สธก.สถาบันการเงินทางเลือก ที่ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยตํ่า

08 พ.ค. 2559 | 07:00 น.
[caption id="attachment_50276" align="aligncenter" width="385"] วราภรณ์ จันทร์เพ็ญ  รองผู้อำนวยการ รักษาการณ์ในตำแหน่งผู้อำนวยการ สถานธนานุบาล (สธก.) วราภรณ์ จันทร์เพ็ญ
รองผู้อำนวยการ รักษาการณ์ในตำแหน่งผู้อำนวยการ สถานธนานุบาล (สธก.)[/caption]

ก้าวสู่ปีที่ 54 แล้วสำหรับสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร ซึ่งก่อตั้งในปี 2503 ตามมติคณะรัฐมนตรี(เมื่อ 12 พ.ค.03) โดยรับนโยบายจัดตั้งโรงรับจำนำของรัฐเพื่อเข้าแทรกแซงการผูกขาดในภาคเอกชนที่เรียกเก็บดอกเบี้ยไม่เป็นธรรมและบรรเทาความเดือดร้อนด้านการเงินแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการหาแหล่งทุนเฉพาะหน้าโดยไม่ต้องกู้ยืมเงินนอกระบบที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยอัตราสูง จึงจัดตั้งโรงรับจำนำกทม.แห่งแรก (14 มี.ค. 05) ขึ้น ซึ่ง "ฐานเศรษฐกิจ"ได้สัมภาษณ์พิเศษ "นางสาววราภรณ์ จันทร์เพ็ญ รองผู้อำนวยการ รักษาการณ์ในตำแหน่งผู้อำนวยการ สถานธนานุบาล (สธก.) ถึงแนวทางดำเนินงานและนโยบายสาขาของสธก.ในปี2559

[caption id="attachment_50275" align="aligncenter" width="700"] ธุรกิจโรงรับจำนำเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ธุรกิจโรงรับจำนำเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร[/caption]

 คงอัตราดอกเบี้ยช่วยประชาชน

ฐานลูกค้าสำคัญของสธก.ปัจจุบันจากที่จัดตั้งเฉพาะในเขตของกรุงเทพมหานคร จำนวน 21 แห่ง กระจายตัวอยู่เพียง 20 เขตของกรุงเทพมหานคร คิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดเพียง 8% (ดูกราฟประกอบ) ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2559 นี้ มีลูกค้าทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มาใช้บริการกับสถานธนานุบาล (โรงรับจำนำ กทม.) จำนวน 154,960 คน ซึ่งการรับจำนำหรือการช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประชาชนไปแล้วเป็นเงินมาก 3,653.91 ล้านบาท (ยอดการรับจำนำ) เฉลี่ยเดือนละ 600 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนที่ให้บริการจำนวน 247,956 ราย เฉลี่ยเดือนละ 41,500 ราย เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2558 พบว่ามีค่าใกล้เคียงกัน (ข้อมูลยอดจำนำปี 2558 เป็นเงิน 3,713.42 ล้านบาท จำนวนรายตั๋ว 246,469 ราย ผู้ใช้บริการ 156,248 คน)

สำหรับวงเงินจำนำนั้นส่วนใหญ่อยู่ในช่วงไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท คิดเป็นเกือบ 30% ของเงินจำนำทั้งหมด เนื่องจาก สธก. ได้ประกาศใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด ตามนโยบายของท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มุ่งเน้นให้การช่วยเหลือดูแลพี่น้องชาวกรุงเทพมหานคร ให้มีโอกาสสร้างรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดี นั่นคือเงินจำนำไม่เกิน 5,000 บาทคิดอัตราดอกเบี้ย 0.25% บาทต่อเดือนถ้ามากกว่า 5 พันบาทถึง 1.5 หมื่นบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อเดือน ส่วนผู้ที่ต้องการใช้เงินเกินกว่า 1.5หมื่นบาท คิดอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายกำหนด อัตราดอกเบี้ยตามกฎหมาย ดังนี้ เงินต้นไม่เกิน 2,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อเดือน , ส่วนที่เกิน 2,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 1.25% ต่อเดือนซึ่งอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวสธก. ประกาศใช้อัตราดอกเบี้ยรับจำนำ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 ถึงปัจจุบัน

