แก้กฎหมายปรามขายตรง สคบ.ป้องผู้บริโภค/ขอใบอนุญาตต้องวางเงินแสน

09 พ.ค. 2559 | 02:00 น.
สคบ. ควักแจกใบอนุญาตจ้าละหวั่น หลังผู้ประกอบการธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงเมินเศรษฐกิจไม่ฟื้น เดินหน้าโหมทำธุรกิจหนัก ขณะที่เปิดเออีซีไร้แรงหนุนต่างชาติยังไม่สนใจเข้าบุกตลาดไทย เผยเป็นผลจากตลาดไทยมีคู่แข่งกว่า พันราย ขณะที่ตัวเลขร้องเรียน 170 เรื่องเหตุสินค้าไม่เป็นไปตามโฆษณา ชำรุดเสียหาย ชี้รอผลแก้กฎหมายให้บริษัทวางเงินประกันจะแก้ไขปัญหาได้ พร้อมวางกรอบเริ่มต้น 1 แสนต้องวางเงินประกันแก้ปัญหาผู้บริโภคเสียหาย

ร.ต.ไพโรจน์ คนึงทรัพย์ เลขานุการกรม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงสถิติการรับจดทะเบียนธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง ปี 2559 ว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันมีผู้มายืนขอรับจดทะเบียนและได้รับใบอนุญาตแล้ว 48 บริษัท แบ่งเป็นธุรกิจขายตรง 30 บริษัท และธุรกิจตลาดแบบตรงอีก 18 บริษัท จากปัจจุบันมีบริษัทที่ยังดำเนินธุรกิจอยู่ 1,112 บริษัท ตั้งแต่ช่วงปี 2545-2558 โดยปริมาณการขอจดทะเบียนดำเนินธุรกิจในปีนี้ถือว่าเป็นปกติ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะชะลอตัว ซึ่งส่วนใหญ่การดำเนินธุรกิจยังเป็นบริษัทของผู้ประกอบการคนไทยเป็นหลัก แต่อาจจะมีบางบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นเป็นชาวต่างชาติบ้าง

“การจดทะเบียนเพื่อดำเนินธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง ไม่ถือว่ามากหรือน้อยในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ รวมถึงผู้ประกอบการยังคงเป็นคนไทย แม้ว่าช่วงก่อนหน้าที่จะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี มีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้ประกอบการจากต่างชาติเข้ามาดำเนินธุรกิจจำนวนมาก ซึ่งอาจจะเป็นเพราะต่างชาติเห็นว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้ประกอบการธุรกิจขายตรงเป็นจำนวนมากแล้วก็เป็นไปได้ สำหรับแผนธุรกิจที่มาจดทะเบียนขอใบอนุญาต จะพบว่าเป็นแผนในรูปแบบไบนารี่ หรือการหาสมาชิก 2 คนต่อๆ กันไป ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นเพราะแผนที่ทำให้ธุรกิจเติบโตได้เร็ว”

ส่วนบริษัทที่สคบ.เพิกถอนใบอนุญาตในปีนี้มีประมาณ 10 บริษัท ซึ่งความผิดจะเป็นลักษณะสถานที่ตั้งไม่ตรงกับใบอนุญาต หรือสถานที่ตั้งเปลี่ยนไปดำเนินการธุรกิจอื่นแทน แต่มี 1 บริษัทที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าจะเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชนหรือลักษณะแชร์ลูกโซ่หรือไม่ ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ อยู่ระหว่างการตรวจสอบหลักฐานและแจ้งกลับมายังสคบ. เพื่อดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตหากกระทำความผิดจริง

ส่วนเรื่องร้องเรียนของธุรกิจขายตรงตั้งแต่ปี 2556-2558 มีจำนวน 1,005 เรื่อง และในปีนี้มี 170 เรื่อง แบ่งเป็นธุรกิจขายตรง 50 เรื่อง และตลาดแบบตรงอีก 120 เรื่อง ซึ่งเรื่องร้องเรียน ได้แก่ 1. ขอคืนสินค้าและขอเงินคืน เนื่องจากสินค้าชำรุดเสียหาย สินค้าไม่เป็นไปตามที่โฆษณา และไม่พึงพอใจสินค้าที่สั่งซื้อ 2. ขอให้ตรวจสอบการโฆษณาขายสินค้าพร้อมเรียกค่าเสียหาย 3. ขอให้บริษัทปฏิบัติตามสัญญา การสั่งซื้อที่เสร็จเด็ดขาด 4. ผู้ประกอบธุรกิจไม่ปฏิบัติตามสัญญา 5. ผู้ประกอบธุรกิจส่งมอบสินค้าเลยกำหนดระยะเวลาที่ระบุในหน้าเว็บไซต์ และ 6.ผู้ประกอบธุรกิจคืนเงินแก่ผู้บริโภค ไม่ตรงตามที่โฆษณาที่ระบุในหน้าเว็บไซต์

