ระดมสมองดึงไทยเที่ยวใต้ ททท.จี้ขยายสนามบิน/ปี60 ตั้งเป้าโกย 1.72 แสนล้าน

16 พ.ค. 2559 | 04:00 น.
ททท.ภาคใต้ ระดมสมองประชุมแผนการตลาดปี 60 เน้นคนไทยเที่ยวข้ามภาคมาใต้ ตั้งเป้ารายได้ท่องเที่ยวภาคใต้ 1.72 แสนล้าน ส่วนไทยเที่ยวไทยทั่วไทย 8.6 แสนล้าน เผยเป้าทั่วประเทศทั้งไทย-ต่างชาติ 2.5 ล้านล้าน ด้านททท.เร่งรัฐขยายสนามบินภาคใต้

“ฐานเศรษฐกิจ”สำรวจสถานการณ์การท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้พบว่า โดยเฉพาะที่จังหวัดตรัง มีนักท่องเที่ยวคนไทยมาท่องเที่ยวมากถึง 80% ต่างชาติ 20% และมีแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มมากขึ้น เมื่อพบว่า ตามรีสอร์ต บนเกาะ และชายหาด มีนักท่องเที่ยว กลุ่มยุโรป กลุ่มสแกนดิเนเวีย และจีน เดินทางเข้ามาเที่ยวพักผ่อนตามรีสอร์ต โดยเน้นการเดินทางแบบทฤษฎีน้ำล้น จากภูเก็ตเดินทางโดยเรือโดยสาร มานอนเที่ยวเกาะพีพี เกาะลันตา เกาะไหง จังหวัดกระบี่ เกาะกระดาน เกาะมุก เกาะลิบง จังหวัดตรัง และเดินทางต่อไปยัง เกาะบุโหลน หลีเป๊ะ จังหวัดสตูล

การเดินทางมาภาคใต้และจังหวัดตรัง นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางโดยเครื่องบิน ซึ่งจังหวัดตรังเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่สนามบินคับแคบ มีอาคารเดียวไว้รองรับผู้โดยสารภายในประเทศ ขณะนี้พบว่ามีผู้โดยสารใช้บริการกับสายการบินโลว์คอสต์แอร์คือ นกแอร์และแอร์เอเชีย และบินเพิ่มอีก 1 สายการบิน คือไลอ้อนแอร์ ทั้งมีการขยายสำนักงานของสายการบิน แอร์เอเชียและไลอ้อนแอร์ มาตั้งที่สนามหญ้านอกอาคารผู้โดยสาร จะเห็นว่าขีดความสามารถของสนามบินตรัง ภายในอาคารผู้โดยสารมีพื้นที่คับแคบ ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานภูมิภาค ภาคใต้ทุกสำนักนำโดยนายชาญชัย ดวงจิตต์ ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคใต้ จัดระดมสมองในการทำแผนการตลาดปี 2560 ขึ้นที่จังหวัดตรัง โดยในปี 2560 ททท.ตั้งเป้ารายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 2.5 ล้านล้านบาท เป็นตัวเลขจากไทยเที่ยวไทยทั่วประเทศ ตั้งไว้ 8.6 แสนล้านบาท รายได้ของภาคใต้ไทยเที่ยวไทย 1.72 แสนล้านบาท เติบโตจากปี 2559 ประมาณ 8-10% โดยในปี 2560 ไม่เน้นจำนวนนักท่องเที่ยวแต่เน้นยอดรายได้เป็นสำคัญ

[caption id="attachment_52830" align="aligncenter" width="410"] ชาญชัย ดวงจิตต์  ผู้อำนวยการ  ททท.ภูมิภาคภาคใต้ ชาญชัย ดวงจิตต์
ผู้อำนวยการ
ททท.ภูมิภาคภาคใต้[/caption]

