อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ความสำเร็จ ต้องทำงานเป็นทีม

13 พ.ค. 2559 | 03:00 น.
จากผลงานอันโดดเด่นของการบริหารทีมสโมสรฟุตบอล "เลสเตอร์ ซิตี้" ร่วมกับคุณพ่อ-วิชัย ศรีวัฒนประภา นับตั้งแต่บอสใหญ่แห่งคิงเพาเวอร์ ได้เข้าไปซื้อกิจการของสโมสร มาตั้งแต่ปี 2553 จากภาระหนี้ร่วม 103 ล้านปอนด์ (ราวกว่า 5 พันล้านบาท) ก้าวขึ้นมาทำกำไร และประสบความสำเร็จสูงสุดด้วยการสร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์ พรีเมียร์ ลีก ในฤดูกาลนี้ได้สำเร็จ เป็นครั้งแรกนับจากสโมสรแห่งนี้ก่อมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1919 หรือกว่า 132 ปี

[caption id="attachment_52236" align="aligncenter" width="503"] อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา[/caption]

ดังนั้นเมื่อถึงคราวส่งไม้ต่อ การกุมบังเหียนการบริหารธุรกิจคิงเพาเวอร์ ให้เจเนอเรชัน 2 "อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา" หรือคุณต็อบ จึงถูกมอบหมายให้นั่งแท่นประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ฯ พ่วงตำแหน่งรองประธานสโมสรฟุตบอล เลสเตอร์ ซิตี้ ที่เจ้าตัว ถือเป็นหัวหอกคนสำคัญ ในการร่วมบริหารและวางทิศทางการทำทีมมาตั้งแต่ต้น
ซีอีโอหนุ่มวัย 30 ปี เปิดใจว่านอกจากเขาจะเข้ามาสานต่อการทำงานจากคุณวิชัยแล้ว สิ่งสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ต้องเกิดจาก "การทำงานร่วมกันเป็นทีม" คีย์เมสเสจนี้ใช้ได้ทั้งในเรื่องของการบริหารธุรกิจดิวตี้ฟรีและธุรกิจในเครือของคิงเพาเวอร์ ไปจนถึงการบริหารทีมเลสเตอร์ ซิตี้

"ที่ผ่านมาด้วยการทำงานที่ใกล้ชิดกับคุณพ่อมาโดยตลอด ผมจึงได้รับการไว้วางใจและให้โอกาสที่จะมานั่งเป็นซีอีโอกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ฯ และสิ่งที่ผมจะทำ คือการสานต่อการทำงานจากคุณพ่อ ซึ่งท่านก็เป็นต้นแบบในการทำงานของผมอยู่แล้ว ส่วนจุดยืนในการทำงานของผม คือการทำงานร่วมกับทีมงานที่เป็นผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นรองประธาน หรือตำแหน่งต่างๆ ก็ยังต้องรักษาจุดยืนการทำงานร่วมกันเป็นทีมเหมือนเดิม แต่ผมจะมาปรับเปลี่ยนในเรื่องของวิสัยทัศน์ใหม่ๆที่เป็นมุมมองของคนรุ่นใหม่เข้ามาเสริมการทำงาน ที่จะเน้นในเรื่องของอี-บิสิเนส ใช้เทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการ การเพิ่มช่องทางขายผ่านทางออนไลน์ สร้างแบรนด์ไทยสู่ตลาดโลก"

ด้วยโจทย์เป้าหมายการขับเคลื่อนรายได้ของกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ฯในปี 2559 ซึ่งมีทั้งรายได้จากดิวตี้ฟรี โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพฯ และภัตตาคารรามายณะ วางไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 25% คือมีรายได้รวมอยู่ที่ 8.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ ปิดรายได้อยู่ที่ 6.8 หมื่นล้านบาท เฉพาะธุรกิจดิวตี้ฟรีอยู่ที่ 5-6 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ในแง่ของการบริหารทีมสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ การทำงานเป็นทีม เป็นเรื่องสำคัญอยู่แล้วสำหรับกีฬาฟุตบอล ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ทีมเวิร์กและการร่วมใจกันของนักเตะและโค้ช นำพาให้สโมสร ก้าวสู่ความสำเร็จ จากผลงานของสโมสรที่ดีมากในปัจจุบัน

