กระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะสั้น ระยะยาว

09 พ.ค. 2559 | 00:00 น.
ขณะนี้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดภาษีการซื้อ การโอนอสังหาริมทรัพย์ เหลือ 0.01% ได้ครบวาระแล้ว หลังจากต่อจากกลางปีที่แล้วมาเป็นเดือนเมษายน มาตรการนี้กลุ่ม 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์เป็นตัวตั้งตัวตีที่จะให้รัฐบาล คสช.นำมาตรการนี้มากระตุ้นเศรษฐกิจต่อเสริมมาตรการกระตุ้นอื่นๆ ผลคือได้ผลพอใช้ ผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในขณะนี้มี 2 กลุ่ม คือกลุ่มซื้ออยู่จริง ที่เรียกว่า "บ้านหลังแรก" กลุ่มคนพวกนี้ได้แก่กลุ่มคนชั้นกลาง โดยเฉพาะอยู่ในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ มีความต้องการที่อยู่อาศัย ทั้งบ้าน ทาวเฮาส์ และคอนโดมิเนียม ราคามักจะ "ไม่เกิน 3 ล้านบาท" ปีหนึ่งมียูนิตร่วม 6-7 หมื่นยูนิตจากตลาดกรุงเทพฯ 1 แสนยูนิต (ทั้งประเทศ 2 แสนยูนิต)

กลุ่มผู้ซื้อกลุ่มที่ 2 คือ "นักลงทุน" มีทั้งเก็งกำไรให้เช่า และเก็งกำไรจริงๆ มีอีกประมาณ 3-4 หมื่นยูนิต หรือประมาณ 30-40% เป็นบ้านหลังที่ 2 คอนโดฯหลังที่ 3 เป็นต้น หรือเพื่อขายต่อ หรือเป็น Speculator จริงๆ ไม่ยอมโอนจะมีประมาณ 2 หมื่นยูนิต มีทั้งราคาแพง ปานกลาง และราคาน้อย

ตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย "กำลังปรับเปลี่ยน" เพราะคนไทยมีคนชั้นกลางมากขึ้น มีรายได้มากขึ้น เช่น คนอีสานมีบ้าน 2 หลัง ต่างจังหวัด ภูมิลำเนาเดิม 1 หลัง ทำงานในกรุงเทพฯซื้อทาวน์เฮาส์หรือคอนโดมิเนียมราคาถูกอีก 1 ยูนิต

รัฐบาลทุกรัฐบาลจะใช้นโยบายกระตุ้นที่อยู่อาศัยเป็น "มาตรการที่นิยมสูงสุด" ไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่ทั่วโลก อเมริกาสมัย CLINTON สิงคโปร์สมัยลีกวนยู ไทยใช้วิธีนี้มาหลายครั้ง สมัยแรกๆ ก็ท่านรองสมคิดนำมาใช้สมัยนายกฯทักษิณกระตุ้นด้วยวิธีนี้หลายครั้งจนแรงกระตุ้นจะอ่อนตัวลงทุกทีจนจะกลายเป็นการโด๊ปประจำปีไปแล้ว

นอกจากวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยอสังหาริมทรัพย์แล้วก็มีมาตรการซึ่งน่าจะมีผลระยะยาวมากกว่า ดีกว่า และแน่นอนกว่าคือ "การลงทุนอินฟราภาครัฐ" โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในการขนส่งทั้งคนทั้งสินค้า แม้กระทั่งโลจิสติกส์ด้านการสื่อสารรัฐบาลไทยก็ทำมาโดยตลอด เพิ่มการลงทุน โลจิสติกส์ระบบถนนดีที่สุดที่หนึ่งในเอเชีย กำลังจะเร่งทำระบบราง (Rail) รถไฟ ขนส่งมวลชนในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ การกระตุ้นวิธีนี้ "น่าจะได้ผลต่อเนื่องระยะยาว" ไม่เหมือนกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์เป็นเฉพาะครั้งก็หมดไป

การกระตุ้นระยะยาวมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา (Developing Country) ที่ต้องการยกระดับระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน คือ "การขนส่งทั้งคน ทั้งสินค้า ทั้งการสื่อสาร" ประเทศไทยกำลังลงทุน 2 ล้านล้านบาท เป็นการขนส่งทางบกอย่างเดียว แต่คงไม่พอ น่าจะติดต่อระบบทางน้ำ (ทั้ง INLAND และ ATSEA) เพราะการขนส่งทางน้ำถูกสุด และอย่าลืม "ทางอากาศ"

ขณะนี้ทุกคนใช้การเดินทางทางอากาศมากขึ้นทั่วโลก ง่ายขึ้น ถูกขึ้น เร็วขึ้น ทางอากาศของไทยเรายังไม่ดีพอ จะมีสนามบินทุกจังหวัดได้หรือไม่ ? ให้เอกชนมาลงทุนเป็น PPPs รัฐจัดหาพื้นที่ เอกชนจัดการเรื่องอื่นเหมือนในอเมริกาที่เครื่องบินส่วนตัว สนามบินส่วนตัว ง่ายซื้อเครื่องบินเหมือนซื้อรถ จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง ยกระดับการเดินทางในระดับโลก

การกระตุ้นระยะสั้น อย่าทำบ่อยนัก การกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์มีหลายวิธีมิใช่มีแต่บ้านหลังแรก ยกเว้นภาษี ตลาดเช่าระยะยาว รัฐจัดหาที่ดิน เอกชนมาลงทุน ยกเว้นภาษีให้เช่นในยุโรปก็ได้ Infra Fund ให้เอกชนมาทำอินฟราดอกเบี้ยต่ำก็ได้ กระตุ้นผ่านดีมานด์ของผู้สูงวัย ซึ่งมีมากก็ได้ ส่วนเรื่องการกระตุ้นด้วยสาธารณูปโภคหลักนั้นต้องมีแผนระยะยาวครบทุกโหมด ก็ขอฝากให้รัฐบาลช่วยคิดต่อด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,155 วันที่ 8 - 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559