ตัวแปรของทายาท

08 พ.ค. 2559 | 01:30 น.
ความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่จะเข้าไปสืบทอดธุรกิจครอบครัวนั้นอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกหลายประการ เช่น ความมั่งคั่งของประชาชาติ ภาษีจากการสืบทอด และแรงผลักดันทางวัฒนธรรม ซึ่งสามารถดึงคนให้เข้ามาสู่ธุรกิจครอบครัวหรือผลักพวกเขาให้ถอยห่างออกไปก็ได้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยในส่วนของครอบครัว ได้แก่ เพศ และลำดับการเกิดเข้ามามีบทบาทสำคัญด้วย ขณะที่ในส่วนของธุรกิจก็มีปัจจัยเกี่ยวกับขนาดบริษัทและความสำเร็จของธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย

ดังนั้นเพื่อศึกษาให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง EY Global Family Business Center of Excellence จึงจัดทำ GUESSS Project (Global University Entrepreneurial Spirit Students’ Survey) ซึ่งได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากนักศึกษาจำนวน 109,000 ราย ในช่วงเดือนตุลาคม 2013 - เมษายน 2014 จาก 34 ประเทศทั่วโลก หรือจากมหาวิทยาลัยกว่า 750 แห่ง โดยการศึกษานี้ใช้ข้อมูลจากนักศึกษาที่มีธุรกิจครอบครัว จำนวน 34,113 ราย เพื่อศึกษาความตั้งใจในการเป็นผู้ประกอบการและความตั้งใจในการเข้าสืบทอดธุรกิจครอบครัว พบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อความตั้งใจสืบทอดธุรกิจครอบครัวของทายาทที่เป็นคนรุ่นใหม่ ได้แก่

1. บริบทเกี่ยวกับสถาบันและวัฒนธรรม (the institutional and cultural context)

ปัจจัยในด้านนี้ได้แก่ ความมั่งคั่งของประชาชาติ (the wealth of a nation) ซึ่งพบว่ารายได้ต่อหัวต่อคนต่อปีของประเทศมีผลกระทบต่อความตั้งใจในการสืบทอดกิจการของทายาท โดยในประเทศที่ยากจน ความตั้งใจสืบทอดกิจการจะมีมากเนื่องจากมีความจำเป็นเพราะทางเลือกที่น่าดึงดูดใจในตลาดงานมีน้อย ส่วนในประเทศที่รวยมากๆเรื่องของการเงินจะมีความสำคัญน้อยกว่า ดังนั้นทายาทของธุรกิจครอบครัวจึงถูกจูงใจโดยสถานะ ชื่อเสียงและความภาคภูมิใจในตนเองซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากการเข้าไปรับช่วงต่อธุรกิจครอบครัวนั่นเอง

ขณะที่ยังมีอีกปัจจัยที่มีผลต่อความตั้งใจในการสืบทอดกิจการนั่นคือ ภาษีจากการสืบทอด (taxes on succession) โดยเฉพาะภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax) หรือภาษีการรับให้ (gift tax) ซึ่งมีอิทธิพลดึงดูดใจทายาทให้เข้าไปรับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว โดยจากการสำรวจค่าเฉลี่ยของการผลักภาระภาษี (tax burden)ในประเทศแถบยุโรปเมื่อเจ้าของธุรกิจครอบครัวส่งต่อธุรกิจให้กับลูก พบว่าภาระภาษี (tax burden)ที่หนักมากทำให้ความดึงดูดใจในการเข้าไปสืบทอดธุรกิจมีน้อยลง

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยแรงผลักดันทางวัฒนธรรม (cultural drivers) ที่พบว่าในวัฒนธรรมที่คนแสดงออกถึงความภาคภูมิใจ ความจงรักภักดีและความเหนียวแน่นอย่างมากต่อองค์กรหรือครอบครัวของพวกเขา ความตั้งใจสืบทอดจะมีมากกว่า ทั้งนี้การเข้าไปรับช่วงต่อธุรกิจครอบครัวจะทำให้ทายาทได้แสดงถึงความจงรักภักดีและความภาคภูมิใจ ยิ่งเมื่อมีปทัสถานทางสังคมในเรื่องของการลดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนก็จะทำให้ความตั้งสืบทอดกิจการของครอบครัวจะมีมากกว่าด้วย เนื่องจากการเข้าไปทำงานในธุรกิจครอบครัวดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยเพราะบริษัทของครอบครัวที่ก่อตั้งมาเป็นอย่างดีจะให้ความปลอดภัยและความมั่นคงในการทำงาน และการยอมรับจากชุมชนและอำนาจหน้าที่ที่ได้รับ ความแตกต่างของอำนาจและสถานะพิเศษที่มากกว่าจะทำให้ความตั้งใจสืบทอดกิจการของทายาทรุ่นต่อไปมีมากกว่าเช่นกัน

2. เพศ (gender)

