แบงก์หากินส่วนต่างดอกเบี้ย หันลงทุนหลักทรัพย์ฟันกำไร/หลังสินเชื่อพลาดเป้า

15 พ.ค. 2559 | 01:00 น.
แบงก์พาณิชย์โฟกัสรักษาสินทรัพย์สภาพคล่องไตรมาสแรก-หันลงทุนหลักทรัพย์-พันธบัตรรัฐบาล-วิสาหกิจ กินผลตอบแทน หลังสินเชื่อหดตัวลง ค่าย"กสิกรไทย" จับตาไตรมาส 2/59 สภาพคล่องตึงตัว

[caption id="attachment_52337" align="aligncenter" width="700"] ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ ตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์[/caption]

จากรายงานศูนย์วิจัยกสิกรไทยเมื่อเดือนเมษายน 2559ที่ผ่านมา ได้ทำการสรุปสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่องของระบบของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 โดยสินเชื่อปรับลดลง 2.34 หมื่นล้านบาทสู่ระดับ 10.40 ล้านล้านบาทจากเดือนก่อนหน้า โดยสินเชื่อได้รับแรงกดดันจากสินเชื่อขนาดกลาง ขนาดใหญ่จากผลการชำระคืนสินเชื่อโดยเฉพาะโครงการสินเชื่อภาครัฐ ภาคธุรกิจและเช่าซื้อ ฟากเงินฝากปรับตัวเพิ่ม 1.07 แสนล้านบาทสู่ระดับ 11.28 ล้านล้านบาทจากเดือนก่อน ส่วนใหญ่การไหลเข้าเงินฝากต้องการพักเงินในบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน และออมทรัพย์สัดส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและกู้ยืมอยู่ที่ระดับ 89.71%เทียบกับระดับ 90.59%.ในเดือนก่อนหน้าขณะที่สัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมซึ่งปรับเพิ่มขึ้นมาที่ 21.35% จาก 20.34% เดือนกุมภาพันธ์ 2559

สอดคล้องกับผลการดำเนินงานไตรมาสแรกปี2559 ที่ธนาคารในระบบรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปรากฏว่าธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)(บมจ.)และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์สภาพคล่องรวม 1 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 9.64 หมื่นล้านบาทเศษหรือ 10.6% จากสิ้นเดือนธันวาคม 2558 ส่วนใหญ่เป็นรายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินเพิ่มขึ้น 8.31หมื่นล้านบาทและเงินลงทุนเพื่อค้าที่เพิ่มขึ้น 1.6 หมื่นล้านบาทขณะที่เงินสดลดลง 7,647 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกรุงเทพยังคงให้ความสำคัญเรื่องการบริหารสภาพคล่องควบคู่ไปกับการบริหารต้นทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 ธนาคารมีเงินรับฝากจำนวน 2.14 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 5.83 หมื่นล้านบาทหรือ 2.8% จากสิ้นปีก่อนและมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 87.2% เทียบกับ 89.4% เมื่อสิ้นปีก่อน

นอกจากนี้ บมจ.ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยมีเงินลงทุนสุทธิ จำนวน 5.41แสนล้านบาท (สิ้น มี.ค.59) เพิ่มขึ้น 2.15หมื่นล้านบาทหรือ 4.1% จากเดือนธันวาคมส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนในหลักทรัพย์ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ 3.37 แสนล้านบาท คิดเป็น 62.4% ของเงินลงทุนทั้งหมด ที่เหลือเงินลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ 8.54 หมื่นล้านบาท ตราสารหนี้ภาคเอกชน 1.52 หมื่นล้านบาทและเงินลงทุนสุทธิในตราสารทุน 1แสนล้านบาทเศษ

