นมโรงงานปีการศึกษา59ส่อวุ่น! วงในปูดมีค้านเพิ่มบทเฉพาะกาลอุ้มศูนย์นม-เอกชน 147 ราย

05 พ.ค. 2559 | 08:00 น.
มิลค์บอร์ด เพิ่มบทเฉพาะกาล อุ้มศูนย์นม -เอกชน 147 ราย ไม่ผ่านมาตรฐานให้เข้าระบบจัดสรรโควตานมโรงเรียน ปี 59 วงในปูด ที่ประชุมเดือด หลังก.สาธารณสุข ย้ำชัดไม่เห็นด้วย ของดใช้สิทธิ์ หวั่นโดนสอบภายหลังเอื้อเอกชน "ปลัดเกษตรฯ" สั่งกรมปศุสัตว์เร่งจัดทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาโคนมและผลิตภัณฑ์นม ปี 60-69 หวังแก้ปัญหานมทั้งระบบ ขณะที่ประธานกรรมการสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น หวั่นผ่อนปรนปัญหานมจะซ้ำรอยอดีต

[caption id="attachment_50221" align="aligncenter" width="700"] ผู้ประกอบการที่ไม่ผ่านเกณ์มาตราฐานอาหารเสริม (นม) โรงเรียนปี 2559 ผู้ประกอบการที่ไม่ผ่านเกณ์มาตราฐานอาหารเสริม (นม) โรงเรียนปี 2559[/caption]

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือมิลค์บอร์ด เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงผลการประชุม (วันที่ 2 พ.ค.59) ที่มีนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานกรรมการมิลค์บอร์ด เป็นประธานในที่ประชุม กล่าวว่า ในที่ประชุมก็ได้หารือเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ปีการศึกษา 2559 ที่ลงประกาศเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 นั้น ตามประกาศจะต้องมีเซลล์เม็ดเลือดขาว (Somatic Cell Count) ไม่เกิน 6.5 แสนเซลล์/ลบ.ซม. และมีปริมาณของแข็งรวม (Total Solid ) ไม่ต่ำกว่า 12.15% ทั้งนี้ผลการวิเคราะห์ดังกล่าวเป็นค่าเฉลี่ยของผลตรวจในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาทำให้ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจำนวน 147 ราย ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน (ดูตารางประกอบ)

โดยประเด็นนี้มีการหยิบขึ้นมาเป็นข้อถกถียงในที่ประชุมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการประกาศที่ไม่ได้แจ้งล่วงหน้า ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายที่ยังปรับปรุงไม่ทัน ซึ่งในที่สุดนายธีรภัทร เสนอให้เพิ่มบทเฉพาะกาล ในท้ายประกาศ มีการผ่อนปรนหลักเกณฑ์ใหม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้เข้าตามเกณฑ์ ด้วยการกำหนดค่าเซลล์เม็ดเลือดขาวไม่เกิน 7 แสนเซลล์/ลบ.ซม. จากเดิมที่กำหนดไม่เกิน 6.5 แสนเซลล์/ลบ.ซม. เช่นเดียวกับค่าปริมาณของแข็งรวมที่กำหนดเป็นไม่ต่ำกว่า 12% จากเดิมที่กำหนดไม่ต่ำกว่า 12.15% แต่ปรากฏว่าทางกระทรวงสาธารณสุข ไม่เห็นด้วยที่จะผ่อนปรน พร้อมระบุชัดว่าหากที่ประชุมยังยืนยันที่จะให้โรงงานและศูนย์นมที่ไม่ได้มาตรฐานให้เข้าระบบนมโรงเรียน ทางสาธารณสุขก็จะของดใช้สิทธิ์ เนื่องจากไม่ถูกต้อง เพราะจะถูกมองว่าเป็นการเปลี่ยนหลักเกณฑ์เอื้อเอกชนให้เข้าระบบ และหากโรงเรียนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร้องเรียนเรื่องนมไม่ได้คุณภาพ จะทำให้บทบาทความน่าเชื่อถือในฐานะของหน่วยงานที่ตรวจสอบมาตรฐานลดความน่าเชื่อถือลง

แหล่งข่าวจากมิลค์บอร์ด กล่าวอีกว่า สำหรับปีนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการยื่นความจำนง จำนวน 71 ราย ไม่ผ่านคุณสมบัติ 3 ราย และไม่มีบันทึกข้อตกลงเอ็มโอยูนมทั้งระบบ เพื่อนมโรงเรียน จำนวน 1 ราย คงเหลือผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 67 ราย ซึ่งในจำนวนดังกล่าวยังมีเอกชน 5 ราย ได้แก่ บริษัท ภัทรฟู้ดส์ จำกัด 2.บริษัท อุดรแดรี่ฟู้ดส์ จำกัด 3.บริษัท อีสานใต้แดรี่ จำกัด 4.สหกรณ์โคนมเมืองจันทร์ และสุดท้ายบริษัท ทุ่งกุลา แดรี่ จำกัด ได้รับผลกระทบในการจัดสรรสิทธิ์ครั้งนี้ จึงได้ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงเกษตรฯ เพื่อขอความเป็นธรรมโดนปรับลดสิทธิ์ลดลงจากเทอม 2/2558 บางโรงรับน้ำนมดิบเกินเอ็มโอยู ซึ่งในกลุ่มนี้ผลที่ประชุมยังไม่มีข้อสรุปว่าจะช่วยเหลือเยียวยาหรือไม่ อย่างไร

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในที่ประชุม ทางปลัดกระทรวงเกษตรฯได้ทวงถามเรื่องยุทธศาสตร์พัฒนาโคนมและผลิตภัณฑ์นม ปี 2560-2569 โดยที่อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้รายงานความคืบหน้า ว่าอยู่ระหว่างดำเนินการ เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาเร่งด่วนให้ต้องดำเนินการก่อน แต่คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 3 เดือน และจะมีการจัดทำประชาพิจารณ์ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ ซึ่งทางปลัดได้มีการกำชับว่าจะต้องนำผู้ที่มีส่วนได้เสียจัดทำแผนระดมสมอง ซึ่งแผนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำมาใช้เป็นกรอบดำเนินงานร่วมกันในอนาคตจะทำให้เป็นการแก้ปัญหานมทั้งระบบ

ขณะที่นายอำนวย ทงก๊ก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และประธานกรรมการสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด กล่าวให้ความเห็นกรณีการผ่อนปรนหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ปีการศึกษา2559 ว่าไม่เห็นด้วยเพราะกลัวว่าจะไม่มีการปรับปรุงคุณภาพอย่างจริงจัง และหากมีการโอบอุ้มกันอยู่ ปัญหานมโรงเรียนจะเกิดเช่นในอดีต ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มพวกนี้ที่ไม่ปฏิบัติตามกติกา ที่สำคัญก็ควรปรับกรรมการผู้มีส่วนได้เสียออกให้หมด หากพบว่าใครมีผลประโยชน์เชิงทับซ้อน

ที่สำคัญผู้ประกอบการเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากการจำหน่ายนมโรงเรียน ควรนำผลประโยชน์ที่ได้รับมาส่งเสริมให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกมีการปรับปรุงคุณภาพ ส่วนเกษตรกรเองก็ประกอบอาชีพเลี้ยงโคนมเป็นเวลานาน ถ้าไม่เอาเปรียบ ให้อาหารโคที่มีคุณภาพ การทำมาตรฐานน้ำนมดิบค่าปริมาณของแข็งรวม ไม่ต่ำกว่า 12.15% ไม่ใช่เรื่องยาก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,154 วันที่ 5 - 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2559