จ่ายค่าชดเชยเรือประมง แก้ปัญหาทำประมงผิดกม.

03 พ.ค. 2559 | 10:51 น.
Breaking-News เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 ที่ศูนย์แถลงข่าว ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาลเวลา 15.30น.พลเรือโท จุมพล ลุมพิกานนท์ รองเสนาธิการทหารเรือ ในฐานะโฆษกศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) แถลงความก้าวหน้าคณะทำงานจัดซื้อเรือประมงคืน โดยกล่าวว่า คณะทำงานฯ ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย กรณีการนำเรือออกนอกระบบโดยเป็นการจ่ายค่าชดเชยเรือประมง ซึ่งได้เรียนนายกรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2559 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ มีจำนวนเรือประมงที่ต้องนำออกนอกระบบทำการประมงซึ่งผู้ประกอบการเรือประมง "ประเภทอวนรุน" ที่มีความประสงค์ขายเรือภายหลังจากกรมประมงได้ออกใบอนุญาตทำการประมงเรียบร้อยแล้ว มีจำนวน 54 ลำ วงเงินรวม 125,884,774.36 บาท โดยจากการสำรวจเรือประมงทั้ง 54 ลำดังกล่าว พบว่ามีเรือประมงที่อยู่ในสภาพดี เหมาะสมที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในราชการจำนวน 3 ลำ โดยให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งนำไปใช้ในราชการ ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 51 ลำ เห็นควรนำเรือออกนอกระบบโดยการถอดถอนเครื่องยนต์และส่วนประกอบออก เพื่อจมเป็นปะการังเทียมโดยมีวงเงินของเรือจำนวน 51 ลำ เป็นเงิน 105,779,220.40 บาท

พลเรือโท จุมพล กล่าวต่อว่า ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่าการนำเรือประมงไปจมเป็นประการังเทียมนั้นเห็นควรให้กรมประมงเป็นผู้ดำเนินการเนื่องจากพิกัดในการจมเป็นประการังเทียมได้ผ่านขั้นตอนการจัดสร้างปะการังเทียมของกรมประมงเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งกรมประมงยังมีประสบการณ์ในการจมเรือเป็นปะการังเทียมมาก่อน ในเบื้องต้นกำหนดสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับนำไปจมทำปะการังเทียม ในพื้นที่อ่าวไทยบริเวณจังหวัดสมุทรสาครสุราษฎร์ธานี ปัตตานี งบประมาณค่าใช้จ่ายในการนำเรือประมงไปจมนั้น เป็นเงิน 6,148,800 บาท

ทั้งนี้ คณะทำงานจัดซื้อเรือประมงคืนได้เสนอการจ่ายค่าชดเชยโดยแต่งตั้งคณะกรรมการต่างๆ ดังนี้ 1. คณะกรรมการตรวจสอบเรือประมงตามพื้นที่เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบเอกสารหลักฐานของเรือประมงที่ได้รับค่าชดเชยให้ถูกต้องตามที่ ครม. เห็นชอบพร้อมจัดทำข้อตกลง 2. คณะกรรมการจ่ายค่าชดเชยเรือประมงเพื่อทำหน้าที่พิจารณาตรวจสอบเอกสารหลักฐานของเรือประมงอีกครั้งตามที่คณะกรรมการตรวจสอบเรือประมงเสนอ ขณะที่แนวทางการจ่ายค่าชดเชยเรือประมง แบ่งเป็น 1. จ่ายร้อยละ 30 ของราคาเรือที่ได้รับค่าชดเชยเมื่อคณะกรรมการจ่ายค่าชดเชยพิจารณาเห็นสมควรแล้ว 2. จ่ายร้อยละ 70 ของราคาเรือเมื่อคณะกรรมการนำเรือประมงไปจมเป็นประการังเทียมเสนอเอกสารหลักฐานการจมเรือประมงภายหลังการจมเรือประมงเรียบร้อยแล้ว ต่อคณะกรรมการจ่ายค่าชดเชยเพื่อพิจารณาเห็นสมควรจ่ายค่าชดเชย

"ด้านงบประมาณค่าใช้จ่ายในการนำเรือออกนอกระบบนั้น จะเป็นการจ่ายค่าชดเชยช่วยเหลือเจ้าของเรือประมง 105,779,220.40 บาท โดยใช้จ่ายจากงบประมาณของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตามที่ ครม. เห็นชอบแล้ว ส่วนงบประมาณค่าใช้จ่ายในการนำเรือจำนวน 51 ลำไปจมเป็นประการังเทียมนั้นเป็นเงิน 6,148,8000 บาท ทั้งนี้สำหรับเรือประมงอวนรุนในระยะแรกมีกำหนดรับซื้อแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค. นี้" โฆษก ศปมผ. กล่าว