ปั้นแผน5ปี134โครงการ ธนารักษ์ปั๊มเงินส่งคลัง 5.3หมื่นล.รุกต่อบ้านมั่นคง-สูงวัย

05 พ.ค. 2559 | 06:00 น.
ธนารักษ์ ปั้นแผน 5 ปีสร้างรายได้ส่งคลัง 5.3หมื่นล้านบาท สานนโยบายลดเหลื่อมล้ำ บูมโครงการวงเงินกว่า 3.16 แสนล้าน พร้อมเดินหน้าโครงการต่อยอดบ้านมั่นคง-บ้านสูงวัย รองรับสังคมผู้สูงอายุต่อเนื่องในอนาคต

[caption id="attachment_50265" align="aligncenter" width="426"] เอกวัฒน์ มานะแก้ว  รองอธิบดีกรมธนารักษ์ เอกวัฒน์ มานะแก้ว
รองอธิบดีกรมธนารักษ์[/caption]

นายเอกวัฒน์ มานะแก้ว รองอธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยถึง แผนการทำงาน ในระยะ 5 ปีรวมทั้งในแง่ของทรัพย์สินว่า กรมธนารักษ์จะเน้นการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมซึ่งมีด้วยกันหลายด้าน โดยมิติแรกทางด้านเศรษฐกิจ คือ การเพิ่มมูลค่าของทรัพย์สินตลอดจนการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน ตามแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล

สำหรับจำนวนโครงการที่กรมธนารักษ์จะพัฒนาในระยะ 5ปี มีด้วยกันถึง 134 โครงการ มูลค่าโครงการประมาณ 3.16 แสนล้านบาท คิดเป็นรายได้ที่จะเกิดขึ้นภายในระยะเวลา 5ปี ไม่ต่ำกว่า 5.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเริ่มเห็นโครงการทยอยดำเนินงานตั้งแต่ปี 2559 โดยเห็นได้จาก โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ ขณะนี้กรมได้เซ็นสัญญาเช่ากับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือ กนอ. บริเวณจังหวัดสระแก้วเป็นที่เรียบร้อยแล้วและได้มีการลงประกาศหาผู้ลงทุนภาคเอกชน ใน 3 พื้นที่ด้วยกัน คือ พื้นที่จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดหนองคาย และจังหวัดตราดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังรวมถึงแผนการพัฒนาท่าเรือจังหวัดสงขลาและท่าเรือจังหวัดภูเก็ตอีกด้วย

[caption id="attachment_50266" align="aligncenter" width="503"] แผนงาน 5 ปีกรมธนารักษ์ แผนงาน 5 ปีกรมธนารักษ์[/caption]

สำหรับมิติทางด้านสังคม เป็นการดูแลสังคมทั้งด้านที่อยู่อาศัย-ที่ดินทำกินตลอดจนโครงการ "บ้านมั่นคง" เพื่อเป็นการสร้างสังคมผู้สูงอายุที่มีความยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาพื้นที่สาธารณะให้เกิดขึ้น ภายใต้แผนระยะ 5 ปี จะเน้นไปที่การสร้างที่อยู่อาศัยให้เกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 7,456 หน่วย ร่วมกับการพัฒนาสนามกีฬา สวนสาธารณะและห้องสมุดให้เพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 1,962 แห่ง นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาพื้นที่การอนุรักษ์อีกประมาณ 48 โครงการ

" สิ่งที่เราได้ทำไปแล้วในปีนี้ คือ โครงการบ้านธนารักษ์ ประชารัฐได้โดยได้เริ่มไป โดยการนำร่องใน 6 พื้นที่ ครอบคลุมกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ดังนั้นระยะถัดไปคือการพัฒนาโครงการบ้านมั่นคง ที่อยู่ตามแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัยบริเวณริมคลอง โดยได้ทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) คาดว่าปี 2559 จะสามารถพัฒนาทั้งหมด 5 ชุมชน สามารถคืนพื้นที่ริมคลองมาให้กับส่วนรวม สำหรับรูปแบบจะเน้นไปที่การพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เป็นชุมชนที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี

