแทนที่ภาคการผลิตอุตสาหกรรม อาทิ ธุรกิจบริการทางด้านไอทีที่ยังมีส่วนสำคัญในการขับดันเศรษฐกิจจีนในปีที่ผ่านมา หรือขยายการส่งออกกลุ่มสินค้าสำหรับผู้สูงอายุเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรจีนที่กำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัยในอนาคต ซึ่งสินค้าในด้านธุรกิจสุขภาพก็อาจจะเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตได้ดี ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะทำให้ธุรกิจไทยขยายตัวต่อไปข้างหน้าได้