"แม้ผมจะนั่งบริหารงานควบ 2 ตำแหน่ง แต่การบริหารงานต้องแยกเรื่องของกีฬากับธุรกิจออกจากกัน ผมมุ่งมั่นที่จะนำเลสเตอร์ ซิตี้ ยืนหยัดอยู่ในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ และปัจจุบันผลงานของทีมก็ไปได้ดี เลสเตอร์ ซิตี้ ก็มีรายได้เติบโตขึ้น ทีมมีมูลค่าสูงขึ้นจากตอนที่เราเข้าไปซื้อหลายเท่าตัว จากมูลค่าที่เราซื้อเดิมอยู่ที่ราว 100 ล้านปอนด์(ราว 5 พันล้านบาท) ขณะนี้ทีมมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาทไปแล้ว ซึ่งยิ่งเราอยู่ในพรีเมียร์ ลีกได้นานแค่ไหน เงินลงทุนที่เราใส่เข้าไปมากแค่ไหน มันก็จะกลับมามากเท่านั้น"

เขาฉายภาพต่อว่า ในแง่ของการลงทุน เรื่องจุดคุ้นทุนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่จริงๆแล้วเราได้คืนมาตั้งแต่วันที่เราได้ก้าวสู่ชั้นพรีเมียร์ ลีกแล้ว ผมบอกคุณพ่อแต่แรกว่าถ้าหากเราใช้เงิน 100 ล้านปอนด์ซื้อโรงแรม กว่าจะทำกำไรได้ต้องใช้เวลาราว 15-20 ปี หรือหากลงทุนซื้อโรงแรม 50 แห่งในอังกฤษ คิงเพาเวอร์ ก็คงมีคนรู้จักแค่เฉพาะในวงการโรงแรม แต่การซื้อทีมฟุตบอลในราคาเท่ากัน เราเป็นที่รู้จักในทุกวงการ เอาแค่เรื่องประชาสัมพันธ์ การตลาด ก็เกินมูลค่าการลงทุนไปแล้ว

ไม่เพียงแต่การทำงานเป็นทีมเท่านั้น คุณต็อบ ยังบอกกับเราว่า อีกจุดยืนหลักที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ "ความตั้งใจและมุ่งมั่นในการทำงาน" เขายกกรณีของเลสเตอร์ ซิตี้ให้ฟังว่า ที่ผ่านมาเราแสดงให้ชาวเมืองเลสเตอร์เห็นถึงความตั้งใจถึงการเข้าไปทำทีมอย่างจริงจัง ไม่ใช่การเข้าไปลงทุนซื้อ เพื่อมุ่งนำทีมไปขายต่อเหมือนเจ้าของสโมสรฟุตบอลต่างชาติอื่นๆ ที่เข้าไปซื้อทีมฟุตบอลระดับโลก

แต่เรามุ่งมั่นในการผลักดันทีม คัดสรรนักเตะที่มีความพร้อม และไม่อาศัยเพียงชื่อเสียงของนักบอลในวงการฟุตบอลเป็นที่ตั้ง หากใครมาสนามฟุตบอลเลสเตอร์ เมื่อ 5 ปีก่อน จะเห็นว่าแทบไม่มีอะไรเลย เราเข้าไปปรับปรุงทำสนามใหม่ และเตรียมจะลงทุนขยายจำนวนที่นั่งในสนามฟุตบอลคิงเพาเวอร์เพิ่มอีกราว 1 หมื่นที่นั่ง จาก 3.2 หมื่นที่นั่ง เป็น 4.2 หมื่นที่นั่ง หากได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานของเมืองเลสเตอร์ การสร้างศูนย์ฝึกเลสเตอร์ ซิตี้ อะคาเดมี เพื่อพัฒนานักเตะรุ่นใหม่ๆ ซึ่งการแสดงถึงความทุ่มเทการบริหารจัดการที่ดี โปร่งใส ตรงไปตรงมา จะทำทีมให้แข็งแกร่งและทำให้ชาวเลสเตอร์ ก็ให้การสนับสนุนเราเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตามแม้เขาจะต้องรับบทหนักใน 2 ตำแหน่งนี้ แต่ด้วยการบริหารงานในทีมสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ที่ทำมากว่า 5 ปี คุณต็อบ บอกว่าเขาได้วางระบบไว้มากแล้ว อีกทั้งโลกทุกวันนี้เป็นโลกแห่งอินเตอร์เน็ต และดิจิตอล ทำให้การทำงานทั้งในเมืองไทยและที่อังกฤษ มีความคล่องตัว การทำงานใน 2 หน้าที่ก็ทำควบคู่กันไปได้เป็นอย่างดี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,156 วันที่ 12 - 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2559