“เอไอเอส”ไร้คู่แข่งประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์

18 พ.ค. 2559 | 03:25 น.
แหล่งข่าวจาก บริษัท แอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในวันที่ 18 พฤษภาคมนี้ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ เอดับบลิวเอ็น ซึ่งเป็นบริษัทฯในเครือ จะไปยื่นคำขอเพื่อเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ในชุดคลื่นความถี่ที่ชุดที่ 1 ช่วงความถี่วิทยุ 895-905 เมกะเฮิรตซ์คู่กับ 940-950 เมกะเฮิรตซ์ ที่สำนักงานกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช อย่างแน่นอน

“ก่อนหน้านี้ เอไอเอส แสดงจุดยืนไปยัง กสทช ยินดีรับคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่ทาง แจส โมบายบอร์ดแบนด์ฯ ประมูลได้ในราคา  75,654 ล้านบาทโดยจะปฏิบัติตามเงื่อนไขของผู้ชนะการประมูลทุกประการ ทั้งการผ่อนจ่าย 4 งวด รวมไปถึงการนำหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินชั้นนำมามอบให้” แหล่งข่าวกล่าว

ขณะที่แหล่งข่าวจาก บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (16 พ.ค.) คณะกรรมการบอร์ดของ ทรู ได้จัดประชุมวาระพิเศษ เกี่ยวกับประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ และ ลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ไม่ร่วมเข้าประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ในครั้งนี้ เหตุผลที่ไม่เข้าร่วมประมูลเนื่องจากไม่มีความจำเป็น เพราะ ทรูฯ มีคลื่นความถี่ทั้งหมด 55 เมกะเฮิรตซ์ เพียงพอต่อการให้บริการทั้งระบบ 2จี,3จี และ 4 จี ซึ่งมีคลื่นที่ให้บริการหมดทุกคลื่นความถี่อยู่แล้ว

นอกจากนี้นายนพปฏดล เดชอุดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ทำรายงานชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า แจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เรื่อง การไม่เข้าร่วมประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunication - IMT) ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์

ตามที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จะจัดให้มีการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 นั้น บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) ขอแจ้งให้ทราบว่า ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทฯ ครั้งที่ 4/2559 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 มีมติไม่เข้าร่วม การประมูลดังกล่าว เนื่องจาก ณ ปัจจุบัน กลุ่มบริษัทมีคลื่นความถี่ครบถ้วนและเพียงพอที่จะให้บริการ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงอยู่แล้ว กล่าวคือ มีทั้งคลื่นที่เป็นย่านความถี่สูง ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นในด้าน ความจุ (1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 2100 เมกะเฮิรตซ์) และ คลื่นที่เป็นย่านความถี่ต่ำ ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นในด้านความ ครอบคลุม (850 เมกะเฮิรตซ์ ภายใต้ CAT Telecom และ 900 เมกะเฮิรตซ์)  อีกทั้งมีปริมาณคลื่นความถี่มากถึง 55 MHz ส่งผลให้บริษัทฯ มีศักยภาพในการให้บริการที่ครอบคลุมได้ทุกมิติ ทั้ง 2G 3G และ 4G ครบถ้วนสมบูรณ์อยู่แล้ว

ก่อนหน้านี้ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค เป็นผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายแรกที่ประกาศจะไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ในรอบใหม่ เนื่องจากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ที่ได้รับสัมปทานจาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จะสิ้นสุดสัญญาในปี 2561 ดังนั้นไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ เนื่องจากยังมีคลื่นความถี่ที่ให้บริการถึง 50 เมกะเฮิรตซ์ เพียงพอต่อการให้บริการ

สำหรับการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ในรอบใหม่นั้นสำนักงานกสทช  ได้กำหนดกรอบระยะเวลา คือ ในวันที่ 12-17 พ.ค. ประกาศเชิญชวนผุ้ที่สนใจมารับเอกสาร หลังจากนั้นวันที่ 18 พ.ค.ยื่นคำขอเพื่อเข้าร่วมการประมูล ส่วนวันที่ 19-22 พ.ค.พิจารณาคุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูล วันที่ 25 พ.ค.ประกาศผุ้เข้าร่วมประมูล และ วันที่ 27 พ.ค. เป็นวันประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าว โดยผุ้ผ่านคุณสมบัติการประมูลต้องวางหลักประกันมูลค่า 3,783 ล้านบาท ส่วนการเคาะราคาประมูลครั้งละ 152 ล้านบาท