FinTech กับสถาบันการเงินไทย: คู่แข่ง หรือพันธมิตร?

13 พ.ค. 2559 | 11:00 น.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์เรื่อง “FinTech กับสถาบันการเงินไทย: คู่แข่ง หรือพันธมิตร?”

ประเด็นสำคัญ

•แม้ FinTech ที่เพิ่มจำนวนขึ้น จะสะท้อนถึงโอกาสที่ระบบนิเวศน์ของสถาบันการเงินไทยอาจมีภาพที่แตกต่างออกไปในอนาคต โดยเฉพาะหากนวัตกรรมทางการเงินของ FinTech เหล่านั้น สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีกว่าผลิตภัณฑ์และบริการดั้งเดิม แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดดังกล่าว FinTech ยังเผชิญข้อจำกัดบางประการที่มีผลต่อการขยายฐานลูกค้าและเพิ่มขนาดธุรกิจ (Scaling) ในอนาคต ในขณะที่ฝั่งธนาคารพาณิชย์ ก็ถูกท้าทายจากโลกเทคโนโลยีและความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงเร็ว

•เพื่อให้ทั้งธนาคารพาณิชย์และ FinTech ก้าวฝ่าข้อจำกัดต่างๆ ได้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่าน่าจะเห็นการเลือกใช้กลยุทธ์การร่วมมือกัน (Collaboration) มากกว่าที่จะมุ่งแข่งขัน (Competition) อย่างดุเดือด ซึ่งทำให้สุดท้ายแล้ว ผลกระทบต่อธุรกิจธนาคารพาณิชย์อาจไม่ถึงขั้นพลิกโฉมระบบสถาบันการเงิน อย่างที่หลายฝ่ายกังวล

ท่ามกลางกระแสความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ในยุคที่อินเทอร์เน็ตมีผลเปลี่ยนแปลงลักษณะการใช้ชีวิตของผู้บริโภคอย่างชัดเจนนั้น รูปแบบการทำธุรกรรมทางการเงินของผู้บริโภคก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อมีธุรกิจ FinTech ก้าวเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ด้วยเงื่อนไขที่ดีขึ้นและ/หรือแข่งขันได้กับผู้ให้บริการรายเดิม

คำถามที่ตามมาคือ สภาพแวดล้อมของระบบสถาบันการเงินไทยจะแตกต่างจากเดิมมากน้อยเพียงใด และผู้เล่นดั้งเดิมจะมีอนาคตเป็นอย่างไร? หลังจากที่หลายฝ่ายมองการเข้ามาของ FinTech ว่าจะก่อให้เกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า “Disintermediation of Banks” นั่นคือ บทบาทธนาคารพาณิชย์ในฐานะตัวกลางทางการเงินจะด้อยลง เพราะถูกแทนที่ด้วย FinTech ซึ่งจะแบ่งเค้กธุรกรรมทางการเงินออกไป ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยผลักดัน 3 ประการคือ 1.พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ ที่สนองตอบต่อเทคโนโลยีได้ดีขึ้น กล้าทดลองสิ่งใหม่ และมีทางเลือกมากขึ้น  2. บทบาทของฐานข้อมูลที่มีความซับซ้อนมากขึ้น (Big Data) และ 3. ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี  ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงสะท้อนมุมมองต่อประเด็นดังกล่าวไว้ ดังนี้

บทบาทของ FinTech ปัจจุบันทั้งในไทยและในต่างประเทศ กระจายไปในผลิตภัณฑ์และบริการหลักของสถาบันการเงิน ทั้งในด้านธุรกรรมที่เกี่ยวกับการชำระเงิน/โอนเงิน (Payment/ Transfers)  ธุรกรรมที่เกี่ยวกับการบริหารการเงินส่วนบุคคล (Personal Financing) และธุรกรรมที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อและเงินทุน (Lending & Financing) หรือแม้กระทั่ง ประกันชีวิต/ประกันภัย (Insurance)

