สื่อขอเลิก ก.ม.จำกัดเสรีภาพ นายกฯสวน ‘ที่มียังไม่พอหรือ’

05 พ.ค. 2559 | 09:00 น.
"วันชัย" พบนายกฯมอบเสื้อที่ระลึก"ถูกต้อง รอบด้าน หลักประกันเสรีภาพ"ในวาระวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 2สมาคมนักข่าวออกแถลงการณ์ร่วม เรียกร้อง 4 ข้อ เลิก ก.ม.จำกัดเสรีภาพสื่อ เร่งปฏิรูปตามกรอบสปช. รอบคอบการออกกฎหมายกระทบสิทธิประชาชน ตลอดจนประชาชนร่วมตื่นรู้และเฝ้าระวัง

เมื่อเวลา 09.00 น. วันอังคารที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยก่อนการประชุมนายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พร้อมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ เข้าพบเพื่อมอบเสื้อที่ระลึก "ถูกต้อง รอบด้าน หลักประกันเสรีภาพ" เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก พร้อมเรียกร้องนายกฯ ให้ตระหนักถึงความสำคัญ และขอให้ยกเลิกกฎหมายบางฉบับ ที่ยังเป็นข้อจำกัดของสื่อมวลชน โดยเฉพาะคำสั่งคสช.ที่ 97/2557 และ 103/2557

ขณะที่นายกฯกล่าวตอบว่า เสรีภาพเท่าที่มีอยู่ยังไม่พออีกหรือ ด้านนายวันชัยอธิบายว่า ไม่ใช่ว่าไม่พอ แต่วันนี้เป็นการรณรงค์ในวันเสรีภาพสื่อมวลชน ไม่ได้หมายถึงจะขอให้นายกฯมอบเสรีภาพให้มากขึ้น แต่มีกฎหมายบางข้อที่อยากขอร้องให้นายกฯยกเลิก ซึ่งนายกฯตอบกลับว่า เราไปยุ่งอะไรกับพวกท่าน วันที่ระลึกตนก็เข้าใจ และจะดูให้ แต่ถ้ายกเลิกบางข้อก็ต้องเพิ่มในบางข้อ ถึงอย่างไรขอให้ทุกคนมีความสุข ขอให้ทำเพื่อบ้านเมือง

ทั้งนี้ เดิมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯเตรียมเอกสารคำแถลงการณ์วันเสรีภาพสื่อฯ แต่ทีมงานนายกฯขอไม่ให้ยื่น เกรงจะเป็นตัวอย่างการยื่นเอกสารถึงนายกฯ โดยในการพบปะครั้งนี้นายกฯมีสีหน้าเรียบเฉยและใช้เวลาไม่ถึง 5 นาทีในการพูดคุย

ต่อมาที่อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตัวแทนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกันอ่านแถลงการณ์วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 ว่า สถานการณ์สื่อมวลชนไทยนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แม้รัฐบาลภายใต้การนำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กำหนดในมาตรา 4 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ให้ความคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพประชาชนตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยฯ และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่มีอยู่ แต่ในทางปฏิบัติกลับมีการออกคำสั่งคสช.หลายฉบับ ที่มีเนื้อหาจำกัดสิทธิเสรีภาพ ควบคุมสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร อาทิ คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 97/2557 คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 103/2557 และคำสั่งคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 5 หรือล่าสุดคำสั่งคสช. ที่ 13/2559 ที่ขยายอำนาจให้ทหารเป็นพนักงานสอบสวน รวมทั้งความพยายามออกชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิตอล โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งล้วนสุ่มเสี่ยงต่อการลิดรอนเสรีภาพประชาชนมากยิ่งขึ้น