สาเหตุที่ยังใช้อัตราดอกเบี้ยนี้อยู่ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจมีค่าครองชีพสูง ซึ่งเป็นการช่วยเหลือในการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ที่ประชาชนมาใช้บริการจะได้เสียดอกเบี้ยในอัตราต่ำและจะมีวงเงินที่ผู้ใช้บริการรองลงมา คือ อยู่ในช่วง 3 – 5 หมื่นบาท คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 20% จะเป็นกลุ่มลูกค้าที่ประสงค์ใช้เงินเพื่อนำไปลงทุนรายย่อย เช่น ค้าขายอาหาร หรือเบ็ดเตล็ดอื่นๆ ข้อจำกัดที่ทางหน่วยงาน ได้กำหนดวงเงินรับจำนำไว้สูงสุดต่อตั๋วจำนำ 1 ใบไม่เกิน 7 หมื่นบาท ซึ่งขึ้นอยู่กับทรัพย์สินที่ใช้จำนำด้วยเช่นกัน โดยผู้จัดการ และรองผู้จัดการประจำสาขานั้น จะเป็นผู้ประเมินราคาทรัพย์สิน เรียกตามภาษาชาวบ้านว่า ตีราคาจำนำ ซึ่งทางเราจะมีเกณฑ์มาตรฐานในการประเมินราคาทรัพย์แต่ละประเภทที่ยุติธรรม ซึ่งทั้งผู้จำนำกับผู้รับจำนำจะเจรจาต่อรองราคากัน จนเป็นที่ยอมรับได้

กลุ่มอาชีพของผู้มาจำนำหรือกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ถึง 50% ของยอดเงินรับจำนำ ซึ่งเป็นกลุ่มของผู้มีรายได้น้อย ในระดับชุมชน หรือ กลุ่มฐานราก เนื่องจากโรงรับจำนำ เป็นแหล่งทางการเงินที่สามารถผันเปลี่ยนทรัพย์สินมีค่าเป็นเงินสดพร้อมใช้งานได้ทันที เมื่อถึงคราวจำเป็น หรือต้องการใช้เงินในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ส่วนอาชีพรองลงมา คือพนักงานบริษัทเอกชน มีสัดส่วนประมาณ 12% นอกนั้นเป็นกลุ่มอาชีพรับราชการและรัฐวิสาหกิจ อาชีพพ่อบ้านแม่บ้าน อาชีพนักเรียน นักศึกษา อาชีพพ่อค้าแม่ขาย และอาชีพอื่นๆ รวมกันมี 38%

ทั้งนี้ประเภทของทรัพย์รับจำนำส่วนใหญ่ประมาณ 85% เป็นทองคำรูปพรรณแท้ๆ (ทอง 96.5%) เช่น สร้อยคอ สร้อยมือ กำไล แหวนที่มีรูปแบบ หรือลวดลายต่างๆ ซึ่งมีน้ำหนักแตกต่างกันไป ตั้งแต่ น้ำหนัก 1 สลึง 2 สลึง 1 บาท จนถึง 5 บาท 10 บาทก็มี ส่วนประเภททองเค และทองเจือ มีมากกว่า 2% และทรัพย์จำนำประเภทอัญมณี เพชร พลอย มีถึง 12% ส่วนที่เหลือจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า แว่นตา นาฬิกา มีไม่ถึง 1 %

