4กลุ่มสินค้าแข่งส่งออกสู้IUU ยันปีนี้ยังโตต่อเนื่อง/อ้อนไทยควรได้ใบเขียว

04 พ.ค. 2559 | 07:00 น.
เอกชนชี้ 1 ปีไอยูยูไม่กระทบอุตสาหกรรมมากเหตุมีการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่องและทำตามมาตรฐานสากล ทูน่า-ปลาป่น-อาหารสำเร็จรูป-กุ้ง ยันส่งออกปีนี้ยังโตต่อเนื่อง พร้อมโชว์เป้าหมายทั้งปี 59 ระบุปัจจัยเสี่ยงหลักยังเป็นเศรษฐกิจโลก-ค่าเงิน "พจน์"ชี้ไทยแก้ไอยูยูเต็มที่แล้ว การพิจารณารอบต่อไปควรได้ใบเขียว

นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า รัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายและถือว่าเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลได้ยืนตามหลักของกฎหมายระหว่างประเทศและเรื่องมาตรการตามสากลในเรื่องการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(ไอยูยู ฟิชชิ่ง) อยู่แล้ว ซึ่งในแง่ของอุตสาหกรรมทูน่าเอง ในช่วง1 ปีที่ผ่านมาแทบไม่มีผลกระทบอะไรเลยกับอุตสาหกรรม เพราะวัตถุดิบส่วนใหญ่กว่า 90% นำเข้ามาจากต่างประเทศที่มีการรับรองการนำเข้าจากแหล่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย

"อุตสาหกรรมทูน่าเราปรับตัวมาเป็น10 ปีแล้ว หากกองเรือต่างชาติที่จับปลาไม่ปรับตัวตามมาตรฐานสากล เราก็ไม่ซื้ออยู่แล้ว ทั้งนี้เราไม่ได้ทำเพื่อสหภาพยุโรป(อียู)ในเรื่องไอยูยูอย่างเดียว แต่ประเทศอื่นๆ ทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือประเทศต่างๆ ก็ต้องการรู้ที่มาที่ไปของสิ่งที่บริโภค ที่เราต้องอธิบายได้ ทั้งนี้คาดปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าของไทยในปี 2559 น่าจะอยู่ที่ 6 แสนตัน มูลค่าประมาณ 9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีมูลค่า 8 หมื่นล้านบาท

ด้านนายสงวนศักดิ์ อัครวรินทร์ชัย นายกสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย เปิดเผยว่า 1 ปีที่อียูให้ใบเหลืองไทยในเรื่องไอยูยูนั้น อุตสาหกรรมปลาป่นกระทบในส่วนของวัตถุดิบที่ลดลง เนื่องจากเรือประมงกว่าครึ่งหนึ่งออกจับปลาไม่ได้ แต่ถึงจะมีวัตถุดิบลดลงก็ยังมีเพียงพอเนื่องจากผลผลิตส่วนหนึ่งบริษัทรายใหญ่อย่างซีพีไม่ซื้อปลาจากโรงงานที่ไม่ได้รับการรับรองจากองค์กรปลาป่นและน้ำมันปลาสากล (IFFO) ส่งผลให้มีผลผลิตส่วนนี้เหลือ ทำให้ต้องหาตลาดส่งออกเพิ่ม เช่น ตลาดจีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน เวียดนาม ที่ไม่ได้สนใจเรื่องไอยูยู โดยตลาดหลักยังเป็นตลาดจีนที่ไทยส่งออกปลาป่น 6-7% ของการนำเข้าของจีนซึ่งถือว่ายังเป็นตลาดใหญ่ที่ไทยจะเข้าไปเจาะตลาด รองลงมาเป็นตลาด ญี่ปุ่น และเวียดนาม

"ภาพรวมปีนี้คาดไทยจะส่งออกปลาป่นได้ราว 1 แสนตัน และบวกเพิ่มจากที่ซีพีไม่ซื้ออีกประมาณ 20% โดยในช่วง 3 เดือนครึ่งที่ผ่านมา (ม.ค.-15 เม.ย.) ข้อมูลการส่งออกของกรมศุลกากร เราส่งออกปลาป่นไป 4.6 หมื่นตัน จากปี 2558 ส่งออกไป 1.6 แสนตัน ปีนี้ก็น่าจะใกล้เคียงกันหรือมากกว่าเล็กน้อย"

ขณะที่นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า 1 ปีไอยูยู ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าอาหารทะเลของไทยไปยังตลาดอียู หรือตลาดอื่น ๆ อันเนื่องมาจากอียูให้ใบเหลือง แต่มีผลกระทบหลักจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลให้ในปีที่ผ่านมาการส่งออกสินค้าอาหารสำเร็จรูปใน 6 กลุ่มสินค้าส่งออกได้มูลค่า 1.83 แสนล้านบาท ลดลง 1% จากปีก่อน ส่วนปีนี้ช่วง 3 เดือนแรกการส่งออกยังติดลบ จากเป้าหมายการส่งออกอาหารสำเร็จรูปในปีนี้ขยายตัวที่ 5%

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ และประธานคณะกรรมการธุรกิจประมง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไทยและภาคเอกชนเองได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายมาอย่างต่อเนื่องและทำเต็มที่เพื่อรักษาประโยชน์ด้านทรัพยากรทางทะเลของชาติ ซึ่งเอกชนคงตอบไม่ได้ว่าความพึงพอใจของอียูอยู่ตรงจุดไหน หากอียูจะมีข้อตำหนิติเตียนก็ควรทำหนังสือแจ้งมาเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อที่ไทยจะได้ตอบคำถามทั้งหมด หากในมุมเอกชนเห็นว่าการดำเนินการที่ผ่านมา ประเทศไทยควรได้รับใบเขียว แต่หากอียูจะให้ใบเหลืองต่อหรือให้ใบแดงจะต้องมีเหตุผลชี้แจงมาให้ไทยทราบด้วย และไม่ควรนำเรื่องการแก้ปัญหานี้ ไปเกี่ยวพันกับเรื่องการเมือง

"สำหรับการส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งในปีนี้ สินค้าทูน่าและกุ้งจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาแน่นอน โดยทูน่า คาดว่าจะส่งออกได้เป็นมูลค่า 9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ส่งออกได้ราว 8 หมื่นล้านบาท ส่วนกุ้งที่ปีนี้มีผลผลิตมากขึ้นจากปีก่อนผลิตได้ 2.3 แสนตัน เพิ่มขึ้นเป็น 3 แสนตัน ทำให้ส่งออกได้มากขึ้นคาดปีนี้จะส่งออกได้ 7 หมื่นล้านบาท จากปีก่อน 5.8 หมื่นล้านบาท"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,153 วันที่ 1 - 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559