บาทยังแข็งไม่พอห่างเพื่อนเกินไป

08 พ.ค. 2559 | 00:00 น.
ผมดูผลสรุปของธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) รายงานการแข็งค่าของเงินบาทจากต้นปี 2559 ถึงวันที่ 21 เมษายน 2559 แล้วไม่ค่อยสบายใจ เพราะเงินบาทแข็งค่าขึ้นเพียง 3 % ถือว่าในระดับต่ำหากไปเทียบกับประเทศที่เติบโตแล้วทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน ขณะที่ดอลลาร์สิงคโปร์แข็งค่าขึ้น 5.3 % ริงกิตเงินมาเลเซียแข็งค่าขึ้น 10.6 % รูเปียเงินอินโดนีเซียแข็งค่าขึ้น 4.9 % ด่องเงินเวียดนามแข็งค่าขึ้น 0.9 % เงินหยวนจีนแข็งค่าขึ้น 0.2 % ( แต่วันที่ 29 เมษายน 2559 จีนประกาศปรับค่าเงินหยวนขึ้น 0.56 % เป็นการปรับขึ้นแรงสุดในรอบ 11 ปีหรือ อัตราแลกเปลี่ยน 6.4729 หนวน/ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือแข็งค่าขึ้นจากเดิม 0.14%) เงินวอนเกาหลีใต้แข็งค่าขึ้น 3.7 % และเงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้น 9.7 % เงินยูโรแข็งค่าขึ้น 4 % เงินเหล่านี้เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

แบงก์ชาติให้ความเห็นเกี่ยวกับทิศทางของค่าเงินบาทในปัจจุบันว่า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้นจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ โดยล่าสุดเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นบ้าง โดยเคลื่อนไหวที่ 34.80 - 35.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯตาม sentiment ของตลาดที่ดีขึ้นหลังราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นเหนือ 40 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ประกอบกับท่าทีที่ชัดเจนมากขึ้นธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ว่าจะยังไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีเงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 3% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ สอดคล้องกับเงินสกุลภูมิภาคอื่นๆ ที่แข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ หากพิจารณาในรูปดัชนีค่าเงินบาท จะเห็นว่าได้ปรับอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบจากสิ้นปีก่อน สะท้อนว่าเงินบาทไม่ได้แข็งค่ามากไปกว่าเงินสกุลคู่ค้าคู่แข่งของไทย ขณะที่ความผันผวนเฉลี่ยของเงินบาทในปีนี้อยู่ที่ระดับ 4.5% ก็ยังอยู่ในลำดับกลางๆ ของภูมิภาคเช่นกัน ซึ่งสะท้อนว่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ

แต่คำถามของผมก็คือ เราจะต้านทานการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศที่ไหลเข้ามาลงทุนในหลักทรัพย์ได้ยาวนานแค่ไหน เพราะแม้ว่าเราจะรักษาระดับค่าเงินบาทแค่ค่าปานกลาง ปริมาณเงินไหลเข้ายังคงมากอยู่ เพราะค่าเงินยังแข็งค่าน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะมาเลเซีย สิงคโปร์กับอินโดนีเซีย ซึ่งด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาพบว่า มีเงินทุนไหลเข้าในหลักทรัพย์ (Portfolio Inflows) สุทธิประมาณ 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเข้าตลาดหุ้นประมาณ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเข้าตลาดพันธบัตรอีกประมาณ 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเข้าซื้อพันธบัตรระยะสั้น โดยภาวะเงินทุนไหลเข้าดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเช่นเดียวกั

แบงก์ชาติบอกว่า แม้ในระยะนี้สถานการณ์ของตลาดการเงินโลกจะกลับเข้ามาสู่ภาวะที่นักลงทุนเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่มากขึ้น แต่ในอนาคตก็ไม่ได้มีอะไรที่รับประกันได้ว่าจะไม่มีความผันผวนเกิดขึ้น เพราะหนทางข้างหน้า ทุกคนก็ยังคาดว่าธนาคารกลางต่างๆ ก็ต้องปรับให้อัตราดอกเบี้ยเข้าสู่ภาวะปกติ ราคาน้ำมันก็ยังเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงยังควรต้องป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับในส่วนของ ธปท. ก็จะติดตามสถานการณ์ในตลาดการเงินโลกอย่างใกล้ชิด และหากเงินบาทเคลื่อนไหวในลักษณะที่จะส่งผลกระทบต่อการปรับตัวการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจจริง ธปท. ก็พร้อมที่จะเข้าดูแลเสถียรภาพในตลาดการเงิน อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของแต่ละสกุลเงินในภูมิภาคเทียบสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯนับจากสิ้นปี 2558 ถึงวันที่ 21 เมษายน 2559 ส่วนใหญ่สะท้อนการแข็งค่า

ผมว่าการที่แบงก์ชาติเข้าดูแลเสถียรภาพในตลาดการเงิน โดยการแทรกแซงซื้อดอลลาร์สหรัฐฯขายบาททำให้ปริมาณเงินสำรองเพิ่มขึ้นกว่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 3 เดือนแรกของปี พันธบัตรระยะสั้นของแบงก์ชาติก็เพิ่มขึ้นเกือบ 100,000 ล้านบาทแล้ว

ขณะที่ปีที่แล้วเราถือครองลดลงเสียด้วยซ้ำ ดูแล้วน่ากังวลใจจริงๆ ครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,154 วันที่ 5 - 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2559