การใช้อำนาจของรัฐบาล คสช.กระทบต่อสิทธิของประชาชน และเข้าควบคุมการทำหน้าที่สื่อมวลชนหลายรูปแบบ อาทิ การเรียกสื่อมวลชนไปรับทัศนคติ การเรียกประชุมตัวแทนสื่อหลายครั้ง ส่งผลให้สถานการณ์เสรีภาพสื่อ ในปี 2558 ที่ผ่านมาถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง อันดับเสรีภาพของสื่อมวลชนไทย ลดจากอันดับที่ 130 ในปี 2557 เป็น 134 ในปี 2558

ขณะที่แผนปฏิรูปสื่อมวลชน 3 ด้าน ได้แก่ "เสรีภาพสื่อมวลชนบนความรับผิดชอบ การกำกับดูแลสื่อมวลชนที่มีประสิทธิภาพและการป้องกันการแทรกแซงสื่อ"ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ที่ส่งมอบให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)นั้น ก็ไร้การสานต่อ

ท่ามกลางบรรยากาศการปฏิรูปประเทศด้วยความคาดหวังให้เปลี่ยนผ่านเพื่อประเทศไทยดีขึ้น แต่เสรีภาพของสื่อมวลชนไทยกลับถูกลดทอนลงอย่างมีนัยสำคัญจน"มืดมน" ทั้ง 2 สมาคมสื่อฯมีข้อเรียกร้องดังนี้

1.ขอให้ยกเลิกกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อ อาทิ คำสั่งคสช.ฉบับที่ 97/2557 ฉบับที่ 103/2557 และฉบับที่ 3/2558 ข้อ 5 โดยเร็ว หากสื่อละเมิดใช้กฎหมายปกติดำเนินการ เปิดพื้นที่ปลอดภัยจากคำสั่งทางความมั่นคง เพื่อให้ประชาชนมีพื้นที่แสดงความคิดเห็น อันจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านสิทธิเสรีภาพและเป็นทางออกของประเทศในการก้าวข้ามความขัดแย้ง

2.ขอให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) พิจารณาการปฏิรูปสื่อตามกรอบที่สนช.ทำไว้ เพื่อให้เกิดกลไกการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนที่ดีและมีประสิทธิภาพ ทำให้สื่อปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีเสรีภาพบนความรับผิดชอบ จัดทำกฎหมายเพื่อป้องกันการแทรกแซงสื่อ ไม่ว่าโดยอำนาจรัฐหรืออำนาจทุน พร้อมไปกับส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่ออย่างทั่วถึง

ให้สนช.พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.....อย่างรอบคอบ เพราะ 9 ปีที่ผ่านมากระทบต่อเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์อย่างมาก ส่วนร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) นั้น ขอให้คำนึงหลักการการจัดสรรคลื่นความถี่ต้องมุ่งประโยชน์สาธารณะ กสทช.ต้องเป็นองค์กรอิสระทางปกครอง มีที่มาหลากหลาย โปร่งใส เป็นธรรม

3. ขอให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและผู้ประกอบธุรกิจสื่อมวลชนทุกแขนง ตระหนักถึงการให้ความสำคัญในการทำหน้าที่เสนอข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน อย่างมืออาชีพ เคารพต่อหลักจริยธรรม และสนับสนุนให้เกิดระบบและกลไกการกำกับดูแลกันเองที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สังคมเชื่อมั่นและเชื่อถือ

4. ขอให้ประชาชนคิดก่อนแชร์ ก่อนโพสต์ภาพข่าวหรือข่าวสารใดๆ โดยยึดหลักความจริง ถูกต้อง อีกทั้งติดตามข่าวสารและเฝ้าระวังตรวจสอบสื่อมวลชน

ในวาระวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกปีนี้ สองสมาคมสื่อหวังว่าจะเป็นนิมิตรหมายที่ดีของสื่อมวลชนไทย ที่จะได้รับการสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความ"ถูกต้อง รอบด้าน และได้รับหลักประกันเสรีภาพ" เพื่อร่วมกันผลักดันการปฏิรูปประเทศไทยไปในทิศทางที่ถูกต้อง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,154 วันที่ 5 - 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2559