ทั้งนี้ รัฐบาลมีโครงการแก้ไขปัญหาการรุกล้ำลำคลองและพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งหมด 9 คลองสายหลักในกรุงเทพฯ คือ คลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร คลองบางซื่อ คลองบางเขน คลองลาดบัวขาว คลองประเวศบุรีรมย์ คลองพระโขนง คลองพระยาราชมนตรี และคลองสามวา ซึ่งที่ดินริมคูคลองทั้งหมดเป็นที่ดินราชพัสดุที่กรมธนารักษ์ดูแลอยู่ แต่ที่ผ่านมาทางราชการไม่ได้มีการจัดระเบียบการอยู่อาศัยในที่ดินริมคูคลอง ดังนั้น เมื่อมีการจัดระเบียบแล้วก็จะทำให้ประชาได้เช่าที่ดินอยู่อาศัยอย่างถูกต้องและมั่นคง และช่วยกันพัฒนาชุมชนและสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่อาศัย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยในปี 2559 นี้ กรมธนารักษ์จะให้ชาวชุมชนที่เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงในคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากรได้ทำสัญญาเช่าที่ดินก่อนจำนวน 43 ชุมชน

โครงการต่อไปคือการพัฒนาการพิสูจน์สิทธิ์ออกเนื่องจากปัจจุบันมีข้อขัดแย้งกับประชาชนค่อนข้างสูง ซึ่งกรมธนารักษ์เชื่อว่า การพิสูจน์สิทธิ์จะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่เป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน หรือชาวบ้านได้อย่างดี และอีกเรื่องที่จะขาดไปไม่ได้คือการรองรับปัญหาผู้สูงวัยหรือการที่ไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมีคือการพัฒนาโครงการบ้านผู้สูงอายุหรือ Retirement Home ในปีนี้จะนำร่องใน 3พื้นที่คือจังหวัดนครนายก จังหวัดเชียงราย และจังหวัดสงขลา บอกรวมถึงการพัฒนาสวนสาธารณะ คือสวนเบญจกิตติ ซึ่งอยู่ใจกลางเมือง

สำหรับมิติด้านการท่องเที่ยวอยู่จะเป็นเรื่องของการสร้างมูลค่าให้กับท้องถิ่นเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวเน้นไปที่การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนซึ่งภายในระยะ 5 ปี กรมจะพัฒนาในรูปแบบของรีสอร์ตและโฮมสเตย์รวม 3 โครงการใหญ่ และยังมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวอีกไม่ต่ำกว่า 4 โครงการด้วยกัน นำร่องคือจังหวัดสุราษฎร์ธานี(เกาะเต่า) โดยจะทำในเชิงของการบูรณาการกับสิทธิของพื้นที่ เนื่องจากเกาะเต่าเป็นที่ที่มีศักยภาพและรวมถึงการพัฒนาพื้นที่บริเวณอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ถือเป็นพื้นที่ที่มีจุดเด่นด้านการท่องเที่ยว ไปมีปัญหากับผู้ประกอบการในแง่ของกรรมสิทธิ์ที่ดิน สำหรับมิติเชิงการอนุรักษ์คือกรมจะอนุรักษ์โครงการที่เกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรม โดยเฉพาะศูนย์การเรียนรู้และศึกษาวัฒนธรรม

นายเอกวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติม ว่า ภายในระยะเวลา 5ปี กรมจะพัฒนาด้วยกัน3 โครงการ นำร่องปีนี้ด้วยการพัฒนาโครงการโรงงานกระดาษ ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2500 โดยจะพัฒนาในรูปแบบของบูติกโฮเต็ล ช่วยให้สามารถเก็บรายละเอียดในเรื่องของการอนุรักษ์ตัวอาคารและรูปแบบสถาปัตยกรรมได้เป็นอย่างดี ส่วนที่พัฒนาไปแล้วคือโครงการ "ตลาด 100 ปีสามชุก" จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นการทำร่วมกับชุมชน และในมิติสุดท้ายคือโครงการพัฒนาศูนย์ราชการ (แจ้งวัฒนะ) โดยจะเพิ่มการพัฒนาในระยะที่ 2 หรือเฟส 2 เพื่อให้เกิดการใช้พื้นที่คุ้มค่าและประหยัดเกิดประโยชน์ ทั้งในแง่ของงบประมาณและการดูแลส่วนราชการที่จะมีประชาชนเข้ามาติดต่อราชการจำนวนมากในแต่ละวันและอีกเป็นที่หนึ่งคือจังหวัดกาฬสินธุ์ ทั้งหมดคือแผนระยะเวลา 5 ปีสอดรับกับการพัฒนาและนโยบายของกระทรวงการคลังและทั้ง 5 มิติด้วยกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,154 วันที่ 5 - 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2559