ทรัพย์หลุดจำนำคงค้างกว่า 500 ล้าน

ต่อข้อถามถึงสถานการณ์ราคาทองคำในปี 2559 นั้น คาดว่า ราคาทองคำไม่น่าจะลดต่ำกว่าระดับ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และตลาดทองคำยังคงอยู่ในช่วงขาลง ราคาน่าจะอยู่ประมาณที่ 1,050-1,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ข้อมูลอ้างอิงโดยนายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมผู้ค้าทองคำ) ส่วนราคาทองคำในประเทศต่ำสุดสำหรับปีหน้าจะอยู่ที่ 17,500 บาท และสูงสุดราคาขาย ไม่น่าเกิน 20,500 บาท ซึ่งกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับนายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ ที่ระบุว่า ในปี 2559 นี้ราคาทองคำตลาดโลกจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างบริเวณ 1,000 ถึง 1,350 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนทองคำในประเทศจะซื้อขายที่บาทละ 17,500 ถึง 21,500 บาทต่อบาททองคำ

ที่ผ่านมาในปี 2558 สธก.ได้ปรับเกณฑ์การรับจำนำเพิ่มขึ้นจาก 80%เป็น 85% และเพื่อมิให้ปริมาณทรัพย์หลุดจำนำคงค้างที่มีมากกว่า 500ล้านบาทเก็บสะสมไว้นั้นไม่ก่อให้เกิดรายได้ อีกทั้งยังแบกรับภาระดอกเบี้ยเงินกู้ ผู้บริหารสธก.จึงให้นำทรัพย์หลุดจำนำประเภททองคำออกจำหน่ายเมื่อราคาทองคำในตลาดขยับตัวขึ้น จึงต้องเฝ้าระวังสภาวะทางด้านราคาทองคำในตลาดการค้าอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันด้านการช่วยเหลือสังคมนั้น สธก.ยังได้มีส่วนช่วยในการพัฒนากรุงเทพมหานคร โดยการนำส่งเงินอุดหนุนให้แก่กรุงเทพมหานครในปี 2558 เป็นเงิน 57.97 ล้านบาท รวมจนถึงปัจจุบันแล้วได้นำส่งเงินอุดหนุนให้แก่กรุงเทพมหานครจำนวนทั้งสิ้น 832.08 ล้านบาท

ขณะที่ไฮไลต์ช่วงเปิดเทอมปีนี้ สธก. ได้จัดทำโครงการลดดอกเบี้ยช่วงเปิดเทอม สำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้ปกครอง เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ ผู้ปกครองของนักเรียน นิสิต นักศึกษาในการใช้เงินเพื่อการการศึกษาของบุตรหลาน อันได้แก่ค่าแบบเรียน ชุดนักเรียน และค่าเทอม โดยมีระยะเวลาในการให้บริการตั้งแต่เดือนเมษายน 2559 – 31 พฤษภาคม 2559 วงเงินจำนำรวมต่อ 1 ราย ไม่เกิน 7 หมื่นบาท คิดดอกเบี้ย 0.50% ต่อเดือน และต้องมีเอกสารมาประกอบการใช้สิทธิเพื่อขอลดดอกเบี้ย หรือเมื่อมาชำระดอกเบี้ย

สธก. ได้เตรียมวงเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว โดยขณะนี้มีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อใช้จ่ายในการรับจำนำจำนวนมากกว่า 700 ล้านบาท และคาดว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการดังกล่าวจะมีผู้มาใช้บริการมากกว่า 100 ล้านบาท นอกจากนี้ในแง่ของแนวโน้มรายได้/ที่มาของรายได้ สธก.นั้น ประกอบด้วย ดอกเบี้ยรับจำนำ, กำไรจากการจำหน่ายทรัพย์หลุดจำนำ, ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารและรายได้อื่นซึ่งแนวโน้มรายได้รวมในครึ่งปีแรกของปี 2559 เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2558 มากกว่า 2 ล้านบาท คิดเป็น 1.74 %

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,154 วันที่ 5 - 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2559