จากการสำรวจครั้งนี้เผยว่านักศึกษาหญิงที่ครอบครัวเป็นเจ้าของธุรกิจครอบครัวมีความต้องการเป็นทายาทของกิจการน้อยกว่านักศึกษาชาย ซึ่งเมื่อศึกษาในรายละเอียดต่อไปในเรื่องของปัจจัยช่องว่างระหว่างเพศ (the gender gap) ก็พบว่าเปอร์เซ็นต์ของคนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจจะเป็นทายาทธุรกิจหลังจากเรียนจบแล้ว 5 ปี แตกต่างกันระหว่างผู้ชาย 5.73% ต้องการที่จะเข้าไปรับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว ขณะที่ผู้หญิงมี 4.34% ทั้งนี้พบว่าช่องว่างระหว่างเพศจะมีมากน้อยขึ้นอยู่กับคณะที่พวกเขาเรียนด้วย และอาจขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย เช่น โดยทั่วไปธุรกิจครอบครัวมักกำหนดให้การสืบทอดกิจการเป็นของลูกชายคนแรกและยังขึ้นอยู่กับความเชื่อในแต่ละอาชีพด้วย

เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของนักศึกษา 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่แม่เป็นเจ้าของธุรกิจครอบครัว กลุ่มที่พ่อเป็นเจ้าของธุรกิจครอบครัว และกลุ่มที่ทั้งพ่อและแม่เป็นเจ้าของธุรกิจครอบครัว ก็พบว่านักศึกษาผู้หญิงมีความตั้งใจสืบทอดธุรกิจน้อยกว่านักศึกษาผู้ชายในทุกกลุ่ม และ ความตั้งใจสืบทอดกิจการของทั้งลูกชายและลูกสาวจะน้อยที่สุดเมื่อธุรกิจครอบครัวเป็นของแม่เพียงคนเดียว และยังพบว่าความตั้งใจสืบทอดธุรกิจมากที่สุดพบได้ในกลุ่มนักศึกษาผู้ชายที่ทั้งพ่อและแม่เป็นเจ้าของธุรกิจ (ภาพที่ 1)

3. ลำดับการเกิด (birth order)

เมื่อต้องเข้าไปอยู่ในธุรกิจครอบครัวนั้นพี่น้องเป็นปัจจัยที่สำคัญ สำหรับทายาทคนรุ่นใหม่เป็นเรื่องเกี่ยวกับว่าคุณมีพี่น้องกี่คน และมีคนที่แก่กว่ากี่คน เป็นที่น่าสนใจว่าความตั้งใจสืบทอดธุรกิจจะต่ำสุดเมื่อมีพี่น้อง 3 คนและจะเพิ่มขึ้นเมื่อมีพี่น้องมากกว่านี้เข้ามาร่วมด้วย (ภาพที่ 2) ซึ่งรูปแบบนี้ดูได้จากการพิจารณาจำนวนพี่น้องที่อายุมากกว่าจากการนับลำดับการเกิด

4. ขนาดและผลการดำเนินงานของบริษัท (Firm size and firm performance)

จากการสำรวจพบว่าคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่มักต้องการเข้าสืบทอดธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ โดยในกลุ่มที่บอกว่าจะเข้าสู่ธุรกิจครอบครัวหลังจากเรียนจบแล้ว 5 ปี สัดส่วนของทายาทที่ตั้งใจสืบทอดอยู่ที่ 5.2% ในบริษัทที่มีภาระงานของพนักงานมากกว่า 2- 5 FTEs (full-time equivalents) และอาจจะมีสัดส่วนถึง 16.3% ในบริษัทที่มีภาระงานของพนักงานมากกว่า 100 FTEs

นอกจากนี้เมื่อขอให้นักศึกษาประเมินผลการดำเนินงานของธุรกิจครอบครัวของพวกเขาในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาในเรื่องของการเติบโตของยอดขาย ส่วนแบ่งตลาด กำไร การสร้างงานและนวัตกรรม พบว่าสัดส่วนของคนที่ตั้งใจสืบทอดธุรกิจสูงที่สุดอยู่ในกลุ่มบริษัทที่มีผลการดำเนินงานสูงและสัดส่วนจะมากขึ้นตามขนาดของบริษัทด้วย อย่างไรก็ตามแม้ว่าบริษัทขนาดใหญ่จะเป็นที่น่าดึงดูดใจสำหรับคนรุ่นใหม่ แต่ทายาทที่ตั้งใจสืบทอดธุรกิจครอบครัวก็จำเป็นต้องถามตัวเองว่าพวกเขามีทักษะที่จำเป็นและแรงจูงใจในการดำเนินธุรกิจเพียงพอหรือไม่ด้วย

เมื่อเทียบกับบริษัทขนาดเล็กพบว่าทายาทที่ตั้งใจสืบทอดธุรกิจในบริษัทขนาดใหญ่จะรับรู้ถึงอำนาจการควบคุมมากกว่าและมีระดับความมั่นใจในการเป็นผู้ประกอบการของตนเองสูงกว่าและพวกเขาให้ความสำคัญกับงานที่ท้าทายและน่าตื่นเต้นมากกว่า

นอกจากนี้การมีอำนาจในการตัดสินใจและการมีอำนาจหน้าที่ทั่วไปก็มีความสำคัญกับพวกเขามากกว่าเช่นกัน (ภาพที่ 3) ซึ่งจากที่กล่าวมาในข้างต้นชี้ให้เห็นว่าทายาทที่ตั้งใจเข้าสืบทอดธุรกิจในบริษัทขนาดใหญ่มีทักษะที่จำเป็นและแรงจูงใจในการที่จะนำบริษัทให้ประสบความสำเร็จได้

ที่มา: Zellweger, T., Siege,P. and Englisch,P. 2015. Coming home or breaking free? : A closer look at the succession intentions of next-generation family business members. EY Family Business Center of Excellence. www.ey.com/familybusiness.

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,154 วันที่ 5 - 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2559