‘วิรไท’มองไทยเผชิญค่าเงิน 2 ทิศทาง นายแบงก์ชี้ ธปท.มีโอกาสหั่นดอกเบี้ยลง

17 พ.ค. 2559 | 00:30 น.
แบงก์ชาติ-สำนักวิจัย ประเมินเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป จับตาสภาพัฒน์ ประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรก ปลัดคลังย้ำโตไม่ต่ำกว่า 3% ส่วน "ผู้ว่าธปท." ชี้ไทยเผชิญค่าเงิน 2 ทิศทางควรบริหารความเสี่ยง ด้าน "กสิกรไทย" เผยมีโอกาสแบงก์ชาติหั่นดอกเบี้ยลง หากตัวเลขส่งออกหลุดกรอบคาดการณ์ ด้าน "กรุงไทย" เชื่อภัยแล้งยังกดดันภาคการบริโภคโตต่ำ

[caption id="attachment_53594" align="aligncenter" width="700"] ประมาญการณ์ GDP ปี 2559 ประมาญการณ์ GDP ปี 2559[/caption]

ระหว่างรอลุ้นตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสแรกปี 2559 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.หรือสภาพัฒน์) จะประกาศในวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นโดยโน้มไปด้านต่ำมากขึ้นจากปัจจัยภายในประเทศ ขณะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังเปราะบาง และบางช่วงที่ผ่านมาเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับคู่ค้าคู่แข่งบางสกุลอาจไม่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเท่าที่ควรในระยะต่อไป และความไม่แน่นอนของทิศทางการดำเนินนโบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักยังคงเป็นปัจจัยที่จะส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มผันผวนสูงขึ้น กนง.จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี เพื่อรักษาความสามารถในการดำเนินนโยบาย และดูแลให้ภาวะการเงินโดยรวมเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศนั้น

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่อาจจะต้องรอติดตามการประกาศตัวเลขจีดีพีของสภาพัฒน์ อย่างไรก็ดี จะเห็นว่าในไตรมาสแรกมีปัจจัยชั่วคราวที่เกิดขึ้นหลายเรื่อง เช่น ที่ผ่านมาอาจจะมีบางช่วงมีเงินทุนไหลเข้าออกรวมทั้งความกังวลประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ อาจทำให้บางช่วงมีเงินไหลเข้าไทยประกอบกับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงทำให้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบเงินบางสกุลจะเห็นเงินบาทแข็งค่าเร็ว สะท้อนว่าอัตราแลกเปลี่ยนสามารถผันผวนได้ทั้ง 2 ด้าน และมีแนวโน้มที่จะผันผวนสูงขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นผู้ส่งออกหรือนำเข้า ควรให้ความสำคัญปิดความเสี่ยงหรือบริหารความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ จะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3% ซึ่งมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระบบ อาทิ เงินสนับสนุนกองทุนหมู่บ้าน สินเชื่อพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอี สินเชื่อภาคการเกษตร รวมถึงมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ และที่สำคัญเม็ดเงินกระตุ้นผ่านโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ที่จะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบในครึ่งปีหลัง สอดคล้องกับข้อมูลของกระทรวงคมนาคมที่คาดการณ์ว่าปีนี้จะมีเม็ดเงินรองรับการเบิกจ่ายไม่ต่ำกว่า 4.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะสนับสนุนให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงกว่าที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี อยากเห็นอัตราการเติบโตที่ระดับ 2.8%

ขณะที่ดร.เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า กนง.สะท้อนความระมัดระวังให้น้ำหนักความเสี่ยงอาจทำให้เศรษฐกิจไตรมาสแรกจะไม่เติบโตตามที่คาดการณ์ จึงเหมือนมีกังวลและเปิดช่องถ้าตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกออกมาไม่ดี อาจจะรอดูตัวเลขส่งออกของเดือนเมษายนที่มีจะประกาศปลายเดือนพฤษภาคม ถ้าตัวเลขดังกล่าวออกมาไม่ดี ยิ่งเพิ่มความเป็นไปได้ที่กนง.จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

"ถ้อยแถลงของกนง.ชี้ว่าให้น้ำหนักกับปัจจัยลบ ซึ่งไตรมาสแรกถ้าตัวเลขออกมาตามคาดที่ 2.8% ความกังวลจะคลี่คลาย แต่ถ้าไม่เป็นไปตามคาดโอกาสจะเห็นการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบวันที่ 22 มิถุนายนนี้"

อย่างไรก็ตามอาจจะรอทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการประชุมระหว่างวันที่ 14-15 มิถุนายน และผลการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ในวันที่16 มิถุนายนด้วยว่าจะปรับเพิ่มดอกเบี้ยก่อนหรือไม่ สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะข้างหน้านั้น ในส่วนของรัฐบาลมีเครื่องมือเพียงพออยู่แล้ว เพียงแต่รัฐสามารถทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปได้ตามแผนและมีหลายโครงการของปี 2560 ที่รอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้หรือไม่

นายรชตพงศ สุขสงวน ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย ฝ่ายวิจัยความเสี่ยงธุรกิจ บมจ.ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า กนง.ให้สัญญาณเบื้องต้นว่าไตรมาสแรกจีดีพีอาจจะไม่เติบโตตามที่ตลาดคาดการณ์ ซึ่งย่อมมีความเป็นไปได้ถ้าเทียบไตรมาสแรกปีนี้กับไตรมาสที่ 4 ของปีก่อน โดยจะเห็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีนี้ หรือตัวเลขไม่สะท้อนการฟื้นตัว เพราะภัยแล้งเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่จะกดต่อการบริโภค

"กนง.ห่วงว่าการบริโภคซึ่งมีสัดส่วน 50% ของจีดีพีจะถูกกดดันจากภัยแล้ง ดังนั้นกนง.จึงไม่ลดดอกเบี้ยนโยบายรอบที่ผ่านมา คือห่วงสถานการณ์ที่เห็นสัญญาณทางเศรษฐกิจแผ่วลง/ไม่ฟื้นเด่นชัดแต่ไม่ถึงกับแย่"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,157 วันที่ 15 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559