ออมสินเตรียมออกบัตรกดเงินสด สนองนโยบายแก้หนี้นอกระบบ

10 พ.ค. 2559 | 11:00 น.
"แบงก์ออมสิน" เตรียมออกบัตรกดเงินสดสำหรับผู้มีรายได้น้อย นอกจากปล่อยกู้ผ่านธนาคารประชาชนอุ้มลูกหนี้นอกระบบ เดินหน้าวางระบบ E-payment เต็มรูปแบบ มั่นใจไม่ตกขบวน /ตั้งเป้ากำไรสิ้นปี 1.78 หมื่นล้านบาท บูมสินเชื่อโต 6.6% เดินหน้าตั้งสำนักดัชนีฐานราก "ประเมินผลงาน-นโยบายรัฐ"

[caption id="attachment_51314" align="aligncenter" width="343"] ชาติชาย พยุหนาวีชัย  ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ชาติชาย พยุหนาวีชัย
ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน[/caption]

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสินเปิดเผยถึง แนวทางการปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนที่เป็นหนี้นอกระบบในอัตราดอกเบี้ยต่ำว่า ทางกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)คงจะต้องออกกฎหมายเพื่อรองรับก่อนดำเนินนโยบาย ซึ่งน่าจะเห็นกฎหมายออกมาเร็วๆนี้ เพราะเป็นนโยบายเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม นอกจากธนาคารออมสินแล้วยังมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)ด้วย ซึ่งในหลักการต้องเสนอกฎหมายต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาเห็นชอบก่อนดำเนินนโยบายดังกล่าว

สำหรับธนาคารออมสินเบื้องต้นจะดำเนินการผ่านโครงการธนาคารประชาชน ซึ่งคิดดอกเบี้ยในอัตรา 0.75-1%ต่อเดือนเฉลี่ยวงเงินกู้ 2 แสนบาทต่อราย โดยไม่มีบุคคลค้ำประกัน แต่จะให้วิสาหกิจชุมชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยคัดกรองประชาชนกลุ่มดังกล่าว โดยเฉพาะวิสาหกิจชุมชนนั้นจะใกล้ชิดกลุ่มลูกค้าดังกล่าว จึงเป็นการสนับสนุนแนวทางแก้ไขหนี้นอกระบบได้ชัดขึ้น นอกจากนี้เมื่อครม.เห็นชอบต่อร่างกฎหมายของธปท.แล้ว ทางธนาคารออมสินเตรียมที่จะออกบัตรกดเงินสดสำหรับผู้มีรายได้น้อย(People Card)ในอีก 2-3เดือนข้างหน้า รวมถึงการให้สินเชื่อวงเงินฉุกเฉินผ่านMobile Banking( MyMo)

ขณะเดียวกันเพื่อให้สอดคล้องตามนโยบาย E-paymentของรัฐบาล ทางธนาคารออมสินก็ได้เริ่มออกบัตรชิปการ์ด ไปตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะสามารถทยอยออกบัตรชิปการ์ดได้1-2แสนบัตรต่อเดือน ซึ่งตามแผนภายใน 1 ปีตั้งเป้าออกบัตรชิปการ์ดจำนวน 2.5 ล้านใบ โดยบัตรเก่าที่เป็นแถบแม่เหล็กทั้งบัตรเดบิตและบัตรเครดิตยังใช้ทำธุรกรรมทางการเงินได้ เมื่อครบอายุจึงนำมาเปลี่ยนเป็นชิปการ์ด ซึ่งปัจจุบันธนาคารได้ปรับระบบให้ตู้เอทีเอ็มของธนาคารสามารถรองรับการใช้งานของบัตรได้ทั้ง 2 ระบบ (บัตรแม่เหล็กและบัตรชิปการ์ด) จึงให้ความสำคัญกับการปรับระบบตู้เอทีเอ็มทั่วประเทศที่มีอยู่มากกว่า 7 พันตู้ ซึ่งนอกเหนือจากแถบแม่เหล็กที่ให้บริการได้จำนวน 86% ของตู้ทั้งหมด( ภายใน 16 พ.ค.2559) คาดว่าภายในสิ้นปี2559 จะปรับระบบได้ครบทุกตู้

