รมว.สาธารณสุขห่วงพื้นที่เกิดพายุฝนอาจมีน้ำขังกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

12 พ.ค. 2559 | 09:52 น.
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยว่า โรคไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่นของประเทศและภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้หลายพื้นที่เกิดพายุฤดูร้อน มีฝนตก มีน้ำขังในภาชนะต่างๆ ทำให้จำนวนยุงเพิ่มขึ้น ดังนั้นทุกภาคส่วนทั้งภาคประชาชน เอกชน และรัฐ ต้องต่อสู้กับโรคนี้ร่วมกัน เพื่อป้องกันบุตรหลานและคนในครอบครัวจากการเจ็บป่วยและเสียชีวิต โดยข้อมูลจากสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรครายงานตั้งแต่ 1 มกราคม 2559 - 11 พฤษภาคม 2559 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 16,830 คน เสียชีวิต 14 คน สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 ที่พบ 12,354 คน เสียชีวิต 8 คน

กระทรวงสาธารณสุข ได้วิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่าในปีนี้จะมีผู้ป่วยไข้เลือดออกประมาณ 160,000 คน จึงได้ดำเนินการมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มข้นตั้งแต่ต้นปี 2559 เป็นต้นมา และให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุข ประชาสัมพันธ์และรณรงค์ป้องกันไข้เลือดออกร่วมกับทุกภาคส่วนในชุมชนหมู่บ้าน เน้นการป้องกันโรคโดยการกำจัดยุงลายมากกว่าการเจ็บป่วยแล้วไปรักษา โดยขอความร่วมมือของประชาชนและทุกภาคส่วน กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์เพื่อลดจำนวนยุงลายให้มากที่สุด ตามมาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค ได้แก่ เก็บบ้านให้โล่ง อากาศปลอดโปร่งไม่ให้ยุงเกาะพัก เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้มีที่เพาะพันธุ์ยุง และเก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด หรือเปลี่ยนถ่ายน้ำไม่ให้ยุงลายวางไข่ ทำต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน โรงเรียน ศาสนสถาน สถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก โรงพยาบาล รวมทั้งการกำจัดยุงลายตัวเต็มวัยภายในบ้าน เพื่อป้องกันโรคจากยุงลาย คือโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย

นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำโรงพยาบาลทุกแห่ง เข้มงวดการตรวจรักษาโรคไข้เลือดออกตามแนวทางการตรวจ รักษาที่กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำไว้ จัดระบบส่งต่อผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพรวดเร็ว และจัดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในจังหวัด เป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาแก่แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด ขอแนะนำประชาชนหากป่วยมีไข้สูงลอย ไม่ควรกินยาลดไข้จำพวก แอสไพรินหรือไอบูโพรเฟน และหากกินยาแล้วไข้ไม่ลด อาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ขอให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับการรักษาต่อเนื่องให้พ้นระยะอันตราย โดยเฉพาะในช่วงที่ไข้เริ่มลดมีความเสี่ยงเกิดภาวะช็อคได้ ผู้ป่วยจะซึมลง อ่อนเพลีย อาจมีเลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน หรือถ่ายอุจจาระสีดำ ต้องรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว หากประชาชนต้องการสอบถามข้อมูลหรือแจ้งคำแนะนำใดๆ ติดต่อได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง