ภาครัฐเร่งสรุปสัมปทานปิโตรเลียม เปิดทางเอกชนรายเดิมเข้าบริหาร

16 พ.ค. 2559 | 13:00 น.
กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ข้อสรุปบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียมหมดอายุ 3 แนวทาง มีทั้ง ระบบสัมปทาน ระบบแบ่งปันผลผลิต และจ้างผลิต เสนอให้คณะกรรมการปิโตรเลียม พิจารณา 18 พ.ค.นี้ ก่อนชงกพช.ไฟเขียว พร้อมเปิดเจรจา ปตท.สผ.-เชฟรอนก่อน หวั่นกำลังการผลิตสะดุด กระทบซัพพลายก๊าซประเทศ

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในวันที่ 18 พฤษภาคมนี้ กรมจะเสนอแนวทางบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติที่จะหมดอายุสัมปทานให้คณะกรรมการปิโตรเลียมพิจารณา ซึ่งประกอบด้วยแหล่งเอราวัณ มีบริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เป็นผู้รับสัมปทาน จะสิ้นสุดอายุสัมปทานในวันที่ 23 เมษายน 2565 ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 206 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช มี บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เป็นผู้รับสัมปทาน จะสิ้นอายุสัมปทานในวันที่ 7 มีนาคม 2566 ปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวม 900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

โดยแนวทางการบริหารจัดการจะมีอยู่ 3 แนวทางประกอบด้วย 1.ระบบสัมปทาน 2.ระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) และ 3.ระบบจ้างผลิต ซึ่งหากคณะกรรมการพิจารณาเลือกแนวทางใดทางหนึ่งแล้ว จะนำข้อเสนอดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 30 พฤษภาคมนี้ ซึ่งหาก กพช.เห็นชอบกรมจะพิจารณาถึงแนวทางแก้ไขกฎหมาย และกติกาใหม่ และหากเป็นการเปิดประมูล ก็ยิ่งมีหลายขั้นตอน คาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน

"ภายในเดือนพฤษภาคมนี้จะมีความชัดเจนเรื่องแนวทางบริหารจัดการแปลงสัมปทานที่จะหมดอายุในปี 2565-2566 ตามมติ กพช.จะเป็นผู้พิจารณา ซึ่งทางเอกชนเสนอให้เจรจากับรายเก่าก่อน ทางภาครัฐก็เห็นด้วย ส่วนการแก้ไขกติกาก็ทำควบคู่กันไป เพื่อให้เอกชนได้เตรียมความพร้อมก่อนที่จะหมดอายุสัญญา เพื่อไม่ให้กระทบต่อการผลิตก๊าซของประเทศ"

นายวีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าการเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบ 21 อยู่ระหว่างขั้นตอนการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เสร็จสิ้นเมื่อเดือนเมษายน 2559 ที่ผ่านมา โดยขั้นตอนต่อไปจะต้องส่งให้ทาง สนช. อีกครั้ง จากนั้นน่าจะเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบ 21 ได้

ส่วนราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นระดับ 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่งผลดีต่อธุรกิจสำรวจขุดเจาะ โดยล่าสุดคาดว่าบริษัท คอสตอลเอนเนอร์ยี่ หรือบริษัท ซีอีซี อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด (ประเทศไทย) อาจตัดสินใจชะลอปิดแท่นสงขลาออกไปก่อน จากเดิมที่แจ้งว่าจะปิดชั่วคราวเร็วๆ นี้ จากที่ก่อนหน้านี้ปิดชั่วคราวไปแล้ว 2 แท่น ได้แก่ แท่นสงขลา C และแท่นสงขลา G กำลังการผลิตรวมกว่า 2 พันบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตามจากราคาน้ำมันดิบที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลดีต่อการเปิดสำรวจและผลิตรอบ 21 โดยยังมีนักลงทุนสอบถามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง

นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า แปลงสัมปทานบงกช จะสิ้นสุดสัญญาในปี 2566 โดยในส่วนของแหล่งบงกชทางบริษัทพร้อมจะดำเนินการตามข้อกำหนดของรัฐไม่ว่าจะเป็นการเจรจา หรือการเปิดประมูล ซึ่งต้องให้มีความชัดเจนภายในปีนี้ ไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อแผนลงทุน ทางบริษัทคงจะไม่สามารถวางแผนระยะยาวในการรักษากำลังผลิตระดับปัจจุบันที่ประมาณ 900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ได้หลังปี 2566 ซึ่งน่าเป็นห่วงต่อแผนพลังงานของประเทศ เพราะแหล่งบงกชนับว่ามีกำลังผลิต 20% จากปริมาณความต้องการก๊าซทั้งหมดของประเทศที่ 5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,157 วันที่ 15 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559