123 ขณะที่ ลูกค้ารายย่อย มักเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ FinTech เนื่องจากแม้จะมีปริมาณธุรกรรมต่อรายในระดับที่ไม่สูงนัก แต่ก็เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และอัตราการใช้บริการทางการเงิน (Penetration) ต่ำกว่าลูกค้ากลุ่มอื่นๆ นอกจากนี้ ลูกค้ากลุ่มนี้ โดยเฉพาะใน Generation ใหม่ ยังชอบทดลองผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และตอบสนองต่อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้รวดเร็วกว่า จึงทำให้มีโอกาสเพิ่มความบ่อยครั้งในการใช้ได้อย่างรวดเร็ว   ส่วนลูกค้าธุรกิจ การเจาะตลาดของ FinTech น่าจะใช้เวลามากกว่า เนื่องจากผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินสำหรับลูกค้าธุรกิจมีความซับซ้อนและลักษณะเฉพาะมากกว่า อีกทั้งธุรกรรมมีวงเงินสูง จึงทำให้หลายกรณีต้องขออนุญาตจากทางการ เป็นต้น

ฝั่ง FinTech แม้จะมีโอกาสเติบโตในตลาดการเงินไทย แต่ต้องยอมรับว่า การเติบโตจากช่วงบ่มเพาะ  (Incubation) จนก้าวผ่านช่วงของการขยายขนาด (Acceleration) ที่ได้รับการยอมรับจากลูกค้าในวงกว้างมากขึ้นนั้น ยังเผชิญอุปสรรคหลายประการ ซึ่งนำไปสู่ทางออกในการหาพันธมิตรทางธุรกิจ ทั้งนี้ แม้ว่า FinTech จะมีข้อได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจ อันเป็นผลจากความคล่องตัวของกิจการ(Agile) เนื่องจากประกอบด้วยคนร่วมก่อตั้งและทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญจำนวนน้อยราย สามารถปรับ Prototype ของงานได้อย่างรวดเร็วและหาลูกค้ามาทดสองผลิตภัณฑ์ได้ในเวลาไม่นาน โดยไม่มีกระบวนการที่ยุ่งยากเหมือนบริษัทขนาดใหญ่  แต่การที่ FinTech จะก้าวข้ามมาแข่งขันในสนามที่ใหญ่ขึ้น มีจำนวนฐานลูกค้ากว้างขึ้น คงต้องเผชิญกับความท้าทายด้านต่างๆ อาทิ

ข้อจำกัดด้านศักยภาพของธุรกิจในการดึงดูดแหล่งเงินทุน โดยแม้ปัจจุบัน จะมีหน่วยงานรัฐและเอกชนสนใจหยิบยื่นความช่วยเหลือทางการเงินให้กับธุรกิจ Startup และ FinTech จำนวนมาก แต่สำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ชื่อยังไม่ติดตลาด หรือโครงการ/นวัตกรรมที่นำเสนอยังไม่ได้รับความน่าเชื่อถือจากผู้มีเงินทุนว่ามีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากพอในทางปฏิบัติ ก็อาจทำให้ไม่สามารถได้รับเงินทุนในจำนวนที่คาดหวังเพื่อต่อยอดธุรกิจได้

ข้อจำกัดด้านกฏระเบียบ  โดยหากการดำเนินงานของ FinTech บางประเภทอาจจะกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน หรือกระทบกับผลประโยชน์ผู้บริโภค รวมไปถึงข้อกำหนดด้านความปลอดภัยของระบบฐานข้อมูลและธุรกรรมต่างๆ แล้ว ก็อาจจะอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานภาครัฐ หรือองค์กรอิสระต่างๆ อันจะทำให้ FinTech มีต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น