เช่นเดียวกับ บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์มีนโยบายในการบริหารสภาพคล่องด้วยการจัดหาเงินทุนในระดับที่เหมาะสมกับการเติบโตของสินเชื่อในต้นทุนที่ยอมรับได้ โดยมีคณะกรรมการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินเป็นผู้กำหนดนโยบายการบริหารสภาพคล่องปัจจุบันธนาคารมีอัตราส่วนสภาพคล่องรายวันในระดับไม่น้อยกว่า 20%(คำนวณจากสินทรัพย์สภาพคล่องรวมตามงบการเงินเฉพาะธนาคารต่อเงินฝาก)และ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2559 อัตราส่วนสภาพคล่องตามงบการเงินเฉพาะธนาคารอยู่ที่ 31.9% จาก 27% มีนาคมปี 2558 และ 28.8% ธันวาคม 2558 โดยสินทรัพย์สภาพคล่องที่ไม่ใช่เงินสดของธนาคารตามงบเฉพาะธนาคารเกือบทั้งหมดลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย

ทั้งนี้เงินลงทุนในหลักทรัพย์ตามงบการเงินรวมมีจำนวน 6.17แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 21.8%จากปีก่อน ซึ่ง 85%ของจำนวนเงินลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งหมดเป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจการถือพอร์ตลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเป็นผลจากความตั้งใจของธนาคารในการรักษาอัตราส่วนสภาพคล่องตามงบเฉพาะธนาคาร (สินทรัพย์สภาพคล่องต่อเงินฝาก)ให้ไม่น้อยกว่า 20% ตามงบการเงินเฉพาะธนาคาร เงินลงทุนในหลักทรัพย์สุทธิมีจำนวน 4.05 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้น 13.2% จากปีก่อน

ส่วน บมจ.ธนาคารทหารไทยยังคงรักษาความแข็งแกร่งของสภาพคล่อง ด้วยการคงระดับสินทรัพย์สภาพคล่องและความเสี่ยงต่ำในสัดส่วนที่สูงโดยธนาคารมีสินทรัพย์สภาพคล่อง(เงินสด,รายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินและเงินลงทุนระยะสั้น)ตามงบการเงินรวมคิดเป็น 23%ของสินทรัพย์รวมเทียบกับ 23.9% (ธ.ค.59)โดยสินทรัพย์สภาพคล่องประกอบด้วย เงินฝาก 1.5% รายการระหว่างธนาคารและตลาดเงิน 13.2%และเงินลงทุนระยะสั้น 8.3% ทั้งนี้อัตราส่วนหนี้สินต่อเงินฝากของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ 91.9% เพิ่มขึ้นจาก 90.1% ณ เดือนธันวาคม 2558 ตามการลดลงของเงินรับฝาก

สำหรับ บมจ.ธนาคารธนชาต มีสินทรัพย์รวม(ของกลุ่ม) จำนวน 1 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น กว่า 2 พันล้านบาทหรือ 0.25%จากสิ้นปีก่อนโดยการเปลี่ยนแปลงสินทรัพย์สำคัญ อาทิ รายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินสุทธิจำนวน 8.48หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.67หมื่นล้านบาทหรือ 46.02%ตามการบริหารสภาพคล่องส่วนเกิน ,เงินลงทุนสุทธิ 1.74 แสนล้านบาทลดลงกว่า 1หมื่นล้านบาทจากสิ้นปีก่อนหรือ 5.72%ส่วนใหญ่เกิดจากการบริหารสินทรัพย์ทางการเงินตามสภาวะโอกาสทางธุรกิจ ,เงินให้สินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับมีจำนวน 7.01แสนล้านบาทลดลงจากสิ้นปีก่อน 1.39 หมื่นล้านบาทหรือ 1.95%โดยเงินให้สินเชื่อเช่าซื้อยังคงชะลอตัวลงและปรับตัวลดลงตามภาวะตลาดรถยนต์รวมถึงการบริหารจัดการสินเชื่อด้อยคุณภาพให้ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ธนชาตยังมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลดลงกว่า 1พันล้านบาทหรือคิดเป็น 17.98% โดยมีสาเหตุหลักมาจากการบริหารต้นทุนเงินฝากตามกลยุทธ์การบริหารสภาพคล่องของธนาคาร

นอกจากนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองทิศทางสภาพคล่องไตรมาส2/2559 ว่าแนวโน้มตึงตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของสินเชื่อที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นและทิศทางของเงินฝากที่ยังคงขยายตัวในระดับต่ำต่อเนื่อง ท่ามกลางการบริหารต้นทุนเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เพื่อประคองความสามารถในการทำกำไร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,156 วันที่ 12 - 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2559