พาณิชย์หนุนชุมชนขึ้นทะเบียน GI ในโครงการหนึ่งจังหวัด หนึ่งสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

18 พ.ค. 2559 | 04:42 น.
นางอภิรดี  ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้วางแนวทางพัฒนาสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication) หรือทีเรียกสั้นๆ ว่า สินค้า GI เป็น 3 มิติ ได้แก่ การขึ้นทะเบียน GI การพัฒนาระบบควบคุมสินค้า GI ให้เป็นไปตามมาตรฐาน และการส่งเสริมการตลาดเพื่อให้มีช่องทางทางการค้าเพิ่มมากขึ้น โดยจะนำผู้ประกอบการไทยนำสินค้า GI เด่น 8 รายการ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้  กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง  ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง  ข้าวเจ๊กเชยเสาไห้  ข้าวแต๋นลำปาง ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง และมะขามหวานเพชรบูรณ์ มาร่วมจัดแสดง ณ Thai Geographical Indication Pavilion ในงานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX-World of Food Asia 2016 ระหว่างวันที่ 25 – 29 ณ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี และกำหนดจัดงาน GI Market 2016 ปลายฝนต้นหนาว ระหว่างวันที่ 15 – 21 กันยายน 2559 ณ เซ็นทรัลพระราม 9 รวมทั้งจัดแสดงสินค้า GI ภายในงานมหกรรมทรัพย์สินทางปัญญา (IP Fair 2016) ระหว่างวันที่ 11 – 14 สิงหาคม 2559 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

สำหรับแนวทางการพัฒนาสินค้า GI ของกระทรวงพาณิชย์ นั้น ได้มอบหมายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาดำเนินการพัฒนาแบบ 3 มิติ ไปพร้อมๆ กัน คือ  มิติที่1. “การขึ้นทะเบียน GI” โดยส่งเสริมให้เกิดการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในประเทศไทยและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการขึ้นทะเบียน พร้อมเข้าไปช่วยเหลือในการขึ้นทะเบียน และคัดเลือกสินค้า GI ที่มีศักยภาพทางการตลาดเพื่อยื่นจดทะเบียนในต่างประเทศ ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2559 ผ้าไหมยกดอกลำพูนได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในประเทศอินโดนีเซีย และอยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอในประเทศอินเดีย และในปี 2559 นี้ กรมฯ เตรียมยื่นคำขอจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง และมะขามหวานเพชรบูรณ์ในประเทศจีน

ทั้งนี้ โครงการสำคัญในการส่งเสริมการขึ้นทะเบียน GI  คือ “โครงการหนึ่งจังหวัด หนึ่งสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” โดยจะจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ซึ่งมีสินค้าที่มีศักยภาพเป็น GI สร้างคามรู้ความเข้าใจ และเป็นพี่เลี้ยงในการขึ้นทะเบียน

มิติที่2. “การพัฒนาระบบควบคุม” โดยให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาระบบควบคุมการผลิตที่มีมาตรฐาน คุณภาพสม่ำเสมอ เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และรักษาไว้ซึ่งภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมา  โดยมีแผนจะผลักดันให้ทุกสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น GI ไทยมีระบบควบคุมภายในของตัวเองให้ครบทุกสินค้าภายในปี 2560

และมิติที่ 3. “การตลาด” สร้างโอกาสและจัดพื้นที่จำหน่ายสินค้า เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการสินค้า GI ให้มีโอกาสเข้ามาทำตลาดในโมเดิร์นเทรด รวมทั้งส่งเสริมเผยแพร่ข้อมูลสินค้า GI ตลอดจนช่วยเหลือผู้ประกอบการในการพัฒนาสินค้า GI เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดยุคใหม่เพิ่มมากยิ่งขึ้น โครงการส่งเสริมการตลาดที่สำคัญ อาทิ การนำผู้ประกอบการสินค้า GI เด่น เข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX-World of Food Asia 2016 ระหว่างวันที่ 25 – 29 ณ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี การจัดงาน GI Market 2016 ปลายฝนต้นหนาว ระหว่างวันที่ 15 – 21 กันยายน 2559 ณ เซ็นทรัลพระราม 9 เพื่อเป็นเวทีสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการในการสร้างช่องทางตลาด สร้างเครือข่าย และผู้บริโภคได้มีโอกาสพบกับของดีของแท้ของหายากที่ปกติไม่สามารถหาได้ในท้องตลาดทั่วไป  และการส่งเสริมให้แหล่งผลิตสินค้า GI เป็นที่รู้จักและต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน นอกจากนั้น ยังมีแผนงานจัดแสดงสินค้า GI ภายในงานมหกรรมทรัพย์สินทางปัญญา (IP Fair 2016) ระหว่างวันที่ 11 – 14 สิงหาคม 2559 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) เป็นเครื่องหมายที่กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้กับสินค้าที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบและขึ้นทะเบียนตาม พรบ. สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546 แล้วว่าเป็นสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง มีคุณภาพ มีชื่อเสียง แตกต่างจากสินค้าประเภทเดียวกันที่ผลิตจากพื้นที่อื่น GI จึงเปรียบเสมือนเป็นแบรนด์ของท้องถิ่นที่บ่งบอกถึงคุณภาพและแหล่งที่มาของสินค้า GI ดังนั้นการขึ้นทะเบียน GI จึงช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของชุมชน พัฒนาพื้นที่ผลิตสินค้า GI เป็นแหล่งท่องเที่ยวท้องถิ่น ซึ่งจะนำรายได้มาสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน จนถึงปัจจุบันมีสินค้าไทยที่ได้ขึ้นทะเบียน GI กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์แล้ว จำนวน67 สินค้า และมีคำขอยื่นจดทะเบียนสินค้า GI ไทย 116 คำขอ สำหรับคำขอไทยที่ยื่นเข้ามาล่าสุด ได้แก่ ข้าวหอมกระดังงานราธิวาส จังหวัดนราธิวาส กล้วยตากบางกระทุ่มพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี จังหวัดราชบุรี แห้วสุพรรณ จังหวัดสุพรรณบุรี และทุเรียนปราจีน จังหวัดปราจีนบุรี