ด้านการดำเนินงานในปี2559นี้ ธนาคารออมสินกำหนดเป้าการขยายตัวของสินเชื่อไว้ที่ 6-8% กรณีหากไม่รวมสินเชื่อกลุ่มอาชีพ คาดว่าจะขยายตัว 6.6% และน่าจะมีกำไรสุทธิประมาณ 1.78 หมื่นล้านบาท ขณะที่ฐานเงินฝากคาดว่าจะเติบโตถึง 4-6% โดยดูแลให้เป็นไปตามภาวะตลาด เพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ เนื่องจากปัจจุบันยังมีสภาพคล่องเหลือประมาณ 3-4 แสนล้านบาทพอร์ตสินเชื่อ 1.9 ล้านล้านบาทโดยไตรมาสแรก(ม.ค.-มี.ค.59) ปล่อยสินเชื่อใหม่กว่า 1แสนล้านบาทแต่ยอดสินเชื่อคงค้างลดลงกว่า 1.76หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีลูกหนี้รายใหญ่ชำระคืนเงินกู้ ขณะที่ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 1,656 ล้านบาท ส่วนสำคัญมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 1.4หมื่นล้านบาท รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ 1,129 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามกำไรสุทธิที่ลดลงจากปีก่อนนั้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากธนาคารออมสินเริ่มนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) กองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐพ.ศ.2558 จำนวน 0.18%ของเงินฝากโดยเป็นเงินประมาณกว่า 800 ล้านบาท

นายชาติชายกล่าวเพิ่มเติมว่า ในอีก 1-2สัปดาห์นับจากนี้ จะเปิดเผยดัชนีเศรษฐกิจฐานรากเป็นครั้งแรกของธนาคารออมสิน ผ่าน "ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก" ซึ่งเป็นการลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่าง 1,500คนเน้นประชาชนระดับฐานรากผู้มีรายได้ต่ำกว่า 1.5หมื่นบาท อาทิ กลุ่มเกษตรกรและผู้ค้ารายย่อย ทั้งนี้เพื่อนำข้อมูลไปปรับใช้ในการดำเนินนโยบายช่วยเหลือ หรือ ยกระดับเศรษฐกิจระดับฐานรากได้ดียิ่งขึ้น

"ธนาคารออมสินจะนำเสนอผลสำรวจทุกครั้งต่อกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐบาลเพื่อนำข้อมูลไปพัฒนาแนวทางช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีดัชนีชี้วัดถึงผลของการดำเนินนโยบายภาครัฐที่ลงสู่กลุ่มฐานรากว่าเป็นนโยบายที่ถูกจุดหรือสร้างความพึงพอใจแต่อย่างใด"

นายธัชพล กาญจนกูล รองผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน ระบุว่า กล่าวว่า การจัดทำดัชนีเศรษฐกิจฐานราก (Grassroots Economic Sentiment Index: GSI) นั้น เป็นข้อมูลที่ได้จากการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนในระดับฐานรากใน 11 ประเด็น เช่น ภาวะเศรษฐกิจ, รายได้ ,การออม การก่อหนี้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึง สถานการณ์การจ้างงาน และการใช้จ่าย เป็นต้น โดยปัจจุบันออมสินมีส่วนงานวิจัยที่สนับสนุนด้านการออกผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว แต่ทางผู้อำนวยการมองว่ายังไม่เพียงพอจึงมีนโยบายให้จัดตั้งศูนย์ฯขึ้นเพื่อให้มีงานวิจัยที่กว้างขึ้น ทั้งนี้ ฐานบัญชีเงินฝากของลูกค้ารายย่อยหรือกลุ่มฐานราก28ล้านบัญชีนั้น มี 90%ของบัญชีเงินฝากที่เป็นลูกค้าของธนาคารออมสิน

" หลายรัฐบาลที่เน้นนโยบายสู่เศรษฐกิจฐานราก ในช่วงที่ผ่านมาแต่ไม่มีฐานข้อมูลที่บ่งชี้ผลของการดำเนินนโยบายดังกล่าว เช่น นโยบายจำนำข้าวที่ปล่อยเงินเข้าสู่เศรษฐกิจ 6 หมื่นล้านบาท แม้ว่าช่วงนั้นจะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้น 1% ก็จริง แต่ก็ไม่สามารถชี้ชัดว่าเงินมาจากไหน"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,155 วันที่ 8 - 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559