นายชาญชัย ดวงจิตต์ ผู้อำนวยการ ททท.ภูมิภาคภาคใต้ เปิดเผยกับ” ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการทำแผนการตลาดของภาคใต้ในปีงบประมาณ 2560 นั้น เน้น 4 เรื่องหลัก คือ 1.เน้นการท่องเที่ยวข้ามภาค ดึงนักท่องเที่ยวจากภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง มาเที่ยวภาคใต้ให้มากยิ่งขึ้น 2.การกระจายนักท่องเที่ยวจากเมืองหลักไปเมืองรอง เช่น 12 เมืองต้องห้ามพลาดไปยังเมืองรอง กระจายเวลา เน้นการท่องเที่ยววันธรรมดา วันจันทร์-พฤหัสบดีให้มาก เน้นการเที่ยวช่วงโลว์ซีซัน เดือนตุลาคม- พฤษภาคม การเปิดตลาดการท่องเที่ยวทัวร์ไหว้พระ 3.เน้นกลุ่มผู้หญิง ทุกช่วง ทุกอาชีพ เพราะมีกำลังในการใช้จ่าย เช่นการเข้าสปา ซื้อสินค้า ซื้อของที่ระลึก และ 4.กลุ่มผู้สูงวัย อายุ 55 ปี ขึ้นไป เช่นยังอยู่ในวัยทำงานหรือเกษียณไปแล้ว กลุ่มมีกำลังซื้อ

ทางททท.ได้นำเสนอรัฐบาลบ่อยครั้ง เรื่องการขอขยายสนามบินทางภาคใต้ เช่น ภูเก็ต กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช และหาดใหญ่ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เพราะมีสายการบินทั้งบินตามตารางปกติ การเช่าเหมาลำ และโลว์คอสต์แอร์ ที่บินมาภาคใต้มากขึ้นทุกวัน แต่ขีดความสามารถของสนามบินแต่ละแห่งต่ำกว่ามาตรฐาน เพราะจำนวนผู้โดยสารมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นเส้นทางการจราจรทางบกคือถนน ต้องเร่งปรับปรุงเพื่อให้มีความสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวต่างมองว่า ภาคใต้อยู่ไกลมายาก รัฐต้องเร่งแก้ปัญหาเหล่านี้โดยด่วน

ด้านนายถาวร แสงอำไพ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานตรัง กล่าวเสริมว่าขณะนี้ทางบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)(ทอท.) ได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนสำรวจออกแบบทางวิ่งขึ้นลงของเครื่องบิน โดยผู้รับจ้างได้มาทำการสำรวจพื้นที่แล้วในขณะนี้ ส่วนอาคารที่พักผู้โดยสารได้ผู้รับจ้างแล้วเช่นกัน จะเริ่มสำรวจออกแบบอาคารในทันที ปัจจุบันทางวิ่งขึ้นลงของเครื่องบินความยาว 2.1 พันเมตร x 45 เมตร สามารถรองรับเครื่องบินขนาด 150 ที่นั่ง ได้จำนวน 2 ลำ อาคารที่พักผู้โดยสารขนาด 2 ชั้นเนื้อที่ 3 พันตารางเมตร ชั่วโมงเร่งด่วนรองรับผู้โดยสารได้ 300 คน สถิติปี 2558 จำนวนผู้โดยสารจำนวน 612,629 คน จำนวน 4,075 เที่ยวบิน

สำหรับงบประมาณในการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารประมาณการไว้ 760 ล้านบาท แยกเป็นประตูผู้โดยสารขาเข้า-ขาออกในประเทศ และผู้โดยสารขาเข้า-ขาออกระหว่างประเทศ ตั้งงบประมาณปี 2561 ส่วนทางวิ่งขึ้นลงเครื่องบินขยายเป็นความยาว 3 พันเมตร กว้าง 60 เมตร ยังไม่ได้สรุปว่าขยายออกไปทางทิศตะวันออกหรือตะวันตก และยังไม่ได้ประมาณการงบประมาณเอาไว้

Photo Cover : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,157 วันที่ 15 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559