ข้อจำกัดในการเข้าถึงตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภค เนื่องด้วยผู้ประกอบการ FinTech ส่วนใหญ่ใช้ช่องทางออนไลน์ในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป็นหลัก ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ของไทย อาทิ ในพื้นที่นอกเขตเมืองหรืออายุค่อนข้างสูงยังเปิดรับเทคโนโลยีและการใช้งาน Function/Application สมัยใหม่ ไม่มากนัก และ/หรือมีความกังวลต่อประเด็นด้านความปลอดภัยทางเทคโนโลยี จึงทำให้ไม่กล้าทำธุรกรรมการเงินมูลค่าสูงผ่านโลกไซเบอร์ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการขยายฐานผู้ใช้งานของ FinTech ในอนาคต

ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว จึงทำให้ FinTech เหล่านี้ ต้องมีการปรับตัวเพื่อการอยู่รอด โดยหนึ่งในวิธีเสริมสร้างความเข้มแข็งคงมาจาก ‘การหาพันธมิตรในการดำเนินธุรกิจ’ เพื่อช่วยลดจุดอ่อนบางด้านข้างต้น กระนั้นก็ดี ต้องยอมรับว่า ยังมี FinTech บางรายที่มีความพร้อมในเกือบทุกๆ ด้าน ทั้งฐานลูกค้าที่มีขนาดใหญ่ การสะสมข้อมูลลูกค้าในลักษณะ Big Data และความเชี่ยวชาญทางไอที จึงทำให้มีศักยภาพที่จะเข้ามาแข่งกับผู้เล่นเดิมในตลาดได้ อาทิ FinTech ที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท e-Commerce ขนาดใหญ่ หรือ FinTech ที่มีผู้ให้บริการเครื่อข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่หนุนหลัง เป็นต้น ซึ่งทำให้การขยายตลาด มีความจำเป็นต้องพึ่งพันธมิตรใหม่ ต่ำกว่า FinTech ที่เติบโตจากความเชี่ยวชาญในสาขาธุรกิจอื่นๆ โดยเปรียบเทียบ และกลับกลายเป็นคู่แข่งที่ธนาคารพาณิชย์ต้องจับตามองมากขึ้นได้

ฝั่งสถาบันการเงิน/ธนาคารพาณิชย์ คงเลือกแปลง FinTech จาก ‘คู่แข่ง’ เป็น ‘พันธมิตร’ เช่นกันเพื่ออาศัยจุดแข็งของอีกฝ่ายในการเสริมทัพ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ทั้งในและนอกประเทศต่างตระหนักว่า หากยังไม่มีการปรับตัวในการรับมือต่อบทบาทของ FinTech ที่คงมีมากขึ้น ก็คงทำให้ธนาคารพาณิชย์อาจต้องสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดไม่มากก็น้อย ไปให้กับผู้ประกอบการเหล่านั้น

ดังนั้น ตัวอย่างธนาคารพาณิชย์ในต่างประเทศ จึงสะท้อนการแก้เกมด้วยการใช้กลยุทธ์การร่วมมือ (Collaboration) กับ FinTech ในหลายรูปแบบ เพื่ออาศัยจุดเด่นด้านความคล่องตัวของธุรกิจและความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเฉพาะด้านของ FinTech ดังที่กล่าวถึงไปแล้ว ในการสร้างนวัตกรรมการเงินใหม่ๆ ที่จะช่วยยกระดับบริการทางการเงินไปอีกขั้น ในภาวะที่ธนาคารเหล่านั้น ไม่สามารถปรับเปลี่ยน หรือทดลองนวัตกรรมต่างๆ ได้รวดเร็วเท่า เนื่องจากปัญหาของฐานลูกค้าที่มีขนาดใหญ่และความซับซ้อนของระบบที่หากปรากฏปัญหาขึ้นจากการทดลอง จะสร้างความเสียหายในวงกว้างได้ หรือในโจทย์ที่ธนาคารพาณิชย์ต้องการเรียนรู้กลไกการทำงานของ FinTech เพื่อมาปรับใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการทำงาน และ/หรือใช้ช่วยขยายการให้บริการไปสู่กลุ่มลูกค้าที่เผชิญข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการทางการเงิน เช่น ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ในต้นทุนที่ต่ำลง เป็นต้น