ร.ต.ไพโรจน์ กล่าวอีกว่า เมื่อเกิดปัญหาที่ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนจากการซื้อสินค้า สคบ.จะเรียกให้ผู้ประกอบการมาเจรจาตกลง ซึ่งส่วนใหญ่จะสามารถเจรจากันได้ด้วยดี แต่หากเป็นธุรกิจตลาดแบบตรง โดยเฉพาะการขายสินค้าผ่านเว็บไซต์หรือออนไลน์ มักจะไม่สามารถหาตัวผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าได้ จึงต้องใช้เวลาในการสืบหาข้อมูลพอสมควร แต่มีบางกรณีที่มีการสั่งซื้อสินค้าจำนวนมากผ่านออนไลน์เพื่อมาจำหน่ายต่อ โดยเฉพาะสินค้าแบรนด์เนมและพบว่าโดนหลอกลวง ทางสคบ.จะไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ เนื่องจากผู้ซื้อไม่ได้อยู่ในฐานะของผู้บริโภค จึงต้องไปดำเนินการแจ้งความเอาผิดในฐานฉ้อโกงประชาชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแทน

“ส่วนธุรกิจขายตรงหากเป็นผู้บริโภคที่ซื้อสินค้ามาใช้เอง สคบ.จะเรียกผู้ประกอบการมาแก้ไขปัญหา ซึ่งสามารถตกลงกันได้ แต่ถ้าเป็นผู้จำหน่ายอิสระที่อาจจะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำธุรกิจ สคบ.จะเป็นตัวกลางในการเจรจาให้แต่ไม่ถือว่าอยู่ในฐานะของผู้บริโภคเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การแก้ไขปัญหาได้ในหลายเรื่อง ทางสคบ.ได้เสนอแก้ไขพ.ร.บ. ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 ใน5-6 ประเด็นสำคัญ ซึ่งมีเรื่องการนำเสนอให้มีการวางเงินประกันกับผู้ที่จะดำเนินธุรกิจ เพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ในการแก้ไขปัญหาหากกรณีเกิดปัญหาขึ้นกับผู้บริโภค ที่ขณะนี้เรื่องอยู่ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสนช. หากกฎหมายดังกล่าวผ่านแล้วจะทำให้แก้ไขปัญหาผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรมได้มาก และแก้ไขปัญหาต่างๆได้อีกหลายอย่างด้วยกัน”

สำหรับกรอบวงเงินประกันที่จะนำมาใช้สำหรับการขอใบอนุญาตดำเนินธุรกิจนั้น ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรงที่จะเป็นผู้กำหนด แต่น่าจะเริ่มต้นที่วงเงิน 1 แสนบาทสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก และปรับเพิ่มขึ้นตามขนาดของธุรกิจ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่เสนอแก้ไขให้ผู้ประกอบการในธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง จะต้องรายงานผลการดำเนินงานให้สคบ.ได้รับทราบทุก 6 เดือน และใบอนุญาตที่มีกำหนดอายุจะต้องต่อใหม่ ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะช่วยลดปัญหาการฉ้อโกงประชาชน รวมถึงปัญหาความเดือดร้อนอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคได้ด้วย ซึ่งทางสคบ.คาดว่ากฎหมายดังกล่าวน่าจะผ่านสนช.ออกมามีผลบังคับได้ภายในปีนี้

ร.ต.ไพโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เพื่อให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงการบริการของสคบ. และให้ผู้บริโภคมีช่องทางในการร้องเรียนจากการใช้สินค้าและบริการ จึงเตรียมเปิดตัวแอพพลิเคชั่นรับเรื่องร้องเรียนในปีนี้ด้วย ขณะเดียวกันยังได้แต่งตั้งสำนักงานสคบ.เขตภูมิภาคจำนวน 9 สำนักงานทั่วประเทศ โดยเบื้องต้นมีเจ้าหน้าที่ของสคบ.ประจำแห่งละ 4 คน เพื่อเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานในท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ส่วนภูมิภาค สำหรับการรับเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชนด้วย แม้ว่าปัจจุบันเรื่องร้องเรียนที่มาจากต่างจังหวัดจะมีสัดส่วนเพียง 10-20% ก็ตาม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,155 วันที่ 8 - 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559