ก.แรงงานปั้นแรงงานด้านโลจิสติกส์ การันตีจบแล้วได้งานทำ 100%

12 พ.ค. 2559 | 09:25 น.
 

พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในฐานะประธานมอบวุฒิบัตรการฝึกอบรมโครงการพัฒนาบุคลากรด้านโลจีสติกส์รองรับธุรกิจการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ ว่า ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม ทั้ง 51 คน นับว่าเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจไม่เพียงแต่ตัวผู้รับการอบรมเองแต่รวมถึงคนในชาติ เพราะได้ผลิตบุคลากรด้านโลจีสติกส์เพื่อรองรับธุรกิจการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศขึ้นมา ซึ่งเป็นงานที่รัฐบาลให้ความสนใจ รวมถึงเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตการทำงานของทุกคนที่ผ่านการฝึกอบรม ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการทำงานของรัฐบาล โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยและมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะพัฒนาประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้นในทุก ๆ ด้าน ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ได้รับมอบหมายให้ส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ที่มั่นคงให้กับพี่น้องประชาชน

นอกจากนี้ยังดูแลในเรื่องของการพัฒนากำลังคน การให้ความคุ้มครอง และการดูแลในเรื่องของสวัสดิการ รวมไปถึงการสร้างความมั่นคงด้วยหลักประกันสังคมอีกด้วย โดยกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จเห็นผลสัมฤทธิ์ในหลาย ๆ เรื่อง เช่น การทดสอบมาตรฐานฝีมือเพื่อให้แรงงานได้รับอัตราค่าจ้างตามระดับมาตรฐานฝีมือ ซึ่งก็แน่นอนว่าต้องสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ที่ขณะนี้มีการประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือไปแล้ว จำนวน 35 สาขาอาชีพ และเร็วๆ นี้จะประกาศเพิ่มอีก 20 สาขาอาชีพ รวมเป็น 55 สาขาอาชีพ การลดความเหลื่อมล้ำ และการเพิ่มโอกาส ในการเข้าถึงแรงงานที่มีฝีมือ กระทรวงแรงงานได้จัดตั้ง Smart Job Center เพื่อเป็นช่องทางให้ นายจ้างและลูกจ้างได้งานและได้คนที่ตรงกับความต้องการมากที่สุด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ร่วมมือกับสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในรูปแบบประชารัฐ จัดโครงการพัฒนาบุคลากรด้านโลจีสติกส์รองรับธุรกิจการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศขึ้น เพื่ออบรมบัณฑิตจบใหม่ รองรับสาขาอาชีพที่ขาดแคลน และภายหลังเสร็จสิ้นโครงการผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้งานทำในธุรกิจโลจิสติกส์ อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาคนตามแนวทางประชารัฐของรัฐบาล โดยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะที่สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนเพื่อการพัฒนาประเทศ รวมทั้งความสามารถที่จะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรให้แก่ภาคเอกชนและเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ไปพร้อมๆ กัน เป็นการตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล ที่กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

“โครงการนี้จัดมาตั้งแต่ปี 2542 และผลิตบุคลากรป้อนธุรกิจโลจีสติกส์ไปถึง 700 คน ที่ผ่านมาได้แก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพในธุรกิจการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ และการผลิตบุคลากรให้ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ ซึ่งทั้งหมดเป็นบัณฑิตที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและจะก้าวสู่การเป็นแรงงานใหม่ในตลาดแรงงาน สำหรับครั้งนี้เป็นบัณฑิตจบใหม่ที่เข้าร่วมโครงการเมื่อปี 2558 จำนวน 51 คน ซึ่งทั้งหมดมีงานรองรับเรียบร้อยแล้ว ในสถานประกอบการต่างๆ ตำแหน่ง SeaFreight, Import Operation, Assistant MD., Outbound CS, Export outbound, Marketing, Shipping โดยแต่ละตำแหน่งได้รับค่าจ้างเดือนละประมาณ 14,500 – 25,000 บาท โครงการนี้เป็นโครงการที่รองรับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องผลิตบุคลากรขึ้นมารองรับ ซึ่งในอนาคตต้องไปศึกษาดูว่า Demand  Supply ของเรื่องนี้เป็นอย่างไร ควรจะต้องผลิตบุคลากรด้านนี้จำนวนมากเท่าใด จึงจะมีความเหมาะสมกับระบบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต” พลเอก ศิริชัย กล่าว