ทั้งนี้ ในต่างประเทศ ความร่วมมือระหว่างธนาคารพาณิชย์ และ FinTech เกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ซึ่งคาดว่าความร่วมมือในลักษณะดังกล่าว จะทยอยปรากฎชัดเจนขึ้นในกรณีของประเทศไทยเช่นกัน ได้แก่

รูปแบบพันธมิตรทางธุรกิจ (Business Partnership) ไม่ว่าจะเป็นในมิติของการขยายฐานลูกค้าและเติมเต็มประสบการณ์ในการให้บริการลูกค้า โดยให้ FinTech รับบทบาทในการดูแลลูกค้า เนื่องจากมีความคล่องตัวและสามารถที่จะปรับการให้บริการที่มีความเฉพาะตัวกับลูกค้าที่มากขึ้น ในต้นทุนที่ปรับลดลง อาทิ ธนาคาร JP Morgan ในสหรัฐฯ ที่ได้มีการร่วมมือกับ OnDeck ในการปล่อยกู้ให้กับธุรกิจรายย่อยผ่านช่องทางออนไลน์  นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างของการที่ธนาคารพาณิชย์ให้บริการในลักษณะ Application Platform Interface (API) กับ FinTech เพื่อให้ FinTech สามารถใช้ฐานข้อมูลลูกค้าได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด และ/หรือใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานของธนาคาร แลกกับค่าธรรมเนียมที่ธนาคารได้รับจากบริการรูปแบบใหม่ที่ให้กับ FinTech ขณะเดียวกันธนาคารยังสามารถทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการพัฒนารูปแบบทางการตลาด รวมทั้งการบริหารจัดการด้านการตลาดต่างๆ ร่วมกัน (Co-marketing) ด้วย

การร่วมลงทุน ยกตัวอย่างเช่น การสนับสนุนด้านเงินทุนผ่าน Venture Capital หรือในลักษณะ Joint Venture โดยลงทุนใน FinTech ที่มีศักยภาพในการขยายตัว หรือมีการดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับกลยุทธ์ของทางธนาคาร ซึ่งธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศหลายราย จะเริ่มจากการสนับสนุนเงินทุนและความช่วยเหลือต่างๆ ในระยะเริ่มแรก ก่อนที่จะถอนการลงทุน (Exit) เมื่อ FinTech นั้นประสบความสำเร็จ เพื่อลงทุนใน FinTech ใหม่ๆ

การเป็นผู้บ่มเพาะ (Incubator) เป็นตัวเร่ง (Accelerators) ให้กับธุรกิจ FinTech โดยธนาคารทำหน้าที่จัด Workspace รวมถึงการเป็นพี่เลี้ยง (Mentor) และให้การสนับสนุนองค์ความรู้เชิงธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ การให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย และเชิงเทคนิคเฉพาะด้านกับ FinTech ขณะที่ ความร่วมมืออาจขยายผลไปสู่รูปแบบอื่นๆ หากการดำเนินธุรกิจของ FinTech นั้นๆ สามารถช่วยเติมเต็มบริการทางการเงินของธนาคารได้ ทั้งนี้ ตัวอย่างของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ ที่ได้เข้ามาเป็นผู้บ่มเพาะ FinTech คือ Citibank ที่มีการตั้งศูนย์บ่มเพาะ FinTech ที่ประเทศอิสราเอลในการพัฒนาและต่อยอดแอพพลิเคชั่น (Application) ของธนาคารบนมือถือ ทำให้นักลงทุนสามารถที่จะเทรดค่าเงินผ่านแอพพลิเคชั่นจากเดิมที่การเทรดค่าเงินจะทำผ่านคอมพิวเตอร์ (PC) เท่านั้น เป็นต้น

รูปแบบการควบรวมกิจการ (Merger & Acquisition) ผ่านการเข้าซื้อกิจการ FinTech Startup ที่มีศักยภาพในการทำรายได้ และมีความพร้อมในการทำธุรกิจ เพื่อต่อยอดบริการทางการเงินของธนาคาร อาทิ Goldman Sachs ที่ซื้อกิจการ Honest Dollar ซึ่งเป็น FinTech ที่ให้บริการวางแผนการเกษียณ

การร่วมมือระหว่างธนาคารพาณิชย์และ FinTech อาจช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับธนาคารขนาดกลางและเล็ก ซึ่งเคยมีข้อจำกัดด้านการขยายช่องทางการขายและให้บริการ อาทิ สาขา เอทีเอ็ม หรือเครื่องรับบัตรอิเล็กทรอนิกส์  (EDC) จากการต้องใช้เม็ดเงินลงทุนสูง ขณะเดียวกัน ความร่วมมือดังกล่าว ก็ยังช่วยตอบโจทย์ให้บริการทางการเงินมีความหลากหลายและมีความสะดวกในการให้บริการลูกค้ากลุ่มเป้าหมายมากขึ้น  ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว น่าจะช่วยสนับสนุนให้การแข่งขันมีความเท่าเทียมกัน (Level Playing Field) มากขึ้นในอนาคต

สำหรับธนาคารพาณิชย์นั้น ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ รวมถึงธนาคารพาณิชย์และทางการไทย ต่างกำลังจับจ้องไปที่การพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain  โดยเทคโนโลยีดังกล่าว เป็นกลไกในการจัดการข้อมูลการบันทึกข้อมูลการแลกเปลี่ยนเงินสกุลดิจิตอล ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับกลไก/กระบวนการทำธุรกรรมทางการเงินในระยะข้างหน้า เพื่อตอบโจทย์ด้านความปลอดภัย การลดต้นทุน และความรวดเร็วในการทำธุรกรรมที่ดีขึ้นกว่าเดิม  ทั้งนี้ ปัจจุบัน หลายธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ และยุโรป กำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะใช้เทคโนโลยีนี้ในการชำระเงินระหว่างกันในอนาคต ขณะที่ ธนาคารหลายแห่ง ก็ได้ให้การสนับสนุน FinTech ที่มีการนำเทคโนโลยี Blockchain ไปประยุกต์ใช้ในการให้บริการทางการเงินด้วยเช่นกัน

โดยสรุปแล้ว แม้ในขณะนี้ ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าการเข้ามาของ FinTech จะมีผลในการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ของสถาบันการเงินไทยไปในทิศทางใด เนื่องจากการพัฒนายังอยู่ในระยะเริ่มแรก อีกทั้งเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องอาศัยเวลาอีกระยะหนึ่งถึงจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น  อย่างไรก็ตาม สำหรับธนาคารพาณิชย์ในระยะระหว่างนี้ คงมอง FinTech เป็นพันธมิตร มากกว่าคู่แข่ง เนื่องจากสามารถนำจุดเด่นของนวัตกรรมที่ FinTech สร้างขึ้น มาใช้เติมเต็มบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ซึ่งแน่นอนว่า จะทำให้ลูกค้าได้รับประโยชน์ผ่านบริการที่เร็วขึ้น ถูกลง และสะดวกมากขึ้น ถึงแม้ว่าในทางปฏิบัติ ธนาคารพาณิชย์คงจะให้น้ำหนักกับการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนถึงรูปแบบของความร่วมมือที่เหมาะสม ซึ่งคงต้องคำนึงถึงหลายประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น สิทธิและการคุ้มครองผู้บริโภค ความปลอดภัยของระบบข้อมูลและเทคโนโลยี รวมถึงการบริหารความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ เป็นต้น  ส่วนโมเดลการจัดสรรรายได้ระหว่างธนาคารพาณิชย์และ FinTech คงขึ้นอยู่กับรูปแบบธุรกิจที่ตกลงกันในแต่ละคู่ เช่นเดียวกับเกมการแข่งขันระหว่างธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งภายหลังการจับมือกับ FinTech ที่ยังจะแปรผันตามหลายเงื่อนไขที่ยังจะเปลี่ยนไปอีกในอนาคต