ผงะ มาตรฐานตรา Q. ของ มกอช.พบสารเคมีตกค้างมากที่สุด

04 พ.ค. 2559 | 11:40 น.
13133085_10153631069361395_806124659187521191_n นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือ Thai-PAN ได้เปิดเผยผลการสุ่มเก็บตัวอย่างผักและผลไม้ที่ประชาชนนิยมบริโภค เช่น กะหล่ำปลี แตงกวา ผักบุ้งจีน มะเขือเทศ ผักกาดขาวปลี คะน้า ถั่วฝักยาว มะเขือเปราะ กะเพรา และพริกแดง แตงโม มะม่วงน้ำดอกไม้ มะละกอ แก้วมังกร ฝรั่ง และส้มสายน้ำผึ้ง จำนวน 138 ตัวอย่าง ในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล เชียงใหม่และอุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 16-18 มีนาคม พ.ศ. 2559 และจัดส่งไปวิเคราะห์หาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างแบบ Multi Residue Pesticide Screen (MRPS) ซึ่งสามารถวิเคราะห์หาสารพิษตกค้างได้กว่า 450 ชนิด ที่ห้องปฏิบัติการในประเทศอังกฤษที่ได้รับรอง ISO/IEC 17025:2005 โดย ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการตรวจหาสารเคมีตกค้างที่ครอบคลุมชนิดสารมากที่สุดที่มีการเปิดเผยต่อประชาชน ผลการเฝ้าระวังพบว่า

ในภาพรวม มีผักและผลไม้ตกค้างเกินมาตรฐานนั้นสูงถึง 46.4% หรือเกือบครึ่งหนึ่งของตัวอย่างที่ตรวจ โดยข้อมูลที่น่าตระหนกมากไปกว่านั้นคือ การพบว่าผักและผลไม้ซึ่งได้รับตรา Q โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) พบสารเคมีตกค้างมากที่สุด โดยพบสูงถึง 57.1% นอกเหนือจากนั้นผักและผลไม้อินทรีย์ที่ได้รับการรับรอง Organic Thailand ซึ่งไม่ควรตรวจพบการตกค้างของสารเคมีกลับพบการตกค้างสูงเกินมาตรฐานถึง 25% ของจำนวนตัวอย่าง

13179380_10153631069466395_4642119162669397014_n

ไทยแพนยังพบด้วยว่า จำนวนตัวอย่างของผักและผลไม้ซึ่งจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดซึ่งผู้บริโภคต้องจ่ายแพงกว่ากลับมิได้มีความปลอดภัยมากกว่าตลาดสดโดยทั่วไป เพราะมีจำนวนตัวอย่างการตกค้างเกินมาตรฐานถึง 46% ในขณะที่ตลาดสดมีสัดส่วนมากกว่าเล็กน้อยที่ 48%

การเฝ้าระวังในครั้งนี้ยังพบด้วยว่า มีสารกำจัดศัตรูพืชที่ถูกห้ามใช้แล้ว ไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียน รวม 11 ชนิด (จากการตรวจสอบรายการวัตถุอันตรายที่ได้รับการขึ้นทะเบียน เผยแพร่โดยสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร 4 เมษายน 2559) ตกค้างในผักและผลไม้ที่จำหน่ายในตลาด และมีผู้ประกอบการผักและผลไม้รายใหญ่ที่จัดส่งสินค้าไปยังโมเดิร์นเทรดกระทำความผิดซ้ำซาก ในการจำหน่ายผักและผลไม้ไม่ปลอดภัย และยังไม่พบว่ามีการดำเนินคดีกับบริษัทดังกล่าว

ผลการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชยังพบว่า ผักที่พบปริมาณสารพิษตกค้างเกินค่า MRL ได้แก่ พริกแดง 100% ของตัวอย่าง กะเพราและถั่วฝักยาว 66.7% คะน้า 55.6% ผักกาดขาวปลี 33.3% ผักบุ้งจีน 22.2% มะเขือเทศและแตงกวา 11.1% มะเขือเปราะพบสารพิษตกค้างแต่ไม่เกินค่า MRL 66.7% ในขณะที่กะหล่ำปลีไม่พบสารพิษตกค้างเลย 100% ดังแผนภาพ