IMF เตือนผู้ส่งออกนํ้ามันตอ.กลาง เศรษฐกิจชะลอหนัก-ขาดดุลงบฯพุ่ง

06 พ.ค. 2559 | 00:00 น.
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินว่า ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันในตะวันออกกลางสูญเสียรายได้ไปแล้วราว 3.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 14 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา (2558) เนื่องจากภาวะราคาน้ำมันโลกที่ตกต่ำลง ส่วนปีนี้ คาดว่าความสูญเสียทางรายได้ของกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมันในโลกอาหรับจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเป็นกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์ฯ ส่งผลซ้ำเติมการขาดดุลงบประมาณและฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจมาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 1.8% เท่านั้นในปีนี้

ก่อนหน้านี้ ไอเอ็มเอฟประเมินว่า ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันในตะวันออกกลางจะสูญเสียรายได้จากการส่งออกน้ำมันเพียง 3.6 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในปีที่ผ่านมา แต่หลังจากเดือนตุลาคมเป็นต้นมา ราคาน้ำมันได้ดำดิ่งลงอีกจนถึงสิ้นปี ทำให้สูญรายได้เพิ่มอีกกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ไม่เพียงเท่านั้น ต้นสัปดาห์นี้ ไอเอ็มเอฟยังได้พิจารณาทบทวนแนวโน้มเศรษฐกิจของปีนี้ และพบว่า ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันในตะวันออกกลางยังจะตกอยู่ในภาวะสูญเสียรายได้ต่อเนื่องอีก โดยความสูญเสียน่าจะอยู่ที่ระหว่าง 4.9 แสนล้านดอลลาร์ถึง 5.4 แสนล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ ในเดือนมกราคม 2559 ราคาน้ำมันดิบตกลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล นับว่าราคาต่ำไม่เห็นฝุ่นเมื่อเทียบกับราคา 115 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลในช่วงกลางปี 2557

นายมาซูด อาเหม็ด ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชียกลาง เปิดเผยว่า ตัวเลขความสูญเสียทางรายได้จากการส่งออกน้ำมันของประเทศรอบอ่าวเปอร์เซียดังกล่าวข้างต้นนั้น หมายความถึงผลพวงที่ตามมาคือ การขาดดุลงบประเมาณและการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะกรณีของประเทศอย่างซาอุดิอาระเบีย ที่ต้องพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันมาสนับสนุนงบใช้จ่ายภาครัฐฯเป็นหลัก แม้ว่าซาอุดิอาระเบียจะมีแผนการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่ แต่น้ำมันดิบก็ยังคงเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างรายได้หลักถึง 72% ให้กับประเทศ (ข้อมูลปี 2558) รัฐบาลซาอุฯ ตั้งเป้าหมายขาดดุลงบประมาณในปีนี้ไว้ที่ระดับเกือบๆ 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

รายงานของไอเอ็มเอฟชี้ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของ 6 ประเทศสมาชิกกลุ่มสมาพันธ์ความร่วมมืออ่าวเปอร์เซีย (Gulf Cooperation Council หรือ GCC) ซึ่งประกอบด้วย ซาอุดิอาระเบีย คูเวต กาตาร์ บาห์เรน โอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) จะชะลอตัวลงจาก 3.3 % ในปี 2558 มาอยู่ที่ระดับ 1.8% เท่านั้นในปีนี้ โดยถ้าแยกออกมาเป็นประเทศๆ จะพบว่า ซาอุดิอาระเบียซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ระดับเพียง 2% กว่าๆ

ไอเอ็มเอฟแนะนำว่าเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว จำเป็นต้องมีการปฏิรูปโดยรัฐต้องพยายามลดการใช้จ่ายลงมาโดยเฉพาะการให้สวัสดิการฟรีที่ประชาชนคุ้นชินมายาวนาน ต้องลดการให้เงินอุดหนุนและควบคุมเงินเดือนพนักงานภาครัฐเพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ของรัฐที่ลดลง ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ของกลุ่มจีซีซี ได้ขยับขึ้นราคาค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และน้ำมันเชื้อเพลิง ภายในประเทศกันแล้ว ส่วนประเทศนอกกลุ่มจีซีซี อาทิ แอลจีเรีย ได้ปรับขึ้นราคาน้ำมันและก๊าซซธรรมชาติในประเทศรวมทั้งค่าไฟฟ้า ขณะที่อิหร่านก็ขยับขึ้นราคาเชื้อเพลิงในประเทศเช่นกัน ผู้อำนวยการของไอเอ็มเอฟให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ราคาน้ำมันที่ดิ่งลงมา มีแนวโน้มจะขยับสูงขึ้น แต่ก็จะไม่ไปถึงระดับสูงมากเท่าที่เคยทำไว้ในปี 2556 และ 2557

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,153 วันที่ 1 - 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559