‘บิ๊กตู่’เร่งสร้างแฟลตดินแดง นำร่องช่วยผู้มีรายได้น้อยในกทม.

12 พ.ค. 2559 | 07:00 น.
เป็นปัญหาคาราคาซังมานานนับตั้งแต่ปี 2543 กรณีการรื้อถอนชุมชนแฟลตดินแดงที่ถูกต่อต้านคัดค้านอยู่เนืองๆจากคนในชุมชน นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบแผนผังแม่บทการพัฒนาพื้นที่และฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง โดยให้"การเคหะแห่งชาติ" (กคช.) พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2543

กระทั่งรัฐบาล บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้ามาบริหารประเทศ มีนโยบายสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง จากการประสานความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาผ่านการพูดคุยระหว่างแกนนำ คนในชุมชน ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และ กคช. กลุ่มคัดค้านได้ยุติบทบาทการเคลื่อนไหวดังกล่าว โดยผลการสำรวจความคิดเห็นและความต้องการของผู้พักอาศัยโดยขอให้ผู้มีสิทธิมาแสดงตนเพื่อยืนยันสิทธิในการเช่าห้องที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ โดยได้สำรวจทุกห้องจำนวน 5,846 หน่วย พบว่า ผู้พักอาศัย 5,760 หน่วย เห็นด้วยกับโครงการ 5,040 หน่วย คิดเป็น 87.50 %

นำมาสู่มติ ครม.เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 เห็นชอบหลักการแผนยุทธ์ศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 10 ปี (พ.ศ.2559-2568) ซึ่งมี "โครงการฟื้นฟูชุมชนเมืองดินแดง" ที่รัฐบาลพยายามเร่งรัดดำเนินโครงการตามนโยบายสำคัญดังกล่าว

ช่วงหนึ่งในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" เมื่อคืนวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณคนในชุมชน พร้อมระบุถึงความคืบหน้าโครงการนี้ว่า ได้รับการยอมรับและการสนับสนุนจากชุมชนดินแดงในการทำโครงการแล้ว มีผู้เห็นด้วยกว่า 87% ซึ่งหลังจากนี้จะมีการปรับปรุงพื้นที่ ปรับภูมิทัศน์ ปรับสิ่งแวดล้อมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยเดิมให้ดีขึ้น จากสภาพปัจจุบันที่คับแคบทรุดโทรมมีโอกาสที่จะพังได้ ถือเป็นโครงการนำร่องสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเขตเมือง

สำหรับชุมชนดินแดงมีที่พักอาศัยทั้งหมด 20,292 หน่วย แบ่งออกเป็นหลายส่วน ส่วนแรก คือ ผู้อยู่อาศัยเดิมจำนวน 11 อาคาร รวม 6,546 หน่วย ส่วนที่สอง คือ ผู้อยู่อาศัยใหม่มีรายได้น้อย และกลุ่มข้าราชการ 25 อาคาร จำนวน 13,746 หน่วย จากโครงการนี้จะมีผู้ได้รับประโยชน์ประมาณ 30,000 คน มีแผนดำเนินการ 8 ปี ตั้งแต่ปี 2559 - 2567 รวมการรื้อถอน ก่อสร้างและเคลื่อนย้าย กำหนดอัตราค่าเช่าจากเดิมที่ 300 – 3,950 บาท เป็น 1,265 – 4,305 บาท โดยรวมค่าเช่าเดิมบวกกับค่าบริหารจัดการสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ ภาษีโรงเรือนต่างๆ (ตารางประกอบ)

"ทุกอย่างต้องมีการปรับปรุงทั้งนั้น วันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปเยอะ ค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้น เราพยายามจะลดภาระให้มากที่สุด โดยจะเริ่มก่อสร้างโครงการแรกในเดือนสิงหาคมนี้ ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 18 เดือน" พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ระบุ

