แม่สอดจุดเชื่อมความเจริญ

09 พ.ค. 2559 | 10:00 น.
เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปเก็บข้อมูลวิจัยร่วมกับทีมคณะเศรษฐศาสตร์จุฬา ที่กำลังศึกษาวิจัยเรื่องนโยบายการค้าและการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศเพื่อนบ้านให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืนสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและพัฒนา (องค์กรมหาชน) ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยหัวข้อนี้ฟังดูแล้วค่อนข้างจะแปลกเพราะเรากำลังศึกษาว่า ควรจะมีนโยบายการค้าและสนับสนุนการลงทุนอย่างไร เพื่อให้ประเทศเพื่อนบ้านนั้นเติบโต แต่ไม่แปลกหากคิดอีกมิติมีผลทางอ้อมซึ่งหมายความว่าทำให้ประเทศไทยโดยเฉพาะผู้ประกอบการและชาวบ้านที่อยู่ตามชายแดนได้รับผลประโยชน์ด้วย เพราะเราจะเติบโตไปด้วยกันฉันพี่น้อง และเป็นหุ้นส่วนธุรกิจที่ดีต่อกัน

จากการไปสำรวจและเก็บข้อมูลที่แม่สอดและเมียวดี ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับทั้งผู้ประกอบการตัวแทนของหอการค้า เกษตรกร ข้าราชการ และชาวบ้าน แม้ว่าจะเป็นการไปสำรวจในระยะเวลาสั้นๆ (ต้องกลับไปอีกนะครับ)แต่ได้ข้อคิดที่จะต้องมาทำการบ้านต่ออีกมากมาย แม่สอดนั้นถือว่าเป็นเมืองยุทธศาสตร์ทางด้านการค้าการลงทุนผ่านธุรกิจการค้าชายแดน อำเภอแม่สอดมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก ไม่ว่าจะเป็นถนนระดับสี่เลน ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ โรงแรมหรู มีจุดศุลกากรที่มีคนเข้าออกตลอดทั้งวัน

สินค้าที่ส่งออกนั้นสามารถนำไปขายได้ถึงย่างกุ้ง ซึ่งมีระยะทางห่างจากแม่สอดเพียงแค่ 450 กิโลเมตรใช้เวลาเดินทางประมาณแค่ 8 ชั่วโมง ที่น่าสนใจไปกว่านั้น สินค้าสามารถขึ้นเหนือไปยังตอนกลางของประเทศ เมืองมัณฑะเลย์ซึ่งห่างจากแม่สอดไป 690 กิโลเมตร และหากขึ้นเหนือต่อจากมัณฑะเลย์ไปทางตะวันออกอีกประมาณ 450 กิโลเมตรสามารถไปถึงชายแดนจีน เมืองมู่สี่ (Muze) หรือขึ้นเหนือจากมัณฑะเลย์ไปทางตะวันตกอีกประมาณ 550 กิโลเมตร ก็จะถึงเมืองทามู(Tamu) ของอินเดีย แม่สอดจึงเป็นประตูหน้าด่านที่สำคัญของถนน Asian Highways ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย เมียนมา และอินเดียให้ความเห็นชอบในกรอบข้อตกลง 3 ประเทศ

หากจะพิจารณาเฉพาะการค้าระหว่างไทยและเมียนมา พบว่าสินค้าส่งออกที่สำคัญนั้นจะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ซึ่งประกอบไปด้วยเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น น้ำอัดลม เบียร์ เครื่องดื่มบำรุงกำลัง และยังมีโทรศัพท์มือถือพร้อมอุปกรณ์ที่ส่งออกไปเป็นจำนวนมากในแต่ละเดือน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านการสื่อสารสู่ยุคที่ทันสมัยของเมียนมา สินค้าอื่นๆ ก็จะมีรถจักรยานยนต์ เครื่องเกี่ยวนวดข้าว และผ้าทอที่ทำด้วยผ้าฝ้าย ส่วนสินค้านำเข้านั้น จะเป็นสินค้าเกษตรเกือบทั้งหมด อาทิเช่น ผลิตภัณฑ์จากไม้ยาง ถั่วลิสง โค กระบือ เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือเรื่องเกี่ยวกับถนนเส้นใหม่ ซึ่งเป็นถนนเส้นสั้นๆภายในเมียนมา เมื่อข้ามจากแม่สอดเข้าไปยังเมืองเมียวดี การจะเดินทางเข้าไปในเมียนมานั้นต้องผ่านเมืองก๊อกกาเร็ก ถนนสั้นๆระหว่างเมียวดีกับก๊อกกาเร็กนั้นเดิมเป็นถนนเล็กๆ ซึ่งวิ่งรถได้ทางเดียว ทำให้จะต้องมีกำหนดวันรถขาไปสลับกับวันรถขามา หรือกล่าวได้ว่าหนึ่งปีเราส่งออกได้แค่หกเดือน อีกหกเดือนไว้สำหรับนำเข้าแต่ปัจจุบันกลายเป็นถนนลาดยางอย่างดีมีไหล่ทางที่กว้างขวาง ทำให้การเดินทางนั้นสะดวกมากขึ้น ส่วนเมียวดีเองมีการพัฒนาด่านให้เป็นทั้งจุดบริการเดียว (one-stop service) มีเขตปลอดอากร เขตการค้าและอุตสาหกรรม มีการก่อสร้างตลาดปลา ตลาดสินค้าเกษตร และโรงแรม การเติบโตนั้นรวดเร็วไม่แพ้แม่สอด นักธุรกิจแม่สอดได้รุกไปค้าขายทางฝั่งเมียนมาเป็นจำนวนหนึ่งแล้ว ต้องบอกว่าเป็นความสามารถของสมาชิกหอการค้าแม่สอดที่มีความเข้าใจการทำตลาดเมียนมา ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่ในไทยได้เริ่มเข้าไปตั้งโรงงานแล้วเช่นกัน

แม้ว่าการค้าและการลงทุนมีแนวโน้มที่จะเฟื่องฟูในอนาคต แต่ยุทธศาสตร์ที่ภาคเอกชนสนใจ คือเรื่องของการท่องเที่ยวเพราะธุรกิจการท่องเที่ยวนั้นทำได้ไม่ยากเมื่อเทียบกับการอุตสาหกรรม อีกทั้งผู้ประกอบการแม่สอดมีความคุ้นเคยและรู้จักพื้นที่ในเมียนมาเป็นอย่างดี การท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปจากแม่สอดและกลับมาที่แม่สอดหรือจะวนจากแม่สอดเที่ยวเมียนมาและกลับทางแม่ฮ่องสอนหากสามารถเปลี่ยนเป็นจุดผ่านแดนถาวร หรืออาจลงใต้กลับทางระนองก็ได้

ในแง่ของการท่องเที่ยวนั้น เมียนมามีแหล่งวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย แต่มีความแตกต่างที่น่าค้นคว้า ก่อให้เกิดการท่องเที่ยวทั้งเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ สิ่งที่นักลงทุนไทยสามารถทำได้ร่วมกับผู้ประกอบการเมียนมา คือเรื่องการบริหารจัดการและสิ่งอำนวยความสะดวกเช่นสถานีบริการน้ำมัน โรงแรม ร้านอาหาร และแหล่งซื้อของฝาก ในปัจจุบัน หากแก้ปัญหาจุดนี้ได้ ธุรกิจการท่องเที่ยวจะเติบโตอย่างรวดเร็ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,155 วันที่ 8 - 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559