ทั้งนี้ จากรายงานการประชุม ครม. เมื่อ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา ปรากฎรายละเอียดแผนงานระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี แบ่งออกเป็น 4 ระยะ โดยระยะแรกซึ่งจะดำเนินการในเดือนสิงหาคม 2559-กุมภาพันธ์ 2561 นี้ มีพื้นที่โครงการ 1.99 ไร่ ก่อสร้างเป็นอาคารสูง 28 ชั้น เพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยเดิมในอาคาร 18-22 ขนาด 33 ตารางเมตร จำนวน 334 หน่วย ลานจอดรถ 6 ชั้น จำนวน 155 คัน งบประมาณกว่า 460,531 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้างประมาณ 378 ล้านบาท ค่าขนย้ายเกือบ 3 ล้านบาท ค่าชดเชยสิทธิจำนวนกว่า 24 ล้านบาท ฯลฯ

ระยะที่ 2 ดำเนินการระหว่างปี 2561-2563 จำนวน 1,247 หน่วย ระยะที่ 3 ปี 2563-2565 จำนวน 3,333 หน่วย และระยะที่ 4 ปี 2565-2567 จำนวน 1,632 หน่วย และพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ 88.86 ไร่ 25 อาคาร จำนวน 13,746 หน่วย และสวนสาธารณะ 21.47 ไร่ ใช้วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นกว่า 35,751 ล้านบาท โดย กคช. จะใช้แหล่งเงินกู้ภายในประเทศ ซึ่งกระทรวงการคลัง (กค.) เป็นผู้กู้และ กคช.ขอกู้ต่อจาก กค.ในอัตราดอกเบี้ยเท่ากับที่ กค.กู้มา โดยขอยกเว้นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการให้กู้ก่อ ส่วนที่สองจากงบประมาณแผ่นดิน โดยขอให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่ กคช.เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับดอกเบี้ยในช่วงการพัฒนาโครงการทั้งจำนวนและภายหลังโครงการแล้วเสร็จ หากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ กค.เป็นผู้จัดหามาสูงกว่าร้อยละ 2.15 ต่อปี กคช.จำเป็นต้องขอให้รัฐบาลโดย สงป.จัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อชดเชยดอกเบี้ยส่วนเกินแก่ กคช.ด้วย

อย่างไรก็ดี ตามแผนแม่บทของโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ได้ดำเนินการตามมติ ครม.มาตั้งแต่ปี 2543 เริ่มตั้งแต่การจัดทำแผนการรื้อย้ายผู้อยู่อาศัยเดิมให้ย้ายเพียงครั้งเดียว และไม่ต้องไปอยู่ที่อื่นชั่วคราว ทำการสำรวจข้อมูลผู้อยู่อาศัยเดิมจำนวนกว่า 5,000 หน่วย เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2549 และประกาศให้โอนสิทธิและตรวจสอบ พร้อมยืนยันสิทธิเสร็จสิ้น และได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาสิทธิการเช่า โดยพิจารณาให้สิทธิผู้อยู่อาศัยเดิมที่เป็นคู่สัญญาได้มีสิทธิเข้าอยู่ในอาคารใหม่เป็นลำดับแรกในอัตราค่าเช่าพิเศษต่ำกว่าปกติ ตามมติ ครม.ทุกประการ

ส่วนผู้อยู่อาศัยเดิมที่เป็นคู่สัญญากับ กคช.ที่ต้องการย้ายออกจากโครงการจะได้ค่าชดเชยสิทธิในการเช่าหน่วยละ 4แสนบาท และเงินช่วยเหลือค่าขนย้ายหน่วยละ 1หมื่นบาท สำหรับคู่สัญญากับ กคช.ทุกราย พร้อมกันนี้กำหนดให้มีพื้นที่ที่ใช้เป็นศูนย์บริการชุมชนที่เพียงพอและเหมาะสม ทั้งยังกำหนดให้มีพื้นที่เพื่อเป็นร้านค้าชุมชนสำหรับผู้อยู่อาศัยเข้าไปประกอบการค้าได้ไม่น้อยกว่าในปัจจุบัน ซึ่งทั้งโครงการจะมีพื้นที่ประกอบการค้าประมาณ 153,060 ตารางเมตร และตามแผนแม่บทฯนี้ ระบุว่า ไม่มีแผนจะพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ แต่จะนำพื้นที่ที่เหลือจากการพัฒนารองรับผู้อยู่อาศัยเดิม มาพัฒนาเป็นพื้นที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับข้าราชการและประชาชนทั่วไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,156 วันที่ 12 - 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2559